เพื่อแผ่นดินเกิด
- Details
- Written by Super User
- Category: เพื่อแผ่นดินเกิด
- Published: 30 March 2016
- Hits: 7332
สถานปฏิบัติธรรมที่เมืองนคร ที่กำลังแตกหน่อ ก่อเกิด และ เติบโต ขอเชิญช่วยกันดูและแนะนำด้วยนะครับ (ส่วนรายละเอียดแต่ละแห่ง รออ่านในหนังสือของ ททท.แล้วกันนะครับ ภาพประกอบแนบนี้ ที่พระธาตุแห่งเดียว ทั้งห้องอบรมภาวนา ห้องพัก รับประทานอาหาร ทั้งนี้ จะมีการภาวนาในพระวิหารหลวงและพระด้านด้วย ส่วนห้องน้ำเพียบพร้อมและสะอาดสะอ้านครับ) ในฐานะแห่ง "นครอันงามสง่าแห่งพระราชาผู้ทรงธรรม" นครศรีธรรมราช ที่เคยมีชื่อว่า "สิริธัมมนคร" ซึ่งอาจแปลได้ว่าดินแดนแห่งนี้ เป็น "เมืองธรรม - ถิ่นฐานบ้านเมืองของผู้คนที่มีธรรมเป็นศรีและสง่า" โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้กำหนดเป้าการส่งเสริมการท่องเที่ยวในชื่อของ "เมืองนครสองธรรม" ที่ใครก็ตาม "ต้องห้ามพลาด" และได้เชิญชวนผู้คนมาร่วมกัน "ตามรอยธรรม" กันที่ "นคร - เมืองธรรม" อย่างต่อเนื่องนั้น เพื่อสนองแด่ท่านที่สนใจศึกษาและปฏิบัติธรรมซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญหนึ่งในการ "เข้าถึงธรรม" ตามที่พระพุทธองค์ทรงชี้แนะและสั่งสอน ประกอบกับใน "เมืองธรรม" มีสถานปฏิบัติธรรมเกิดขึ้นในหลายลักษณะ จึงได้จัดทำเอกสาร "แนะนำสถานปฏิบัติธรรมที่เมืองนคร" ขึ้นสำหรับท่านที่สนใจในธรรม จะได้ใช้เป็นเครื่องช่วยในการ "เข้าถึงธรรม" ตามสมควรแก่ธรรม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นครศรีธรรมราช หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ และ บวรนคร - สุธีรัตนามูลนิธิ พุทธศักราช ๒๕๕๘ การปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา ตามหลักธรรมคำสอนพร้อมแนวปฏิบัติในพระพุทธศาสนาที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้และเมตตาชี้แนะไว้นั้น ระบุชัดว่าการฝึกฝนพัฒนาชีวิตนั้นพึงประกอบด้วยทั้งทางกาย ทางใจ ทางปัญญา ดังปรากฏในหลักการฝึกฝนอบรมบ่มเพาะพัฒนา สิกขา ๓ และ ภาวนา ๔ ว่าคือข้อที่จะต้องศึกษา และการเจริญ การทำให้เป็น ให้มีขึ้น ครอบคลุมทั้งทางกาย จิตใจ และ ปัญญา สิกขา ๓ หรือ ไตรสิกขา : ข้อที่จะต้องศึกษา ข้อปฏิบัติที่เป็นหลักสำหรับศึกษา คือ ฝึกหัดอบรม กาย วาจา จิตใจ และปัญญา ให้ยิ่งขึ้นไปจนบรรลุจุดหมายสูงสุดคือพระนิพพาน ประกอบด้วย
๑. อธิสีลสิกขา : สิกขาคือศีลอันยิ่ง ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมในทางความประพฤติอย่างสูง (training in higher morality)
๒. อธิจิตตสิกขา : สิกขาคือจิตอันยิ่ง ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมจิตเพื่อให้เกิดคุณธรรม เช่นสมาธิอย่างสูง (training in higher mentaity)
