เพื่อแผ่นดินเกิด
- Details
- Written by Super User
- Category: เพื่อแผ่นดินเกิด
- Published: 18 September 2016
- Hits: 1549
Phasook Forever
ผาสุข...นิรันดร์
(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด 20160918_7)
เมื่อบ่ายของวันที่ ๗ กันยายน ระหว่างที่แม่กำลังวิกฤตมาจากเย็นวันที่ ๖ ด้วยภาวะแทรกซ้อนติดเชื้อจนช็อคซ้ำ อาจารย์ผู้ใหญ่ในวงการประวัติศาสตร์โบราณคดีของไทยก็จากไปนิรันดร์ และหลังจากผมพาแม่กลับบ้านก็รีบกลับไปวัดธาตุทองเพื่อร่วมประชุมเพลิงส่งท่านอาจารย์ทันเวลา
ผมรู้จักท่านอาจารย์ผ่านสารพัดงานเขียนจากการขุดค้นและค้นคว้า โดยเฉพาะที่ว่าด้วยหัวเลี้ยวหัวต่อประวัติศาสตร์และทวารวดีของไทย จนกระทั่งมาทำสวนโมกข์กรุงเทพจึงมีโอกาสรับใช้ใกล้ชิด เนื่องจากคุณพ่อของอาจารย์นับถือท่านอาจารย์พุทธทาส และท่านอาจารย์เองก็ใส่ใจในหัวใจพระพุทธศาสนาว่าด้วยปฏิจจสมุปบาทมาก ๆ มีกิจกรรมสนทนาประจำปีที่สวนโมกข์กรุงเทพอย่างต่อเนื่องอยู่หลายปี โดยปีล่าสุดที่อาจารย์ให้ผมร่วมด้วยนั้น บังเกิดเหตุฉุกเฉินผมไม่ได้รับใช้ท่านอาจารย์ตามหมาย
เมื่อถูกขอให้ทำเรื่องอู่ทอง ก็เลยได้รบกวนท่านหลายคำรบแบบที่ว่าขออะไรได้หมด ทั้งไปบรรยาย ปาฐกถา ตลอดจนเขียนบทความให้ ตอนที่พบสิ่งของที่เขาเสกและนายดำอยากให้ไปช่วยขุดค้น ผมก็กราบเรียนอาจารย์ให้ช่วยด้วย แต่นายดำเกิดเปลี่ยนใจเสีย ส่วนข้าวของที่ผมเก็บไว้ ได้ทยอยให้อาจารย์ได้ดู ท่านก็บอกว่าดีแล้ว เก็บไว้ให้ดี อย่าให้หน่วยราชการไหน เพราะจะขอใช้ประกอบการศึกษาได้ยากยิ่ง
ตอนทำงานเรื่องรอยทางถวายสมเด็จพระเทพฯ ๖๐ พรรษาของ GistDa ที่เอามาเปลี่ยนปกแจกแขกงานแม่เมื่อวานนี้ ท่านอาจารย์เห็นต่างในบางข้อสรุป ดดยเฉพาะแผนที่ที่ท่านอาจารย์บอกว่าต้องทำแยกหลาย ๆ แผ่น ในขณะที่ทางกรมศิลปากรบอกว่าไม่น่าจะสรุปอย่างที่ผมทำ แต่ทาง GistDa และคณะกรรมการบอกว่าที่ผมทำนั้นดูง่ายเข้าใจดีกว่า จึงจะทำตามที่ผมทำออกมาโดยมีการปรับปรุงตามที่ท่านอาจารย์แนะนำ จนแม้กระทั่ง “ตรีรัตนะ” ที่ผมเอามาทำปกหนังสือแม่เมื่อวานนี้อย่างมากมายนั้น ท่านก็ยังท้วงทุกครั้งว่า คือ “นันทยาวรรตะ” หมายถึงการหมุนกลับของความรื่นเริงทางกามารมณ์ ซึ่งเรื่องนี้ ท่านอาจารย์ศรีศักรก็เห็นทำนองเดียวกัน ว่าหมายถงดอกพุด ๕ กลีบที่หมุนเวียนกัน โดยอาจารย์ศรีศักรไม่ปฏิเสธเรื่อง “ตรีรัตนะ” ที่ผมเรียนว่าอินเดียทุกวันนี้ หลายตำราสากลก็เรียกอย่างนี้ ท่านอาจารย์พุทธทาสก็ว่าอย่างนี้ แม้มิใช่คำโบราณอย่าง “นันทยาวรรตะ” แต่ก็เป็นชื่อสากลด้วยแล้ว แถมสื่อถึงกาพระพุทธศาสนาอย่างโดดเด่นยิ่ง โดยในหนังสือแจกของท่านอาจารย์ผาสุขวันนี้ ก็เอาตรา นันทิยาวรรตะ ที่ท่านอาจารย์ร่างไว้ มาวางไว้ปกหลังด้วยครับ
ยิ่งกว่านั้น ในบทความที่ลง ซึ่งท่านอาจารย์เคยให้ไว้กับผมด้วยนั้น ว่าด้วยอัษฎมงคล ซึ่งหากดูที่สายสร้อยบนปกหลังหนังสือแม่ จะพบหลายสัญญลักษณ์ นอกจาก “ตรีรัตนะ-นันทยาวรรตะ” อยู่บนนั้น มี สวัสดิกะ มัสยยุคมะ และ อังกุศะ
๑๘ กย.๕๙