รอยลูกปัด
- Details
- Written by Super User
- Category: รอยลูกปัด
- Published: 04 October 2017
- Hits: 2675
อีกที่สุด...เขาสามแก้ว
The Most of Khao Sam Kaeo
(bunchar.com รอยลูกปัด 20170929_5)
ยุพา บวรรัตนารักษ์Banpot PongpanichBanyong PongpanichBanchuab PongpanichTing PongpanichPairot Singbunปิยวัชน์ คงอินทร์Kittisak RungrueangwatthanachaiKarunphol Panichพุฒิพัฒน์ อุนสวัสดิ์อาภาSombat TharakPataradawn PinyopichTaweebhong WichaiditBérénice Bellina-Pryce
ใครจะคิดว่าจะออกมาเป็นอย่างนี้...ที่เขาสามแก้ว
จำได้ว่าแรก ๆ ที่เริ่มศึกษาค้นคว้าและรวบรวม
ผมไม่เข้าไปทำอะไรเลยที่เขาสามแก้ว
เพราะไกลบ้าน มีพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ น่าจะให้เป็นหน้าที่ของทางการ
เคยแม้กระทั่งชนกันกับ ดร.เบเรนิซ นี้
ไปหารือกับทางพิพิธภัณฑ์ และ ศาลากลางฯ
เพื่อให้หาหนทางพิทักษ์
แต่เมื่อไม่เห็นทำอะไร
ผมก็ทนไม่ได้ที่จะให้หลักฐานทั้งหลายหายสูญ
จึงได้เข้าไปตามหาและเก็บเอาไว้เท่าที่เก็บได้
ให้คณะนี้ทำการศึกษาประกอบเต็มที่
จนออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้
ที่น่าจะเปิดฉากประวัติศาสตร์โบราณของบ้านเรา
โดยเฉพาะเส้นทางสายไหม
แม้กระทั่งสุวรรณภูมิ ไม่มากก็น้อย
สั่งซื้อออนไลน์ตามที่เบเรนิซส่งข่าว
รวมค่าส่งจากฝรั่งเศส เล่มละ ๘๐ ยูโร คือ ๓ พันกว่า
หนา ๖๗๔ หน้า ภาษาอังกฤษทั้งเล่ม
มีแปลเฉพาะบทคัดย่อแต่ละบท
ได้รับเมื่อกลับมาจากปักกิ่ง
แล้วรีบอ่านรวดเดียวถึงตะกี้นี้
ลองแปลเฉพาะบทคัดย่อตามนี้
เพราะที่เขาแปลและพิมพ์ไว้ อ่านรู้เรื่องได้ยากมาก
ใครสนใจก็ลองค้นหาและสั่งซื้อมาอ่านกันเองนะครับ
ผมจะเอาไปผนวกรวมกับงาน "สุวรรณภูมิ"
ที่กำลังเร่งมือทำถวายพระเจ้าอยู่หัวอยู่ขอรับ.