๓. อธิปัญญาสิกขา : สิกขาคือปัญญาอย่างยิ่ง ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมปัญญาเพื่อให้เกิดความรู้แจ้งอย่างสูง (training in higher wisdom) ภาวนา
๔ การเจริญ, การทำให้เป็นให้มีขึ้น, การฝึกฝนอบรม,
การพัฒนา ๑. กายภาวนา : การเจริญกาย พัฒนากาย การฝึกอบรมกาย ให้ร็จักติดต่อเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายภายนอกทางอินทรีย์ทั้งห้าด้วยดี และปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นในทางที่เป็นคุณ มิให้เกิดโทษ ให้กุศลธรรมงอกงาม ให้อกุศลธรรมเสื่อมสูญ การพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ( Kaya-bhavana : physical development)
๒. สีลภาวนา : การเจริญศีล พัฒนาความประพฤติ การฝึกอบรมศีล ให้ตั้งอยู่ในระเบียบวินัย ไม่เบียดเบียนก่อความเดือดร้อนเสียหาย อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ด้วยดี เกื้อกูลแก่กัน (Sila-bhavana : moral development)
๓. จิตตภาวนา : การเจริญจิต พัฒนาจิต การฝึกอบรมจิตใจ ให้เข้มแข็งมั่นคง เจริญงอกงามด้วยคุณธรรมทั้งหลาย เช่น มีเมตตากรุณา มีฉันทะ ขยันหมั่นเพียร อดทน มีสมาธิ และสดชื่นเบิกบาน เป็นสุขผ่องใส เป็นต้น (Citta-bhavana : cultivation of the heart; emotional development)
๔. ปัญญาภาวนา : การเจริญปัญญา พัฒนาปัญญา การฝึกอบรมปัญญา ให้รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง รู้เท่าทันเห็นแจ้งโลกและชีวิตตามสภาวะ สามารถทำจิตใจให้เป็นอิสระ ทำตนให้บริสุทธิ์จากกิเลสและปลอดพ้นจากความทุกข์ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วยปัญญา (Panna-bhavana : cultivation of wisdom; intellectual development; wisdom development) ในบาลีที่มา ท่านแสดงภาวนา
๔ นี้ ในรูปที่เป็นคุณบทของบุคคล จึงเป็น ภาวิต ๔ คือ ภาวิตกาย ภาวิตศีล ภาวิตจิต ภาวิตปัญญา (ผู้ได้เจริญกาย ศีล จิต และ ปัญญาแล้ว) บุคคลที่มีคุณสมบัติชุดนี้ครบถ้วนย่อมเป็นพระอรหันต์ (พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม - พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ. ปยุตฺโต) แม้ในมหาสติปัฏฐานที่นิยมใช้เป็นหลักของการฝึกจิตอย่างแพร่หลายก็มุ่งการรู้เห็นตามความเป็นจริง คือ ตามที่สิ่งนั้น ๆ มันเป็นของมัน ทั้ง กาย ใจและปัญญา
สติปัฏฐาน ๔ : ที่ตั้งของสติ การตั้งสติกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นตามความเป็นจริง คือ ตามที่สิ่งนั้น ๆ มันเป็นของมัน ประกอบด้วย
๑. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน : การตั้งสติกำหนดพิจารณากาย ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงกาย ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา
๒. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน : การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงเวทนา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา คือ มีสติอยู่พร้อมด้วยความร็ชัดเวทนาอันเป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี เฉย ๆ ก็ดี ทั้งที่เป็นสามิส และเป็นนิรามิส ตามที่เป็นไปอยู่ในขณะนั้น ๆ
๓. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน : การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงจิต ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา คือ มีสติอยู่พร้อมด้วยความรู้ชัดจิตของตนที่มีราคะ ไม่มีราคะ มีโทสะ ไม่มีโทสะ มีโมหะ ไม่มีโมหะ เศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว ฟุ้งซ่านหรือเป็นสมาธิ ฯลฯ ตามที่เป็นไปอยู่ในขณะนั้น ๆ
๔. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน : การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา คือ มีสติอยู่พร้อมด้วยความรู้ชัดธรรมทั้งหลาย ได้แก่ นิวรณ์ ๕ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ โพชฌงค์ ๗ อริยสัจจ์ ๔ ว่าคืออะไร เป็นอย่างไร มีในตนหรือไม่ เกิดขึ้น เจริญบริบูรณ์ และดับไปได้อย่างไร เป็นต้น ตามที่เป็นจริงของมันอย่างนั้น ๆ (พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม - พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ. ปยุตฺโต) เฉพาะการฝึกฝนอบรมและพัฒนาจิตและปัญญานั้นมีการจำแนกวิธีปฏิบัติไว้หลายอย่าง พระพุทธองค์ทรงทดลองปฏิบัติและในที่สุดทรงเลือกและแนะนำวิธี อานาปานสติ คือการใช้สติกำหนดลมหายใจเข้า-ออก แบบที่เป็นการเจริญสติปัฏฐานไปด้วยครบทั้ง ๔ มี ๑๖ ฐาน จัดเป็น ๔ หมวด คือ กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา และ ธัมมานุปัสสนา ซึ่งหากว่าโดยไตรสิกขาระหว่างปฏิบัตินั้น ความมีกายวาจาตั้งอยู่ในความสงบสำรวมโดยมีเจตนาอันปลอดจากการละเมิดหรือเบียดเบียน เป็น ศีล การมีสติกำหนดด้วยจิตที่ตั้งมั่นมีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียวตามที่กำหนด เป็น สมาธิ ความมีสัมปชัญญะรู้ทั่วพร้อม มองเห็นตามสภาวะ เป็น ปัญญา และในการปฏิบัตินี้ ศีลเป็นเพียงฐานที่รองรับอยู่ ส่วนธรรมที่ปฏิบัติซึ่งจะเจริญขึ้นไป คือสมาธิและปัญญา อันได้แก่ สมถะ และ วิปัสสนา ซึ่งในการปฏิบัติทั้ง ๔ หมวดนี้ สามหมวดแรกมีทั้ง สมถะ และ วิปัสสนา หมวดสุดท้าย ที่ ๔ เป็นวิปัสสนาล้วน อานาปานสติ ๑๖ ฐาน หรือ โสฬสวัตถุกอานาปานสติ นี้พระพุทธเจ้าตรัสแสดงบ่อย พบได้หลายแห่งในพระไตรปิฎก ที่เป็นที่รู้จักดีและเป็นที่อ้างอิงกันทั่วไปคือ อานาปานสติสูตร (ม.อุ.