การพระศาสนา
- Details
- Written by Super User
- Category: งานศาสนา
- Published: 22 April 2024
- Hits: 238
ที่สำคัญมากคือ ...
ThisVeryImportant ...
(bunchar.com การพระศาสนา 20240417_5)
ที่วงเสวนาหน้าพระธาตุเมื่อคืนนี้
ที่พี่ เฉลิม จิตรามาศ ไพฑูรย์ อินทศิลา และ เอก ลิกอร์ ให้ผมไปร่วมด้วยนั้น
พอดีพ่อ Chedha Keawsakun ไปด้วย ผมก็เลยเชิญขึ้นวง
แล้วขอให้นายหัว สุชา ชูแก้ว นำส่งผอบจำลองที่น้องเขาทำไว้มาร่วมเสนอ
เนื่องจากคุยกันมากว่าพระบรมสารีริกธาตุที่พระธาตุนครนั้นประดิษฐานอยู่ตรงไหน
พอดีเพิ่งเขียนบทความนี้ให้ #วารสารเมืองโบราณ อยู่พอดี
ก็เลยนำเสนอว่าอย่างน้อยเราก็มีหลักฐานการมาถึงของพระธาตุที่ไม่ไกลจากเมืองนครนี้ครับ
ลองอ่านนี้แล้วตามอ่านในวารสารเมืองโบราณฉบับที่จะออกกันครับ
" ... สำคัญมากคือการพบเศษชิ้นส่วนศิลา ๕ ชิ้นที่มีลักษณะพิเศษ กล่าวคือ ชุดแรกเป็นชิ้นส่วนศิลาเนื้อลายสีน้ำตาลอมเทา ๔ ชิ้น เมื่อนำมาต่อกันเข้ามีลักษณะเป็นซีกล่างของผอบศิลากลมโตขนาดส้มโอขนาดเล็ก พร้อมแป้นฐานสำหรับตั้งวาง โดยทั้ง ๔ ชิ้นนี้ ได้มาคนละคราวจากคนละคน ที่สำคัญคือบางชิ้นนั้น ผมพบด้วยตนเองเมื่อครั้งเดินทางไปยังพื้นที่มะลิวัลย์และขอเข้าเยี่ยมชมคลังของ “นายกู้แห่งขเมายี้” ที่บ้าน แล้วพบถูกโยนทิ้งอยู่ที่โคนมะม่วงข้างบ้าน พร้อมกับคำตอบว่า “ ... เป็นเศษหินที่เอามาจากเขมายี้ ไม่รู้ว่าอะไรก็เลยโยนทิ้งไว้ข้างเรือน ... ” ซึ่งเมื่อผมขอรับและนำกลับมาเข้าคลังของสุธีรัตนามูลนิธิ ก็พบว่าต่อกันเข้ากับชิ้นอื่น ๆ ที่ได้มารักษาไว้ก่อนได้พอดีดังภาพ แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือยังมีการพบฝาผอบศิลาหินสีเทาอีกชิ้นหนึ่ง แม้มีขนาดเล็กกว่า แต่รูปลักษณะเป็นฝายอดที่มีการแกะคล้ายมีสถูปอยู่บนยอด เมื่อนำมาประกอบกันเข้า มีลักษณะเหมือนกับผอบศิลาพระบรมสารีริกธาตุที่พบที่ปริปราหวะ หรือกรุงกบิลพัสดุ์ แทบทุกประการ เช่นเดียวกันกับชิ้นส่วนทั้ง ๔ ที่นำมาต่อกันได้ก็มีลักษณะเหมือนกับผอบศิลาพระบรมสารีริกธาตุที่พบที่ปริประหวะ โดยเฉพาะเนื้อและสีของหินทั้ง ๔ ชิ้นนั้นก็เป็นหินที่มีลักษณะเนื้อแบบเดียวกันด้วย ... "
" ... เฉพาะ #ผอบ ที่พบที่เมือง #ปริปราหวะ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๐ ใบหนึ่งมีจารึกระบุไว้ด้วยอักษรพราหมีที่มีการอ่านและแปลไว้ว่า
‘ i(ya) sal(i)lanidhane Budhasa Bhagavata(sa) Sakiyana sukita bhatinam sabhaginikana Saputadalana ’
‘ อิย สาลีลนิธาเน พุทธส ภควต(ส) สากิยาน สุกิต ภตินมฺ สภคินิกน สปุตทลน ’ แปลได้ว่า
‘ ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุพระพุทธเจ้า ของศากยะสุกิติและพี่น้องพร้อมด้วยบุตรและพระชายา ’
ซึ่งอาจารย์อุเทน วงศ์สถิตย์ Tain Gree แห่งภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กรุณาอ่านและแปลให้ใหม่ว่า
‘ นี้ (อิยํ) ที่เก็บสรีระ (สลิลนิธเน) ของพระพุทธเจ้า (พุธส) ผู้มีพระภาคเจ้า (ภควต) ของเจ้าศากยะทั้งหลาย (สกิยนํ) ผู้เป็นพี่น้องที่มีชื่อเสียงดีงาม (สุกิติภตินํ) พร้อมทั้งพี่น้องหญิงทั้งหลาย (สภคินิกนํ) พร้อมทั้งบุตรและภรรยาทั้งหลาย (สปุตทลนํ) ’
๑๗ เมษา ๖๗ ๑๙๕๕ น.
บ้านบวรรัตน์ท่าวังเมืองนคร