รอยลูกปัด
- Details
- Written by Super User
- Category: รอยลูกปัด
- Published: 16 October 2024
- Hits: 65
อ่านนี้กันหรือยังครับ พี่น้องครับ
ReadThisKrab ...
(20241012_6 รอยลูกปัด)
ถึงวันนี้ ที่ท่าน อ.ศรีศักร มอบหมายให้ผมเขียนบทความรายงาน
ผลการศึกษาค้นคว้าสารพัดที่เกี่ยวกับลูกปัด
ลงวารสารเมืองโบราณมาแล้วปีละ ๔ เรื่อง ตอนนี้ ๑๘ เรื่องแล้ว ก็จะ ๕ ปีแล้ว
โดยฉบับล่าสุดนี้ที่เพิ่งออก ได้เรียบเรียงเรื่องนี้ไว้ เพื่อประมวลความรู้ล่าสุดนี้ไว้
โดยผมขึ้นต้นบทความไว้อย่างนี้ครับ ...
ลูกปัดที่เขาสามแก้วกับสิ่งอุทิศถวายในมหาสถูปที่กบิลพัสดุ์
: ใครสร้างทำและสัมพันธ์กันอย่างไร ?
บัญชา พงษ์พานิช และ ไพโรจน์ สิงบัน สุธีรัตนามูลนิธิ
ลูกปัดรูปดาว-ดอกไม้และนก
หลังการตีพิมพ์หนังสือรอยลูกปัดเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๑ ในปี ๒๕๕๖ ศาสตราจารย์แฮรี่ ฟอล์ค (Harry Falk) แห่งมหาวิทยาลัย Freie Universität ที่เบอร์ลิน สหพันธรัฐเยอรมัน ได้ตีพิมพ์บทความ The Ashes of the Buddha ว่าด้วยนานาหลักฐานการค้นพบที่มหาสถูปแห่งปิปราห์วะในอินเดียที่ต่อมามีการศึกษารองรับสนับสนุนว่าผอบ หีบศิลาและเครื่องบูชาทั้งหลายที่มีลูกปัดจำนวนหนึ่งด้วยนั้น เป็นเครื่องสักการะบูชาและพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า โดยมีการอ้างอิงงานรอยลูกปัด ของผู้เขียน (บัญชา พงษ์พานิช) ว่า “ ... อัญมณีรูปดาว (star-shaped jewels) ที่พบนี้หากพิจารณาจากหลักฐานที่พบที่ภาคใต้ของไทยซึ่งพบหลักฐานว่ามีหลายแหล่งลูกปัด พบแม้กระทั่งตราประทับสมัยกรีกรวมทั้งตราสัญญลักษณ์และอักษรพราหมี ... มีรายงานการพบลูกปัดจำนวนมากที่เขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร ... ถึงแม้ว่าจะไม่มีที่ไหนเป็นแหล่งผลิตเทียบได้เท่าอินเดียว่าเป็นที่ผลิตดาวดอกไม้ (star-shaped flowers) แต่การพบเป็นจำนวนมากในไทยที่เขาสามแก้วทำให้น่าเชื่อได้ว่าหลังสิ้นราชวงศ์เมารยะแล้วเทคนิคและอุตสาหกรรมการผลิตนี้อาจย้ายฐานไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ... ” พร้อมกับได้นำภาพลูกปัดรูปดอกไม้หรือดาว และรูปนกที่ตีพิมพ์ในหนังสือรอยลูกปัดมาประกอบการอภิปรายสนับสนุนข้อเสนอนี้ด้วย ดังนี้
แล้วไล่เรียงไปตามลำดับแต่ละตอนตามนี้ ...
ลูกปัดบูชาพระบรมสารีริกธาตุที่กบิลพัสดุ์
กับลูกปัดที่เขาสามแก้ว
แล้วส่งท้ายไว้ประมาณนี้ ...