๑๔/๒๘๒-๒๙๑/๑๙๐-๒๐๒=MIII78-88) (พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม - พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ. ปยุตฺโต) ขณะนี้ที่ทั่วทั้งโลกกำลังให้ความสนใจในศาสตร์ทางจิตและปัญญา โดยศาสตร์ในพระพุทธศาสนาที่สืบสานมาถึงปัจจุบันได้รับการหยิบยกและยกย่องว่ามีความก้าวหน้ามาก รวมทั้งมีการปรับและปรุงออกมาเป็นหลักและแนวทางการฝึกฝนและปฏิบัติอย่างมากมายหลากหลาย และสถานปฏิบัติธรรมหลายแห่งในประเทศไทย ได้รับการยอมรับและยกย่องในระดับนำของโลก ดังที่ซีเอ็นเอ็น เคยทำการสำรวจเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๕๖ ให้หลักสูตรอานาปานสติภาวนา ที่ธรรมาศรมนานาชาติ สวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นหนึ่งใน ๑๐ หลักสูตรและสถานการศึกษาอบรมพัฒนาจิตที่ดีที่สุดของโลก (http://edition.cnn.com/…/25/travel/best-meditation-retreats/) การส่งเสริมการปฏิบัติธรรมที่จังหวัดนครศรีธรรมราช แม้ยังไม่พบหลักฐานจารึกที่เก่าแก่ถึงแต่ก่อน แต่จากศิลาจารึกสุโขทัยของพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ ๑ ในด้านที่ ๒ มีข้อความจารึกถึงสภาพการพระพุทธศาสนาในกรุงสุโขทัยว่า "คนในเมืองสุโขทัยนี้ มักทาน ทักทรงศีล มักโอยทาน ... มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน" และ "กลางเมืองสุโขทัยนี้ มีพิหาร ... มีปู่ครูนิสัยมุตก์ มีเถร มีมหาเถร เบื้องตะวันตกเมืองสุโขทัยนี้ มีอรัญญิก พ่อขุนรามคำแหงกระทำโอยทานแก่มหาเถรสังฆราชปราชญ์เรียนจบปิฎกไตร หลวกกว่าปู่ครูในเมืองนี้ทุกคน ลุกแต่เมืองศรีธรรมราชมา" อาจถือว่าที่เมืองนครศรีธรรมราชในสมัยนั้นก็ไม่ด้อยไปกว่ากัน สอดคล้องกับตำนานและพงศาวดารต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศที่ยกให้ "นครศรีธรรมราช" เป็น "ฐานแห่งพุทธรรม" ที่สำคัญของภูมิภาค มีความสัมพันธ์กับทั้ง อินเดีย ลังกา และ พม่า มาแต่โบราณกาล มีกษัตริย์ผู้เรืองนามมีสมญาว่า "พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช" เสมอเหมือน "พระเจ้าอโศกมหาราช" องค์เอกอัครศาสนูปถัมป์ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
“คนในเมืองสุโขทัยนี้ มักทาน มักทรงศีล มักโอยทาน พ่อขุนรามคำแหง เจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทั้งชาวแม่ ชาวเจ้า ท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุน ทั้งสิ้นทั้งหลาย ทั้งผู้ชายผู้ญีง ฝูงท่วยมีศรัทธาในพระพุทธศาสน ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน เมื่อออกพรรษากรานกฐิน เดือนณื่ง จึ่งแล้ว เมื่อกรานกฐิน มีพนมเบี้ย มีพนมหมาก มีพนมดอกไม้ มีหมอนนั่งหมอนโนน บริพารกฐินโอยทานแล่ปีแล้ญิบล้าน ไปสูดญัติกฐิน เถิงอไรญิกพู้น เมื่อจักเจ้ามาเวียง เรียงกันแต่อไรญิกพู้นเท้าหัวลาน ดํบงคํกลอง ด้วยเสียงพาทย์ เสียงพิณ เสียงเลื้อน เสียงขับ ใครจักมักเล่น เล่น ใครจักมักหัว หัว ใครจักมักเลื้อน เลื้อน เมืองสุโขทัยนี้ มีสี่ปากประตูหลวง เที้ยรย่อมคนเสียดกันเข้ามาดูท่านเผาเทียน