การพระศาสนา
- Details
- Written by Super User
- Category: งานศาสนา
- Published: 21 November 2024
- Hits: 1
คือที่สุดแห่งพุทไธสวรรย์
TheSuperbInTHisTemple
(20241120_7 การพระศาสนา)
ระดับวัดแรก ๆ ของอยุธยา ที่น่าจะสืบมาแต่สมัยอโยธยา
ผมเชื่อว่าต้องมีอะไรที่ดีระดับวิเศษสุด
หลังเข้าไปเดินจนรอบ ที่ไม่รู้สึกว่าจะเจออะไร
นอกจากด้านหลังลึกเข้าไปที่เป็นลานเจดีย์ริมเจ้าพระยา
ครั้นเหลียวมองแผนผังละครพรหมลิขิต บอกว่ามาจิตรกรรมฝาผนังด้วย
อยู่ในตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ จึงขึ้นบันไดไปดู
บอกตรง ๆ ว่าทางเข้าเป็นซอกอย่างน่าเสียดาย แถมบันไดก็ดูไม่ชวนใครขึ้น
ขณะที่ภาพจิตรกรรมข้างในนั้น แม้จะลางเลือนและหลุดหายไปหลายแล้ว
แต่ที่เหลืออยู่ก็วิเศษสุด ๆ เลยครับพี่น้องครับ
ส่วนมาเรื่องอะไรบ้างนั้น ลองค้นดูท่านบอกว่าอย่างนี้ครับ ...
ตัวอย่างจิตรกรรมฝาผนังแห่งสำคัญ คือ จิตรกรรมที่ตำหนักพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธศวรรย์ พระนครศรีอยุธยา ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบอายุสมัยที่แน่ชัด จิตรกรรมตอนนี้ถูกวาดอยู่ผนังด้านหนึ่ง โดยภาพที่หลงเหลืออยู่เป็นภาพพระพุทธโฆษาจารย์อยู่ในเรือสำเภา โดยมีเรือของพระพุทธทัตตะอยู่ข้างๆ ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องการพบกันกลางทะเลของทั้งสองท่าน อีกภาพหนึ่งคือภาพตอนพระพุทธโฆษาจารย์ขังบิดาไว้ในกุฏิ 2 ชั้น เพื่อเทศนาโปรดให้หันมานับถือพุทธศาสนา โดยมีภาพพระพุทธโฆษาจารย์ถือตาลปัตรกำลังแสดงธรรมโปรดบิดา ซึ่งในภาพแต่งกายคล้ายพราหมณ์ สำหรับภาพตอนนี้ ปัจจุบันพบหลงเหลืออยู่ที่นี่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น ทั้งนี้ภาพกุฏิ 2 ชั้นนี้ ผู้วิจัยเสนอว่ามีรูปร่างคล้ายกับรูปทรงของตำหนักพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งจิตรกรรมแห่งนี้
จิตรกรรมเรื่องนี้ ปรากฏแพร่หลายในรัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่ 3-4 เช่นที่ วัดดาวดึงษาราม วัดมหาพฤฒาราม กรุงเทพ วัดมหาสมณาราม เพชรบุรี
ลองดูสิครับ ถึงขั้นจับพ่อขังแสดงธรรมเพื่อให้รับพระพุทธศาสนาเลยครับ
ท่านบอกว่าจิตรกรรมนี้น่าจะวาดสมัยพระเพทราชา
และครั้งทูตลังกามาในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ ก็มาที่นี่ มีพรรณนาไว้ด้วย
อีกคำอธิบายหนึ่งบอกไว้อย่างนี้ครับ ...
ส่วนงานศิลป์หาชมยากที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “อันซีนอยุธยา” อยู่ภายในพระตําหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (พระเถระชั้นผู้ใหญ่ สมัยกรุงศรีอยุธยา) ผนังของตําหนักแห่งนี้ มีจิตรกรรมล้ำค่าจากสมัยอยุธยาตอนปลาย คาดว่าตรงกับสมัยสมเด็จพระเพทราชา ราวปี พ.ศ. 2231-2245 ซึ่งนับว่าหลงเหลือให้เห็นชัดเจนที่สุดแล้ว
จิตรกรรมมีความหลากหลายน่าตื่นตื่นใจ เช่น ไตรภูมิ ทศชาติชาดก พุทธประวัติตอนมารผจญ สระอโนดาด (ปากช้าง ม้า สิงห์ โค) สัตว์หิมพานต์ บานประตูเป็นภาพสตรีชาวมอญ พระพุทธโฆษาจารย์บนเรือสำเภาล่องไปลังกา ภาพฝรั่งสวมหมวกแต่งกายในสมัยอยุธยา ภาพพญามารยักษ์ถือปืนใหญ่ที่หาชมได้ยากมาก ภาพวสวัตตีมาร (มารชั้นสูงสุด) เป็นต้น
งานศิลป์ทั้งหมดนับว่าทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ศิลปะมาก มีศิลปินแห่งชาติ ครูอาจารย์ด้านศิลปะ เดินทางไปคัดลอกลายเอาไว้เพื่อเก็บเป็นหลักฐานมิให้สูญหาย
๒๐ พฤศจิกา ๖๗ ๑๗๒๗ น.
บ้านบวรรัตน์ ท่าวัง เมืองนคร
https://www.facebook.com/photo/?fbid=1675001150061667&set=pcb.1675008186727630