logo_new.jpg

พร้อมส่งการบ้าน ๒๐๐๐ ปี แล้วครับ เช้านี้
Another #2MillenniumHomework Krab
(bunchar.com รอยลูกปัด 20200408_1)

ท่าน อ.#ศรีศักร_วัลลิโภดม กำชับทุกครั้ง
ว่าให้เขียนรายงานสิ่งที่ค้นคว้าและพบให้จริงจังสมกับที่ทำมา
พี่แอน Sudara Suchaxaya ขอว่าจากนี้ไป
ให้เขียนบทความลงเมืองโบราณ ชุด "#มรดกสุวรรณภูมิ"
หารือกันกับนายโรจน์ Pairot Singbun ว่าน่าจะประมาณไหน

แล้วเริ่มลงมือบทประเดิมนี้ เมื่อ #วันอนุรักษ์มรดกไทย๒๕๖๓
พี่แอนขอก่อนวันที่ ๑๐ ก็เลยทำเสียอย่าให้ถูกทวง

เขียนทั้งหมดเสร็จเมื่อวาน อ่านทวนก่อนนอน
ตื่นมาเขียนบทสรุปนี้ ...
ลองอ่านดูครับ ยังมีเวลาปรับแก้อีก ๒ วัน
ส่วนรูปประกอบ หน้าที่ทางโน้นครับ

บทเต็มพร้อมภาพ ตามได้ใน #วารสารเมืองโบราณ ฉบับโน้น

การพบ #วงแหวนศิลา และ #แป้นศิลาโมริยะ พร้อมกับ #แผ่นทองคำดุนลายจากแป้นศิลา ที่ #เขาสามแก้วและเขมายี้ ซึ่งอยู่คนละฟากฝั่งของ #คอคอดกระ บน #คาบสมุทรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พม่า-ไทย-มาเลย์ นี้ ย่อมมีความสำคัญไม่น้อย เพราะไม่เพียงแต่เป็นหนึ่งใน #รากฐานสำคัญของศิลปะอินเดียมาแต่ครั้งก่อรูปรัฐและนครรัฐของอินเดียในสมัยราชวงศ์โมริยะที่ถือเป็นรัฐแรก ๆ ที่รวมกันได้กว้างขวางเกือบครอบคุลมทั้งชมพูทวีปหรืออนุทวีปเอเชียใต้ของอินเดียเมื่อครั้งสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๓ และอาจจะถือเป็นการกำเนิดของความเป็นอินเดียมาจนถึงวันนี้แล้ว ยัง #เป็นประจักษ์พยานของการมาถึงแล้วของการเดินทางติดต่อระหว่างกัน ที่อาจไม่เพียงแต่ระหว่างดินแดนเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น แต่ยัง #มีนัยะสำคัญถึงความเกี่ยวสัมพันธ์กับดินแดนอุตรบทในย่านการเดินทางติดต่อสำคัญของชมพูทวีปตามสายลุ่มน้ำคงคา_ยมุนาขึ้นไปจนถึงตักสิลาที่สำคัญยิ่งในยุคสมัยดังกล่าว ที่สำคัญคือบ่งบอกว่า #เป็นการมาถึงที่มิใช่ปกติธรรมดา ด้วยทั้งวงแหวนศิลาและแป้นศิลานี้มีคุณลักษณะพิเศษที่มิได้เป็นของธรรมดา หากมิใช่ของชนชั้นสูง มีบารมีความมั่งคั่ง สูงศักดิ์หรือศิลปวิทยาการ ก็พึงเป็นผู้ที่มีความเกี่ยวสัมพันธ์รับรู้ถึงความไม่ธรรมดานั้น โดยเฉพาะหากข้อสันนิษฐานของวงการโบราณคดีจน Anna Bennett ได้พิสูจน์เสนอว่านี้คืออุปกรณ์การดุนทำเครื่องทองอันประณีตโดยมีการพบประจักษ์พยานแผ่นทองดุนลายที่สอดคล้องกันด้วย ก็จะยิ่ง #สนับสนุนกับที่ปรากฏในนานาชาดกโบราณที่กล่าวถึงการเดินทางมายังสุวรรณภูมิของผู้คนจากชมพูทวีปเพื่อแสวงหาความมั่งคั่งรวมทั้งทองคำ แม้ยังไม่มีการกล่าวถึงอย่างชัดเจนว่าทั้งวงแหวนศิลาและแป้นศิลานี้ เกี่ยวสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนา แต่การที่เป็นประดิษฐกรรมอันประณีตในสมัยโมริยะและอาจสืบเนื่องในสมัยสุงคะ ซึ่งเป็นสมัยที่พระพุทธศาสนารุ่งเรือง เป็นที่นับถือแพร่หลายมากในชมพูทวีป รวมทั้งทั้งหมดที่พบแล้วในอินเดียล้วนพบตามแหล่งที่พระพุทธศาสนาเคยรุ่งเรืองแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะที่ปาฏลีบุตรและตักสิลา รวมทั้งพาราณสี โกสัมพี ไพสาลี สังกัสสะ มถุรา โดยวงแหวนศิลาพบที่เขาสามแก้วนี้มี รูปสัญญลักษณ์ที่พบแพร่หลายมากในแวดวงพระพุทธศาสนาในอินเดียโบราณที่ทุกวันนี้นิยมเรียกว่า ตรีรัตนะ และในระยะหลังเริ่มมีการศึกษาลงรายละเอียดมากขึ้นว่านี้น่าจะคือรูปสัญญลักษณ์ นันทิยาวัต อันเป็นหนึ่งในเครื่องหมายมงคลที่นิยมในพระพุทธศาสนาสมัยที่ยังไม่สร้างรูปเหมือนพระพุทธองค์ ประกอบกับข้อเสนอของ S.P.Gupta ว่า #นี้คือต้นเค้าของชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่รูปแผ่นศิลากลมและดอกบัว ที่ปรากฏทั่วไปตามเสาหินรั้วรอบมหาสถูปต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะที่ภารหุต และ พุทธคยา รวมทั้งที่สาญจีและอมราวดีด้วย และที่สำคัญและทรงความหมายมาก คือ #เป็นการพบนอกแผ่นดินอนุทวีปเอเชียใต้หรือชมพูทวีปเป็นครั้งแรก และเป็นเพียง ๑ ใน ๓๒ และ ๓๖ ชิ้น ที่พบแล้วในโลกนี้ มีสภาพสมบูรณ์ รู้แหล่งพบชัดเจน พร้อมกับแผ่นทองคำดุนลาย แม้จะไม้ได้พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีก็ตามที