๒๙ กย.๖๐
นี้ืที่ลองแปลไว้คร่าว ๆ ครับ
ขออนุญาตมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ ดร.เบเรนิซ
ที่ทำนี้เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์หนังสือนะครับ
มิได้มีวัตถุประสงค์ในการลอกเลียนแต่อย่างใด
เขาสามแก้ว
เมืองท่าและนครรัฐแรก...ระหว่างมหาสมุทรอินเดียและทะเลจีนใต้ เมื่อ ๒,๕๐๐ ปีที่แล้ว
สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพทิศ ฝรั่งเศส, โดย เบเรนิซ เบลลิน่า พ.ศ.๒๕๖๐
เป็นรายงานผลการขุดค้นศึกษาระหว่างปี พ.ศ.๒๕๔๘ – ๒๕๕๒ ของโครงการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยศิลปากรกับศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติ(ฝรั่งเศส) และอีกหลายองค์กรระดับชาติของทั้งไทยและฝรั่งเศส ในลักษณะงานสหวิทยาการโดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์โบราณคดี ที่มุ่มเทลงพื้นที่ขุดค้นและสำรวจตรวจสอบถึง ๕ ฤดูกาล ตลอดระยะเวลา ๕ ปี ที่ทำการขุดค้นจำนวนมากถึง ๑๓๕ หลุมทดสอบ ในพื้นที่ ๕๕ เฮคตาร์ พร้อมกับการวิเคราะห์วิจัยจนออกมาเป็นรายงานในอีก ๘ ปีต่อมา
เมืองท่าที่มีพัฒนาการกับเส้นทางสายไหมทางทะเลที่ถือว่าคือต้นเค้าของโลกาภิวัตน์ที่เขาสามแก้วนี้ เป็นหนึ่งในขั้วสำคัญ ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของคาบสมุทรไทย-มาเลย์ตั้งแต่เมื่อเอเชียอาคเนย์เข้าเชื่อมในเส้นทางสายไหมทางทะเล โดยจากผลของการศึกษาสามารถระบุได้ว่าที่นี่คือเมืองท่าแห่งแรกของทะเลจีนใต้ ที่มีความเป็นเมืองในระดับสากลมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒ – ๕ จากหลักฐานการตั้งถิ่นและร่องรอยทางอุตสาหกรรมที่พบ ซึ่งการเดินทางทางทะเลอ้อมคาบสมุทรยังไม่พัฒนา และเป็นไปได้สูงว่าใช้เส้นทางข้ามคาบสมุทรที่แถบคอคอดกระไปตามหุบเขาและลุ่มน้ำที่เชื่อมต่อระหว่างอ่าวเบงกอลกับทะเลจีนใต้ โดยที่เขาสมาแก้วซึ่งเป็นปลายทางนี้ มีความเป็นชุมชนนานาชาติที่อยู่กันตามชายฝั่งน้ำเป็นนิคมที่ปรากฏร่องรอยการค้าและวัฒนธรรมต่าง ๆ ตลอดจนยังเป็นแหล่งผลิตที่ผสานวัฒนธรรมเพื่อส่งต่อไปยังที่อื่น ๆ อันเป็นส่วนหนึ่งของสายธารวัฒนธรรมด้วย
เขาสามแก้วแสดงให้เห็นถึงความเป็นชุมชนการค้าโบราณที่ก่อนกว่าแหล่งอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นศรีวิชัย มะละกา อาเจะห์ มักกะสัน และ ซูลู ในมาเลย์ สุมาตรา สุลาเวสี และฟิลิปปินส์ มีความเป็นชุมชนนานาชาติและอุตสาหการที่ผสมผสานทั้งช่างฝีมือทางศิลปะ เทคโนโลยีวิทยาการ และ วิถีที่หลากหลายแห่งเอเชียในการผลิตผลิตภัณฑ์ป้อนสู่หลายเครือข่ายตลอดจนหลายกลุ่มชนชั้นในสังคม