การพระศาสนา
- Details
- Written by Super User
- Category: งานศาสนา
- Published: 16 July 2023
- Hits: 333
เพิ่งจะมีจังหวะวันนี้ นำหนังสืองานท่านเจ้าคุณอุปัชฌายะ
ถวายพระที่กรุณาร่วมเขียนถวายคำระลึกถึงร่วมด้วย
นอกจากเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ปยุตโต ที่เมตตายิ่งแล้ว
ที่นครมีเฉพาะจากวัดที่ร่วมงานวัดวิถีใหม่ในเมืองนครครับผม
มี ท่านเจ้าคุณฯ วัดพระธาตุ เจ้าคุณ วัดศรีทวี จังหวัดนครศรีธรรมราช
เจ้าคุณ Siridhammapirat Yodkhun โค้ช พระครู พรหม พระมหาบวร ปวรธมฺโม เจ้าอาวาสวัดบุญนารอบ พระครูเหมฯ โสพิทร์ แซ่ภู่ และท่าน สุธรรมรัตน์ สุจิณฺโณ
วันก่อนถวายท่านมหาบวรแล้ว
วันนี้ถวายอีก ๔ สงฆ์ ที่พระธาตุ กับท่านเจ้าคุณวัดศรีทวีครับ
เหลือที่วัดวังตะวันตกกับบูรณารามที่ท่าวัง ฝาก สุชา ชูแก้ว นำถวายด้วยครับ
ข้างในนั้น สำหรับผมเองเขียนถวายไว้ดังนี้ครับผม ...
เทพปัญญาสุธีโพธิอุปถัมป์
เมื่อครั้งตั้งใจจะขอบวชเรียนเพื่อหาหลักมาใช้กับชีวิตวัย ๒๗ หลังจบแพทย์มาทำงานที่เมืองนครได้ ๒ ปี โดยผมเลือกที่จะไปบวชอยู่ที่สวนโมกขพลาราม ไชยา สุราษฎร์ธานี โดยท่านอาจารย์พุทธทาสบอกว่าให้กลับไปบวชมาจากเมืองนคร พร้อมแนะนำว่าให้ไปกราบขอบวชกันท่านเจ้าคุณพร้อมที่วัดแจ้ง ซึ่งท่านก็เมตตารับเป็นอุปัชฌาย์ โดยหลังบวชกำกับชี้แนะแนวทางต่าง ๆ เบื้องต้นจนสมควรแล้วยังเมตตาพาไปส่งต่อท่านอาจารย์พุทธทาสจนถึงสวนโมกข์ โดยระหว่างบวชเมื่อกลับมาเมืองนคร ก็ได้พักอาศัยในกุฏิใหญ่ของท่านเจ้าคุณจนกระทั่งลาสิกขาพร้อมกับหลักชีวิตที่นับว่าเป็นการเสริมรากฐานสำคัญขอชีวิตจิตใจอย่างรู้สึกว่าไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ พบพุทธศาสนา และมีครูบาอาจารย์ช่วยชี้นำอย่างพิเศษ
พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณอุปัชฌาย์ของผมนั้น ผมนับว่าท่านเป็นปราชญ์ผู้แตกฉานในสรรพวิทยาการ ระดับที่เมื่อศึกษาบาลีที่สำนักเรียนวัดคูหาสวรรค์ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๙๐ - ๒๔๙๗ ก็สอบผ่านแต่ละชั้นแบบปีต่อปีตั้งแต่นักธรรมตรีจนตลอดถึงเปรียญธรรม ๘ ประโยค หลังจบวิชาครู พม.และ ปริญญาตรี พุทธศาสตรบัณฑิต (สาขาวิชาศาสนาและปรัชญา) ที่มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยและเป็นอาจารย์สอน ในปี ๒๕๐๗ ได้รับทุนชุดแรก ๆ ไปศึกษาระดับมหาบัณฑิตที่มหาวิทยาลัยพาราณสี สาธารณรัฐอินเดีย ในสาขาสาขาศาสนาและปรัชญา แล้วกลับมาเป็นหัวหน้าแผนกเผยแผ่ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในระหว่างปี ๒๕๑๐ - ๑๓ โดยก่อนหน้านั้น ในปี พ.ศ.๒๕๐๑ ท่านร่วมเป็นคณาจารย์ชุดแรกของประเทศไทยในการเปิดโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุฯ กรุงเทพมหานคร พร้อมกับยังเป็นประธานคณะกรรมการนิสิต มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในปี ๒๕๐๓ โดยมีหลายบทบาทหน้าที่ในวงการการศึกษาคณะสงฆ์ รวมทั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสในปี ๒๕๑๒ ที่สำคัญที่สุดคือท่านทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อการศึกษาของลูกเณรในนครศรีธรรมราชและภาคใต้ ที่เข้ามาพึ่งใบบุญอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ท่านปลีกตัวจากมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยและวัดประยุรวงศาวาสในพระนคร เพื่อกลับมาก่อตั้งและจัดการศึกษาสำหรับพระเณรในภาคใต้ ในนามของหลายสถานศึกษาหลากระดับและรูปแบบในเมืองนคร โดยมีฐานสำคัญอยู่ที่วัดแจ้ง อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๓ ด้วยการก่อตั้งวิทยาลัยสงฆ์ภาคทักษิณ โรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ศูนย์วัฒนธรรมเคลื่อนที่ภาคใต้ จนกระทั่งเป็นวิทยาเขตหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยในทุกวันนี้ที่ท่านทำหน้าที่รองอธิการบดีมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๘ พร้อม ๆ กับมีหน้าที่ในคณะสงฆ์ในระดับรองเจ้าคณะจังหวัด รองและเจ้าคณะภาค ๑๖ อยู่ระยะหนึ่ง ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.๒๕๑๔ กระทั่งทำหน้าที่เจ้าคณะภาค ๑๖ ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๓๒ - ๒๕๓๖ รับสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ “พระศรีธีรพงศ์” (๒๕๑๕) ที่ “พระราชวิสุทธิมุนี” (๒๕๒๔) และ “พระเทพปัญญาสุธี” (๒๕๓๓)