ในการศึกษาค้นคว้าว่าด้วยสุวรรณภูมิในอดีตตลอด ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะในสากลหรือในประเทศไทย ล้วนมาจากการสันนิษฐานผ่านบันทึก จดหมายเหตุ ชาดก ตลอดจนการคาดการณ์ทางภูมิศาสตร์ แล้วเริ่มใช้หลักฐานทางรูปแบบศิลปะ โบราณสถานและโบราณคดี ที่กล่าวกันว่ายังไม่หนักแน่นเพียงพอจนถึงกับมีข้อเสนอว่าสุวรรณภูมินั้นเป็นเรื่องเลื่อนลอย โดยในระยะหลังมีการชี้ว่าหากจะให้หนักแน่นและสนับสนุนการมีจริงของสุวรรณภูมิแล้ว ควรพบหลักฐานทางโบราณคดีที่มีอายุเก่าแก่ถึงยุคสมัยของสุวรรณภูมิคือประมาณพุทธศตวรรษที่ ๓ – ๔ และควรที่จะมีความเกี่ยวเนื่องกับชมพูทวีปหรืออนุทวีปอินเดียในเอเชียใต้ โดยหากพบร่องรอยหลักฐานที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาด้วยจะยิ่งสนับสนุนได้มาก การพบวงแหวนศิลาและแป้นศิลาทั้ง ๒ ชิ้นนี้พร้อมแผ่นทองคำดุนลายจากแป้นศิลา ที่ชุมพร ประเทศไทย และ เขมายี้ที่เกาะสอง บนสองฝั่งของคอคอดกระ ไม่เพียงแต่เติมเต็มต่อการค้นหาสุวรรณภูมิที่เป็นที่กล่าวขานกันเมื่อกว่า ๒๐๐๐ ปี และถูกหาว่าเลื่อนลอยมาร่วม ๑๐๐ ปี แต่ยังถือเป็นมรดกสุวรรณภูมิที่สำคัญยิ่ง ส่วนวงแหวนศิลา แป้นศิลา และแผ่นทองคำดุนลายจากแป้นศิลา เป็นอุปกรณ์สำหรับประกอบกิจอันใด ทรงคุณค่าและความหมายในอดีตกาลครั้งสุวรรณภูมิอย่างไรนั้น คงต้องรอการศึกษาค้นคว้าในอนาคต มีบางบุคคลที่เป็นชาวไทยธรรมดา ๆ ถามผมว่า “ นี้ใช่วงแหวนศักดิ์สิทธิ์สำหรับหลั่งน้ำทักษิโณทกในพิธีอะไรที่สำคัญยิ่ง ณ แดนไกลของใครสักคน ได้ไหม ? ” โดยผมเองนั้น จินตนาการตามประสาคนนอกระบบว่า หากเป็นอุปกรณ์ขณะสมบูรณ์พร้อมใช้งานนั้น ควรจะบุหุ้มอยู่ด้วยแผ่นทองคำ หาได้เป็นเบ้าสำหรับดุนแผ่นทองดังที่หลายท่านสันนิษฐาน เพียงแต่ที่ผ่านมานั้น เมื่อผ่านกาลผ่านเวลา ทองที่บุหุ้มหลุดออก หรือไม่ก็ถูกลอกออกไปใช้ในการอื่นจนหมดสิ้น เหลือทิ้งให้พบเห็นเพียงวงแหวนและแป้นศิลา อย่างที่พบทั้งที่โน้นและที่นี้ เพียงแต่การพบครั้งนี้ บังเอิญพบและเก็บรักษามาให้ได้ทำการศึกษาพร้อม

บัญชา พงษ์พานิช – เรื่อง
ไพโรจน์ สิงบัน – ภาพ

เริ่มเขียน ๒ เมษายน ๒๕๖๓ / วันอนุรักษ์มรดกไทย ๒๕๖๓
เสร็จวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๖๓ / วันที่ไทยทั้งชาติสามารถชะลอโควิดระบาดได้อย่างวิเศษ
อ้างอิง :

๘ เมย.๖๓ ๐๖๑๖ น.
บ้านบวรรัตน์ ท่าวัง เมืองนคร

Joomla templates by a4joomla
rtp slot https://www.sidiap.org/rtp-live-slot//