ซึ่งสอดคล้องกับเครือข่ายการเชื่อมโยงของชน-ชาติต่าง ๆ ในย่านทะเลจีนใต้และชายฝั่งอันแสดงถึงการผสมผสานทางวัฒนธรรมทั้งภายในและกับภายนอกของย่านทะเลจีนใต้นี้ที่ควรจะสืบมาตั้งแต่ยุคหินใหม่แล้ว เหล่านี้คือผลจากการศึกษาที่ชี้ให้เห็นถึงข้อมูลใหม่ ๆ ในแง่ของกระบวนทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ณ จุดสำคัญแรก ๆ ก่อนที่จะสถาปนาเป็นเส้นทางสายไหมทางทะเลในสมัยต่อ ๆ มา
ซึ่งจากผลวิเคราะห์ทางโบราณคดีธรณีวิทยา โบราณคดีพืชศาสตร์ สรุปว่าดินแดนด้านในแผ่นดินของเขาสามแก้วนั้นอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูก มีป่าเขา ผลผลิตจากป่า ไม้ซุง นานานก รวมทั้งน้ำจืด รวมทั้งเส้นทางที่เชื่อมต่อและที่ราบลุ่มน้ำที่แห้งเหมาะต่อการตั้งถิ่นฐาน แถมยังมีอ่าวและลากูนที่เรือเดินทะเลสามารถมาจอดพักได้ดี แม้จะมีการตกตะกอนตื้นเขิน รวมทั้งการกัดเซาะ หรือน้ำหลากท่วม รวมทั้งการเปลี่ยนทางของสายน้ำ ที่ทำให้พื้นที่นี้ถูกละทิ้งหลังจากผ่านความเจริญสูงยิ่ง ที่สำคัญคือ จากหลักฐานการศึกษาพืชโบราณ พบว่าแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้วนี้มีสถานะเป็นเมืองท่ากลางจากหลายทิศทางโดยเฉพาะเอเชียใต้และจีนตั้งแต่ยุคโลหะ กล่าวคือผู้คนที่เขาสามแก้วสมัยโบราณบริโภคข้าวเจ้าเป็นหลัก โดยมีข้าวฟ่างและพืชพันธ์จากอินเดียใต้ด้วยแล้ว โดยเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๒-๔ ก็พบมีการใช้น้ำมันยางด้วยแล้ว ส่วนการตั้งถิ่นฐานพบว่ามีขนาดใหญ่มากมาตั้งแต่ยุคโลหะที่มีการใช้ทั้งขอบเขตทางธรรมชาติและการก่อเป็นเนินดิน ในลักษณะสอดคล้องกับภูมิประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงและความหลากหลายของประชากร กล่าวคือตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลปัจจุบัน ๕ กิโลเมตร ครอบคลุม ๔ เนินเขาโดยมีลำคลองท่าตะเภาเป็นขอบด้านทิศตะวันตก กินอาณาบริเวณ ๓๕ เฮคตาร์ ภายในแนวเนินคันดินคู่ขนานที่ดูเหมือนจะมีการฝังไม้เป็นแนว และมีร่องคูขุดเลียบกันไป และน่าจะทำกัน ๒ ระยะ โดยระยะที่สองน่าจะเป็นการขยายเขตขึ้นไปทางทิศเหนือ ที่สำคัญคือไม่พบเช่นนี้ที่ไหนในช่วงเวลานั้นเลยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยกเว้นแห่งเดียวคือที่ Co Loa ในเวียดนามเหนือ โดยเฉพาะการพบแนวเนินคันดินข้ามหุบเขาที่เขาสามแก้ว โดยที่หุบที่ ๑ นั้นเป็นคันรักษาระดับน้ำอาจเพื่อการล่องเรือขึ้นมา ในขณะที่หุบที่ ๓ เพื่อกั้นน้ำไว้ทางตะวันออกไม่ให้ไหลลงมาทางตะวันออก อาจเพื่อการเกษตร