สุดท้ายของบทความนี้ ในการเอกสารของ Piprahwa Project พบหลักฐานหนึ่งที่น่าสนใจ คือจดหมายลงวันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๔๑ ของพระภิกษุชินวรวงศ์ (พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ชุมสาย) ซึ่งขณะนั้นบวชอยู่ที่ศรีลังกาและกำลังเดินทางจาริกในอินเดียซึ่งกำลังมีการค้นหาและพบสังเวชนียสถาน โดยได้เดินทางไปพบเป๊ปเป้ถึงบ้านพร้อมกับพยายามโน้มน้าวให้เป๊ปเป้ถวายพระบรมสารีริกธาตุที่พบแด่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ในฐานะประมุขของรัฐเดียวในโลกที่เป็นดินแดนพุทธศาสนา ซึ่งต่อมาทางรัฐบาลอินเดียได้ถวายและอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ พระบรมบรรพตหรือภูเขาทอง ในกรุงเทพมหานครทุกวันนี้นั้น ในจดหมายฉบับดังกล่าว พระภิกษุพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ได้มีไปถึงเป๊ปเป้ว่า “ ... ทราบว่ารัฐบาลอังกฤษอนุญาตให้เป๊ปเป้เลือกของที่ซ้ำเก็บไว้ได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งก็เป็นจำนวนมาก จึงขอ สวัสดิกะ (buddhist cross) ที่ในสยามไม่รู้จักกัน กับดอกไม้ ๑ - ๒ ดอกที่แบบแตกต่างกัน รวมทั้ง ตรี (ในจดหมายเรียกว่า trident ซึ่งน่าจะคือตรีรัตนะ) ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่มีความจำเพาะในการพบนี้ แลกเปลี่ยนกับอะไรก็ได้ในสยามหรือศรีลังกาที่เป๊ปเป้เห็นว่าเหมาะสม ทั้งนี้เพื่อเป็นที่ระลึกการได้ไปเยี่ยมถึงบ้านของเป๊ปเป้ ... ” แล้วต่อมาในวันที่ ๓ กันยายน พ.ศ.๒๔๔๑ ท่านได้ส่งจดหมายอีกฉบับจากพุทธคยาถึงเป๊ปเป้ ระบุว่าได้จัดส่งอัลบั้มดวงตราไปรษณียากรสยามครบชุดพร้อมตัวอย่างที่หาได้ยากแม้ในขณะนั้น โดยไม่มีข้อความว่าได้รับอะไรจากเป๊ปเป้หรือไม่ หากได้รับและนำกลับมายังเมืองไทยและสามารถสืบหานำมาศึกษาด้วยได้ ก็อาจนับเป็นอีกหลักฐานสำคัญประกอบการสืบค้นและศึกษาค้นคว้านี้ไม่น้อย.
เหล่านี้ที่นอกจากตอบบางปริศนาของลูกปัดที่เขาสามแก้วกับสิ่งอุทิศถวายในมหาสถูปที่กบิลพัสดุ์ได้ไม่น้อย แต่ก็ยังไม่มากพอต่อการเข้าใจได้ว่าใครสร้างทำและสัมพันธ์กันอย่างไรบ้างอีก มีแต่การศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมกันต่อไปเท่านั้นจึงจะค่อย ๆ คลี่ปริศนาเหล่านี้ได้มากขึ้น
๑ กรกฎาคม ๒๕๖๗
โดยบทความนี้ ได้ขอภาพจากเล่าฮู เนาวรัตน์ สิบพลาง และ Agate Jeep
มาประกอบด้วยครับ
ใครสนใจไปตามหามาอ่านกันครับ งานหนังสือตอนนี้ก็มีแน่
หรือจะสั่งออนไลน์ ที่ สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ได้ครับ
สำหรับพี่เล่าฮู กับ จิ๊บ ขอที่อยู่ด้วยครับ จะจัดส่งไปบำเรอถึงเรือน
๑๒ ตุลา ๖๗ ๒๐๐๒ น.
บ้านบวรรัตน์ ท่าวัง เมืองนคร
https://www.facebook.com/photo/?fbid=1647414609486988&set=pcb.1647422002819582