นอกจากการครองวัดแจ้งซึ่งเป็นวัดสำคัญและสงบงามยิ่งวัดหนึ่งของเมืองนคร ซึ่งมีตึกกษัตริย์ หรือเก๋งจีนประดิษฐานอัฐิของเจ้าพระยานคร (หนู) และหม่อมทองเหนี่ยวแห่งสายสกุล ณ นคร อย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นหนึ่งในศูนย์การศึกษาของสงฆ์ในนครศรีธรรมราชและภาคใต้ กระทั่งได้รับการยกขึ้นเป็นพระอารามหลวง งานสำคัญที่สร้างคุณูปการอย่างมากของท่านเจ้าคุณฯ คือการทุ่มเทแทบทั้งชีวิตอยู่กับการสร้างศาสนทายาทรุ่นแล้วรุ่นเล่าอย่างไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ขอแต่เพียงตั้งใจเรียนและอยู่ในกรอบของการเป็นเณรรวมทั้งพระ ซึ่งไม่ได้ง่ายเลย โดยเฉพาะเมื่อมาอยู่ร่วมกันเป็นร้อย ๆ ภายใต้ร่มโพธิ์ของท่านในแทบทุกประการอย่างต่อเนื่องมากว่า ๕๐ ปี จนอาจจะกล่าวได้ว่าพระ เณร ตลอดจนหลายผู้คนในวงการศาสนศึกษาและศาสนกิจในเมืองนครนั้นมีสัดส่วนมากที่ผ่านร่มโพธิอุปถัมป์จากท่าน รวมทั้งผมด้วย
เมื่อครั้งบวชศึกษาทั้งที่วัดแจ้งและที่สวนโมกขพลารามของผมเมื่อปี ๒๕๒๗ - ๒๘ กระทั่งก่อนสึก ผมได้ปวารณาว่าจะถวายงานการพระศาสนาทั้งโดยทั่วไปและในจังหวัดนครเพื่อถวายคุณแด่พระพุทธองค์ที่ทรงตรัสรู้และแด่ครูบาอาจารย์ที่สืบสานและเกื้อกูลจนถึงผม หลังจากได้พยายามจัดทำหลายกิจกรรมในนครจนต่อมาได้รับมอบหมายจากสวนโมกขพลารามให้ดำเนินการก่อตั้งเป็นหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ที่กรุงเทพมหานคร ได้เคยกราบเรียนท่านเจ้าคุณฯ เป็นครั้งคราว โดยในระยะนี้ที่กำลังเริ่มหลายกิจกรรมกับวัดและพระในเมืองนครก็อาจนับเนื่องเป็นอีกการสืบสานคุณูปการที่ท่านเจ้าคุณฯ ได้ริเริ่มและทำไว้ในเมืองนครและพวกเรากำลังสานต่อให้สมกับที่ท่านเจ้าคุณมักย้ำเสมอว่า “ ต้องช่วยกันทำให้เมืองนครเราสมชื่อว่าเป็นเมืองพระ ” ภายใต้กรอบความคิดเรื่องงานวัดวิถีใหม่ในเมืองนคร ที่ขยับขยายจากการเริ่มกิจกรรมวัดบันดาลใจในเมืองนคร ที่เริ่มดำเนินการร่วมกับ วัดศรีทวี วัดพระมหาธาตุวรวิหาร และ วัดวังตะวันตก และกำลังเริ่มพิจารณาขยับขยายใน วัดจันทาราม วัดบูรณาราม และ วัดบุญนารอบ รวมทั้งกับ มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมป์ กับพระครูสิริธรรมาภิรัตน์ รวมทั้ง ศูนย์รับบิณฑบาตคืนหนังสือบุดสมุดข่อย ของคณะสงฆ์จังหวัดนครศรีธรรมราชกับพระครูเหมเจติยาภิบาล
หนังสือคู่มือมนุษย์ ของพุทธทาสภิกขุ ฉบับย่อโดย ภิกขุ ฉ.ชุติวัณโณ ที่ร่วมกันจัดพิมพ์เป็นธรรมบรรณาการในการพระราชทานเพลิงพระเดชพระคุณพระเทพปัญญาสุธี (พร้อม โกวิโท) นี้ เป็นหนึ่งในหัวใจพระพุทธศาสนาที่ผมได้เล่าเรียนและนำมาใช้ในชีวิตถึงทุกวันนี้ ก็ด้วยเมตตากรุณาของท่านเจ้าคุณเมื่อครั้งเป็นอุปัชฌาย์ในการบวชเรียนของผม โดยหวังว่านอกจากเป็นการร่วมถวายสักการะต่อพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณในอีกวาระสำคัญแห่งชีวิต หากมีส่วนช่วยท่านทั้งหลายได้เรียนรู้และเข้าถึงคุณค่าสูงสุดในพระพุทธศาสนาสมกับเกิดมาเป็นมนุษย์ ย่อมเป็นการสนองเจตนาของพระเดชพระคุณพระเทพปัญญาสุธีด้วยเช่นกัน
นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช
หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ และ บวรนคร สุธีรัตนามูลนิธิ
๑๑ กรกฎา ๖๖ ๑๖๓๕ น.
บ้านบวรรัตน์ ท่าวัง เมืองนคร