การตั้งถิ่นฐานของผู้คนที่เขาสามแก้วโบราณที่พบล้วนอยู่ในขอบแนวเนินดิน เป็นลักษณะการก่อสร้างบนเสาและบนลานตามลาดไหล่เนินเขาทั้ง ๔ รวมทั้งที่ตีนเนินและริมลำน้ำ แสดงให้เห็นเป็นขอบเขตของโครงสร้างขนาดเล็ก อาทิ ลาน พื้น บ่อ คันเตี้ย ๆ ร่องระบาย และ หลุมเสา รวมทั้งที่เป็นขนาดใหญ่ คือ ทางเดิน ร่องระบายและลานกว้าง ที่สำคัญคือพบร่องรอยหัตถกรรมเกี่ยวกับเหล็ก สำริด และ หินทั้งบนเนินเขาและที่ตีนเนิน ยกเว้นแต่การแกะเจียรนัยแก้ว หิน รวมทั้งการผลิตกำไลแก้วที่พบทางตอนล่างของเนินที่ ๑ ไล่ไปตามแนวของลำน้ำ ในขณะที่ทางฟากตะวันตกและตอนล่างของเนินที่ ๒ นั้นอาจเป็นแหล่งฝังศพ เนื่องจากพบเครื่องประดับทำด้วยหิน แก้ว ทองคำ รวมทั้งภาชนะเนื้อหนาเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากการวิเคราะห์ค่าคาร์บอนเพื่อหาอายุจาก ๓๑ ตัวอย่าง ร่วมกับจากการอ่านตราประทับและอักขระต่าง ๆ ผลค่าคาร์บอนให้อายุการอยู่อาศัยที่เขาสามแก้วระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑ – ๔ ในขณะที่จารึกตราประทับต่าง ๆ ชี้ค่าระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๔ – ๗ ซึ่งในช่วงท้ายนั้นดูเหมือนว่าจะประปรายและไม่หนาแน่นเท่าระยะต้น โดยทั้งหมดนี้แสดงว่าที่นี่ มีหลายเขตกิจกรรมในระดับการแบ่งเป็นเขตของเมือง (urban zoning) ด้วยแล้ว
สำหรับสิ่งของที่พบที่เขาสามแก้วนั้น เครื่องปั้นดินเผาท้องถิ่น (local and regional potteries) ล้วนไม่ทำด้วยแป้นหมุน มี ๔ จำพวกที่แตกต่างกันและอาจจะจำกัดในแต่ละแหล่ง ซึ่งยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก ในขณะที่เครื่องปั้นดินเผาเนื้อละเอียดจากอินเดียที่เคยจัดว่าเป็นหลักฐานสำคัญของการค้าข้ามทวีปในเอเชียนั้น ที่เขาสามแก้วมีการพบเพิ่มขึ้นอีกหลายแบบและลักษณะมากกว่าที่เคยมีการศึกษาค้นคว้าและรายงานจากอินเดียซึ่งชี้ถึงการเชื่อมโยงสัมพันธ์กันระหว่างอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งการพบเครื่องปั้นดินเผาผิวขัดมันทั้งสีดำและสีแดงที่อาจจะเป็นการรับอิทธิพลจากต่างแดนด้วยก็ได้ ในขณะที่การพบเครือปั้นดินเผาที่ใช้แป้นหมุนอีก ๓ จำพวกที่ยังไม่พบแหล่งเปรียบเทียบอ้างอิงว่าเป็นสิ่งนำเข้ามาจากอินเดียหรือผลิตขึ้นในท้องถิ่นด้วยเทคนิควิธีของอินเดีย ในขณะที่เครื่องปั้นดินเผาจากด้านทะเลจีนใต้นั้น พบเครื่องปั้นดินเผาแบบซาหวิ่นคาลาไนน์ (Sa Huynh-Kalanay pottery tradition) ซึ่งพบและมีรายงานจากเวียดนามตอนกลางและฟิลิปปินส์ตอนกลาง รวมทั้งที่อินโดนีเซีย บอร์เนียว และ คาบสมุทรไทย-มาเลย์ และถือเป็นเครื่องบ่งชี้ความสัมพันธ์รายรอบทะเลจีนใต้นั้น ที่เขาสามแก้วมีพบ ๒ จำพวก คือพวกที่ผลิตขึ้นในท้องถิ่นตามแบบจากภายนอกตามที่คนท้องถิ่นต้องการและสั่งทำ กับพวกที่น่าจะนำเข้ามาจากแหล่งอื่นในทะเลจีนใต้ ซึ่งแสดงว่าที่เขาสามแก้วนี้อยู่ในเครือข่ายความสัมพันธ์ของทะเลจีนใต้ด้วยแล้ว