ท่านเล่นไฟ เมืองสุโขทัยนี้ มีดั่งจักแตก” “กลางเมืองสุโขทัยนี้ มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏรารศ มีพระพุทธรูป พระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม มีพิหารอันใหญ่ มีพิหารอันราม มีปู่ครูนิสัยมุตก์ มีเถร มีมหาเถร เบื้องตะวันตก เมืองสุโขทัยนี้ มีอไรญิก พ่อขุนรามคำแหงกระทำโอยทานแก่มหาเถรสังฆราชปราชญ์เรียนจบปิฎกไตร หลวกกว่าปู่ครูในเมืองนี้ทุกคน ลุกแต่เมืองศรีธรรมราชมา ในกลางอรัญญิก มีพิหารอันหนึ่ง มนใหญ่ สูงงามแก่กม มีอัฏฐารศอันณื่ง ลุกยืน เบื้องตะวันโอก เมืองสุโขทัยนี้ มีพิหาร มีปู่ครู มีทะเลหลวง มีป่าหมากป่าพลู มีไร่มีนา มีถิ่น มีบ้านใหญ่บ้านเล็ก มีป่าม่วง มีป่าขาม ดูงามดังแกล้(ง …แต่)ง” (จารึกสุโขทัย หลักที่ ๑ ด้านที่ ๒ บันทัดที่ ๑ ถึงด้านที่ ๓ บันทัดที่ ๑) แม้เมื่อร่วมวงศ์ไพบูลย์ในราชอาณาจักรสยามแห่งกรุงศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช ยังดำรงสถานแห่งศูนย์กลางพระพุทธศาสนาสืบมา ดังที่เมื่อสมเด็จเจ้าพระราชมุนีสามีรามคุณูปรมาจารย์ หรือ หลวงพ่อทวด จะเข้ากรุงศรีอยุธยายังมาแวะพักเล่าเรียนอยู่ที่เมืองนคร หรือเมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์จะส่งคณะสงฆ์ นำโดยพระอุบาลีไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาที่ลังกาก็มาแวะพำนัก ณ เมืองนคร จนกระทั่งหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงอาราธนานิมนต์สมเด็จพระสังฆราชสีที่หลีกสงครามมาพำนักที่เมืองนคร กลับไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาพร้อมกับพระไตรปิฎกฉบับของเมืองนคร สืบเนื่องถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ กระทั่งถึงกึ่งพุทธกาล หลวงพ่อปัญญานันทะ แม่ทัพธรรมรูปสำคัญของสังคมไทยก็มาพำนักร่ำเรียนที่เมืองนครนี้เช่นกัน ในขณะที่เมืองนคร ก็มีพระภิกษุสงฆ์ อุบาสก อุบาสิกา ผู้ทรงศีล-ทรงธรรม ทำหน้าที่สืบสานงานพระพุทธศาสนาทั้งด้านปริยัติ ปฏิบัติ ตลอดจนการศึกษา ประเพณี วัฒนธรรมและการพัฒนาบ้านเมือง เป็นที่เคารพอยู่มากมาย เฉพาะในรูปของสถานปฏิบัติธรรมในจังหวัดนครศรีธรรมราช หลังการก่อเกิดสวนโมกขพลารามที่อำเภอไชยา สุราษฎร์ธานี ๒ ปี และ พุทธธรรมสมาคมแห่งประเทศไทย ๑ ปี เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๗ ได้มีคณะบุคคลกลุ่มหนึ่งก่อตัวเป็นพุทธธรรมสมาคมสาขาจังหวัดนครศรีธรรมราชขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อการส่งเสริมการบำเพ็ญปฏิบัติธรรมของภิกษุสามเณรด้วยการอาราธนาพระภิกษุจากสวนโมกขพลารามเป็นผู้นำพร้อมกับจัดหาสถานที่วิเวกสำหรับพระภิกษุสามเณรปฏิบัติธรรมขั้นสูง โดยใช้วัดร้างแห่งหนึ่งในเมือง คือวัดชายนา ตั้งเป็นสวนปันตาราม อีกแห่งหนึ่งคือที่วัดถ้ำเขาแดงที่อำเภอร่อนพิบูลย์ ตั้งเป็นป่าปันตวัน แล้วอาราธนานิมนต์พุทธทาสภิกขุ หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติธรรม ณ สวนโมกขพลารามของคณะธรรมทาน เป็นผู้แสดงธรรมเทศนาในการเปิดสถานวิปัสสนาธุระแห่งนั้น ๒ ครั้ง เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗ ณ โคนมะม่วงแห่งสวนปันตาราม และ ณ พระวิหารหลวง วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร โดยนอกจากการแจกแจงว่าวิปัสสนาธุระหรือการปฏิบัติธรรมคืออะไร และ ส่งเสริมได้อย่างไรแล้ว ยังแสดงถึงเหตุผลที่ต้องส่งเสริมกันแล้วในยุคนี้ มีหลักของการส่งเสริมอย่างไร ให้อานิสงส์อย่างไร โดยการส่งเสริมนั้น พุทธทาสภิกขุเสนอแนะเป็น ๓ องค์ที่ต้องเป็นไปอย่างกลมเกลียวอย่างไม้สามขาอิงกันอยู่จึงจะได้ผลถึงที่สุด ประกอบด้วย การปฏิบัติดีเอง การสอนให้ปฏิบัติดีด้วย และ การช่วยเหลือเหลือเมื่อมีผู้ปฏิบัติดี คือ มีทั้งผู้ปฏิบัติดี มีผู้สอน และมีผู้ช่วยทั้งสามพวกร่วมมือกัน ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งเสียมิได้คือหัวใจสำคัญ ทั้งนี้ด้วยหลักแห่งพระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายทฤษฎี (theory) และการกระทำ (practice) ไม่ว่าจะหลักการตัดสินการเชื่อ (กาลามสูตร) หลักติดสินธรรม (โคตมีสูตร) หลักพึ่งตนเอง หลักแห่งความชนะ และหลักเรื่องความต่างกับศาสนาอื่น หลักกรรม อนัตตา อริยสัจ โลกิยะ-โลกุตตระ ตลอดจนหลักความเข้ากันได้กับวิทยาศาสตร์ และความเป็นศาสนาสากล (หาอ่านได้ที่.........................) โดยพุทธทาสภิกขุ ได้ชี้ไว้ในครั้งนั้นที่เมืองนครว่า "เป็นที่มั่นใจว่าพุทธศาสนาได้ถูกทวีการส่งเสริมส่วนวิปัสสนาธุระก้าวหน้ายิ่งขึ้นอีกส่วนหนึ่ง ยุคแห่งพุทธศาสนากำลังมีหวังที่จะย้อนหลังไปหายุคแห่งอริยมรรคอริยผล อันเป็นความสุขภายในใจแท้จริง ... สมกับที่ได้ยึดเอาพระพุทธศาสนาเป็นของประจำชาติมานานแล้ว วิปัสสนาธุระจะดาษดื่นเช่นเดียวกับครั้งพุทธกาล"
สถานปฏิบัติธรรมที่เมืองนคร ในจำนวน ๕๕๐ กว่าวัดในจังหวัดนครศรีธรรมราชที่กระจายอยู่ทั่วจังหวัดทั้งมหานิกายแธรรมยุติกนิกาย ซึ่งมีการสืบสานพระพุทธศาสนาในมิติและระดับต่าง ๆ กัน ไม่ว่าจะเชิงศาสนพิธี ประเพณี ข้อวัตร การส่งเสริมการศึกษา ศีลธรรมจรรยา ศาสนสงเคราะห์ ตลอดจนการปฏิบัติจิตภาวนา ที่มีการประกาศเป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดแล้วมี ๔ แห่ง คือ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร และ วัดศรีทวี ในคณะธรรมยุติกนิกาย กับวัดชายนา และ วัดประดู่พัฒนาราม ในคณะมหานิกาย ทั้งหมดอยู่ในเขตตัวเมืองนครศรีธรรมราช มีลักษณะการจัดกิจกรรมปฏิบัติธรรมตามวิถีของแต่ละแห่ง ทั้งที่เป็นระบบและเป็นครั้งคราว ตามที่วัดจัดขึ้นหรือมีหมู่คณะมาขอจัดหรือขอให้จัด ตลอดจนที่เชื่อมโยงเข้าสู่เครือข่ายการปฏิบัติในระดับประเทศ สามารถเลือกเข้าร่วมปฏิบัติธรรมได้หลากหลายลักษณะตลอดทั้งปี นอกจากวัดแล้ว ในระยะไม่นานมานี้ ได้เกิดสถานปฏิบัติธรรมที่ก่อตั้งขึ้นโดยคณะบุคคล มูลนิธิ ทั้งระดับท้องถิ่นและในเครือข่ายระดับชาติขึ้นในจังหวัดนครศรีธรรมราชอย่างน่าสนใจ เฉพาะอย่างยิ่งทำเลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่พิเศษ สงบสัปปายะอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นตามป่าเขาตลอดจนชายทะเล โดยมีแนวโน้มการขยายตัวและก่อตั้งเพิ่มขึ้นในอนาคต แม้ครูบาอาจารย์ของท้องถิ่นในสมัยนี้ยังไม่เป็นที่โดดเด่นก็ตาม แต่ด้วยความทุ่มเทจริงจังอย่างต่อเนื่องของพระภิกษุและคณะบุคคลผู้เห็นคุณค่าและประโยชน์ของการส่งเสริมการปฏิบัติธรรม รายละเอียดประกอบเหล่านี้ นอกจากเพื่อการเลือกและเข้าร่วมปฏิบัติธรรมแล้ว ยังจะเป็นอีกขั้นจังหวะหนึ่งของการยกระดับพัฒนา ขยายวง และส่งเสริมการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาที่เมืองนคร และถือเป็น "ธรรม" อันเป็นหัวใจสำคัญของ "นครเมืองธรรม" หรือ "สิริธรรมนคร - นครอันมีธรรมเป็นศรีสง่า" หรือ "นครศรีธรรมราช - นครอันงามสง่าแห่งราชาผู้ทรงธรรม" ขณะนี้มีความหลากหลายไม่ว่าจะหลักสูตรครูสมาธิ ของสถาบันพลังจิตตานุภาพ (หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร) หลักสูตรของเครือข่ายยุวพุทธิกสมาคม ในพระบรมราชูปถัมป์ (อาจารย์ประเสริฐ อุทัยเฉลิม) หลักสูตรของเครือข่ายของมูลนิธิคุณแม่สิริ กรินชัย ตลอดจนหลักสูตรท่านอาจารย์โกเอ็นก้าของมูลนิธิส่งเสริมวิปัสสนากรรมฐานในพระสังฆราชูปถัมป์ ในเบื้องต้นขอเลือกสรรมาแนะนำเป็น ๓ กลุ่ม ๆ ละ ๔ แห่ง คือ วัดที่จัดเป็นระบบและหลักสูตรการฝึกฝนอบรมและปฏิบัติธรรม สถานปฏิบัติธรรมที่จัดโดยคณะบุคคล มูลนิธิ และ วัดหรือสถานปฏิบัติธรรมอื่น ๆ วัดที่จัดเป็นระบบและหลักสูตรการฝึกฝนอบรมและปฏิบัติธรรม ประกอบด้วย วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร วัดศรีทวี วัดชายนา และ วัดประดู่พัฒนาราม สถานปฏิบัติธรรมที่จัดโดยคณะบุคคล มูลนิธิอย่างเป็นระบบ ประกอบด้วย ศูนย์วิปัสสนากรรมฐานธรรมโปราโณ อำเภอลานสกา ศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนยินดีทะเล อำเภอสิชล สถานปฏิบัติธรรมพรหมสิริธรรมสถาน อำเภอพรหมคีรี และ ธุดงคสถานนครธรรม อำเภอพระพรหม วัดหรือสถานปฏิบัติธรรมอื่น ๆ อาทิเช่น วัดป่าระกำใต้ อำเภอปากพนัง วัดท้ายสำเภา อำเภอเมือง สถานปฏิบัติธรรมชื่นฤทัยในธรรม อำเภอเมือง และ สถานปฏิบัติธรรมห้วยเขาแก้ว อำเภอพรหมคีรี
ชื่อสำนัก/สถานปฏิบัติธรรม ประวัติความเป็นมาของสถานที่และการจัดกิจกรรมปฏิบัติธรรม แนวปฏิบัติ หลักสูตร / การจัดอบรม ข้อควรรู้สำหรับผู้สนใจ ที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก ที่ตั้งและการเดินทาง