ที่สำคัญมากคือการพบเศษเครื่องถ้วยสมัยราชวงศ์ฮั่นเป็นจำนวนมากถึง ๘๔ ชิ้น แบ่งเป็น ๒ จำพวก คือ ปั้นด้วยขดดินขึ้นรูปแล้วตี กับ ใช้แป้นหมุน โดยพวกขดดินขึ้นรูปนั้นยังมีการกดประทับผิวเป็นลายต่าง ๆ ส่วนพวกแป้นหมุนไม่พบการกดประทับลายแต่มีหูที่ประดับลวดลาย โดยเครื่องปั้นดินเผาแบบมีการกดประทับลายเหล่านี้จัดเป็นกลุ่มเครื่องถ้วยสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ซึ่งมี ๓ จำพวก คือ แบบจีนตอนใต้ แบบจีนตะวันออก และ แบบเวียดนามเหนือ และที่พบที่เขาสามแก้วส่วนใหญ่มาจากจีนตอนใต้ ในขณะที่อีก ๑ ใน ๔ มาจากมณฑลเจ้อเจียง และอีก ๑ ใน ๔ มาจากเวียดนามเหนือ เฉพาะที่มีหูเป็นหน้ากากเท่านั้นที่มาจากจีนตะวันออกตอนกลาง และแบบนี้ก็ไม่เคยพบในจีนตอนใต้และเวียตนามเหนืออีกด้วย โดยนับว่าเครื่องถ้วยสมัยราชวงศ์ฮั่นที่พบที่เขาสามแก้วนี้มากที่สุดที่พบนอกแผ่นดินจีนและเขตใกล้เคียง สัมพันธ์กับการพบวัสดุแบบจีนทำด้วยสำริด อายุประมารพุทธศตวรรษที่ ๕ ซึ่งสอดคล้องกับการบุกพิชิตจีนตอนใต้และเวียดนามเหนือของราชวงศ์ฮั่น
ยิ่งกว่านั้น การพบอุตสาหะหัตถกรรมเครื่องประดับที่เขาสามแก้วที่บ่งชี้ถึงสภาพทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของเมืองท่าหรือนครรัฐแห่งนี้ในฐานะขั้วหนึ่งบนเส้นทางสายไหมทะเล กล่าวคือพบถึง ๔ จำพวกทางเทคนิควิทยาการผลิต ได้แก่
๑) แบบทะเลจีนใต้จากหินซิลิเชียส ใช้หินคุณภาพดีจากอินเดีย ด้วยเทคนิควิธีชั้นสูงของอินเดีย ตามแบบนิยมในย่านทะเลจีนใต้ พบในพื้นที่ทางตอนใต้ของเขาสามแก้ว โดยมีหลักฐานการผลิตที่ตอนล่างของเนินเขาที่ ๒
๒) แบบทะเลจีนใต้จากหินหยก ใช้หินหยกและไมก้าจากทะเลจีนใต้ รวมทั้งเทคนิดวิธีและรูปแบบ พบหลักฐานการผลิตที่เนินเขาที่ ๓ และ ๔ เป็นหลัก
๓) เครื่องประดับแบบเอเชียใต้จากหินซิลิเชียส ผลิตด้วยหินจากอินเดียด้วยเทคนิควิธีชั้นสูงและรูปแบบทางศาสนาที่นิยมในเอเชียใต้ พบหลักฐานการผลิตและผลผลิตเสร็จที่เนินเขาที่ ๒ ซึ่งอาจะเป็นเขตฝังศพ และบนเสินเขาที่ ๓
๔) แบบผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอนหลัง มีพบน้อย คุณภาพด้อยและไม่มีลักษณะเด่นชัด พบแหล่งผลิตบนเนินเขาที่ ๔
ซึ่งจากผลการขุดค้น การศึกษาด้านเทคนิควิทยากร ผนวกกับข้อมูลประกอบอื่น ๆ สามารถสรุปได้ว่าอุตสาหการหัตถกรรมที่เขาสามแก้วมีการผสมผสานด้วยกันระหว่างช่างฝีมือ เทคนิควิธี และ รูปแบบจากหลายแหล่งของเอเชีย ซึ่งบ่งชี้ว่าเป็นการปรับปรุงพัฒนาเชิงช่างเพื่อสนองตลาดที่เป็นตลาดชั้นสูง (elite-attached production) ในระดับนักการเมือง พ่อค้าใหญ่ ผู้ปกครอง หรือ ชนชั้นนำ ซึ่งมีความมั่นคงและผูกพันกับชนชั้นปกครองทั้งภายในและภายนอก โดยการแข่งขันนี้ย่อมนำมาซึ่งการเผยแพร่ทั้งเทคนิควิทยาการ ความรู้และอื่น ๆ ในท่ามกลางชนชั้นนำต่างชน-ชาติในย่านชายฝั่งทะเลนี้ที่อยู่รายรอบทะเลจีนใต้
เฉพาะเครื่องประดับที่ทำด้วยหยกหรือคล้ายหยกซึ่งพบที่เขาสามแก้วทั้งที่ทำเสร็๗และแสดงให้เห็นว่ามีการผลิตที่นี้นั้น จากการศึกษาทางเคมีพบว่าทำด้วยหยกเนฟไฟรต์จากไต้หวัน และไมก้าจากฟิลิปปินส์ ส่วนหินควอทซ์นั้นยังไม่ทราบแหล่งที่มา เฉพาะไมก้านั้นถือเป็นการพบแหล่งผลิตเครื่องประดับก่อนประวัติศาสตร์จากหินไมก้าครั้งแรกในเอเชียอาตะวันออกเฉียงใต้ เหล่านี้บ่งชี้ว่าเขาสามแก้วเป็นแหล่งผลิตเครื่องประดับหินสำคัญท่ามกลางเครือข่ายระดับภูมิภาคด้วย โดยมี ๒ สมมุติฐานว่าด้วยที่มาของช่างและเทคนิควิธี ทั้งโดยช่างที่มาจากต่างถิ่น และช่างในถิ่น ทั้งนี้ อย่างน้อยในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒ – ๕ เขาสามแก้วได้เชื่อมสัมพันธ์อย่างกว้างขวางกับเครือข่ายการค้าทางทะเล กับไต้หวัน ฟิลิปปินส์ บอร์เนียว เวียดนามใต้ กัมพูชา และอื่น ๆ โดยยังต้องมีการศึกษาต่อถึงการมาถึงของวัตถุดิบ เทคนิควิทยาการ กระทั่งช่างฝีมือ
นอกจากนี้ การพบโลหะ ได้แก่ ทองคำ เหล็ก และ ทองแดงกับสำริด โดยเฉพาะทองคำที่มีหลากหลายรูปแบบที่ยังขาดข้อมูลทางเทคนิควิธีและแหล่งผลิต ในขณะที่เหล็กส่วนใหญ่ล้วนอยู่ในสภาพสึกหรอ แม้จะพอบอกได้ว่าเป็นเหล็ก bloomery iron ผลิตด้วยการตีเหล็กธรรมดาอันเป็นเทคนิคทั่วไปในแถบเอเชียใต้ ส่วนทองแดงและสำริดนั้น รูปแบบ เทคนิควิธีและวัตถุดิบสะท้อนถึงความสัมพันธ์กันอย่างกว้างขวางระหว่างจีน เวียดนาม ภาคพื้นทวีปไทยและเอเชียใต้ โดยชี้ชัดว่าใช้เทคนิคการผลิตจากเอเชียใต้ โดยเฉพาะพวกสำริดมีดีบุกในสัดส่วนสูง (high-tin bronze) ซึ่งน่าจะมีช่างจากเอเชียใต้มาตั้งฐานการผลิตที่เขาสามแก้ว ซึ่งเป็น fledgling city-state’s economy, and a dense, divisible, and desirable medium of exchange for financing in very low range commercial network และเขาสามแก้วเป็นแหล่งบรรจบพบกันในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และ ตะวันออกเฉียงใต้ ดดยมีเขาสามแก้วเป็นเมืองหลักระดับ “สากล” ของอุตสาหกรรมแห่งเอเชีย (major cosmopolitan trans-Asiatic industrial and exchange centre) ที่มีบทบาทสำคัญในการแลกเปลี่ยนและส่งผ่านเทคโนโลยีวิทยาการตอดทั้งการผสมผสานผลผลิตทางวัฒนธรรม
แก้วที่เขาสามแก้วที่พบมากถึง ๒,๕๐๐ ชิ้นนั้น ไม่เพียงลูกปัดกับกำไลเท่านั้น แต่พบเศษแก้วที่ชี้ชัดว่ามีการผลิตที่นี้ด้วย โดยส่วนใหญ่เป็นแก้วใสสีเขียว ทำด้วยเทคนิคการเจียรนัย มีอายุสมัยพุทธศตวรรษ ๒ พบแหล่งประดิษฐ์ที่ตอนใต้ของเนินเขาที่ ๒ โดยชนิดแก้วที่พบ เป็นแก้วโซดาอลูมินาจากแร่ที่น่าจะมาจากตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย กับแก้วโปแตชซึ่งมาจากจีนตอนใต้ เหล่านี้ชี้ว่า ณ ขณะนั้นที่เขาสามแก้วน่าจะมีช่างจากอินเดียมาอยู่แล้ว และผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ได้สำหรับตลาดท้องถิ่นเท่านั้น แต่มีเครือข่ายการค้าถึงแถบอ่าวเบงกอล และทะเลจีนใต้ โดยเขาสามแก้วนี้มีฐานะเป็นผู้ผลิตลูกปัดรายหลักป้อนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งชี้ว่าเทคนิคการผลิตลูกปัดที่เขาสามแก้วนี้เก่าแก่มากกว่าที่เคยคิดไว้
ที่สำคัญมากจากเขาสามแก้วคือตราประทับและหัวแหวนทำจากหินซึ่งชี้ชัดว่ามีรูปแบบและอักขระมาจากหรือไม่ก็รับอิทธิพลจากเอเชียใต้ โดยเฉพาะที่ยังทำไม่เสร็จยังบ่งชี้ด้วยว่าอาจจะผลิตที่เขาสามแก้ว เฉพาะอย่างยิ่งรูปสัญลักษณ์บนตราประทับ ไม่ว่าจะเป็น taurine สวัสดิกะ รวมทั้งเครื่องหมายมีหัวเป็นสามเหลี่ยม ซึ่งเป็นที่แพร่หลายในอินเดียในสมัยราชวงศ์โมริยะตอนปลายจนถึงสมัยศุงคะ อักขระพราหมีที่มักเป็นชื่อของเจ้าของก็เช่นกันที่มีถึงกับชื่อของพ่อค้าสตรี รวมทั้งลักษณะจารึกยังบ่งชี้ว่าอาจจะจารึกขึ้นที่นี่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๓ – ๕ โดยมีลูกหินกลมขนาดใหญ่ก้อนหนึ่ง ปรากฏอักขระ ๔ ตัว สมัยพุทธศตวรรษที่ ๕ สันนิษฐานว่าอาจเป็นหลักฐานจารึกที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พบแล้ว ส่วนหัวแหวนรูปสิงห์อย่างอินเดีย ทำจากโกเมนซึ่งผลการวิเคราะห์ว่าเป็นโกเมนจากอินเดียมีอายุประมาณพุทธศตวรษที่ ๗ - ๘ ขณะที่หัวแหวนหินที่พบเป็นรูปของเทพแห่งสงคราม หรือ มารส์ (Mars) อาจมีอายุสมัยพุทธศตวรรษที่ ๘ – ๙ เหล่านี้ล้วนเป็นหลักฐานสำคัญว่าที่เขาสามแก้วนี้มีผู้คนจากเอเชียใต้แล้ว โดยเฉพาะมีผู้หนึ่งเป็นสตรีด้วย เมื่อรวมกันเข้ากับตราประทับสำริดสมัยราชวงศ์ฮั่นที่พบด้วย โดยตราเหล่านี้อาจจะเป็นตราของพ่อค้าสำหรับประทับตราจดหมายหรือบรรจุภัณฑ์สินค้า รวมทั้งอาจเป็นเครื่องประดับด้วย ดดยเฉพาะหัวแหวนโรมัน ซึ่งชี้ชัดว่าที่เขาสามแก้วนี้มีความเป็นสากลด้วยแล้ว
บัญชา พงษ์พานิช
๒๙ กันยายน ๒๕๖๐