การพระศาสนา
- Details
- Written by Super User
- Category: งานศาสนา
- Published: 31 May 2017
- Hits: 2070
ถวายของขวัญ วันครบ ๑๑๑ ปี ท่านอาจารย์พุทธทาส
Present the Present to Buddhadasa, Presently, Today
(bunchar.com การพระศาสนา/บัญชาชีวิต 20170527_1)
ตลอดวันที่ ๒๔ - ๒๕ ที่พวกเราชวนกันแสวงหาหนทางสมาน "พุทธธรรมกับสังคม" กันอย่างยิ่ง กระทั่งเย็นวันที่ ๒๕ ก็ลงมาไชยาแล้วตลอดวานนี้ที่ผมไม่ได้รายงานอะไรเพราะทำอะไรไม่ได้หยุดจนไม่รู้ว่าจะรายงานอะไรได้ ครั้นเช้านี้หลังทำวัตรเช้าก็ถูกตามเข้าร่วมหารือกับท่านอาจารย์โพธิ์ คณะสงฆ์แห่งสวนโมกข์ ร่วมกับคณะอุบาสกและสีกาแห่งสวนโมกข์ จนได้กรอบการขับเคลื่อนขบวนธรรมนี้ออกมา แล้วตะกี้นี้ ก่อนฟังธรรมกัณฑ์บ่าย ท่านอาจารย์โพธิ์กับคุณนิคม ก็ตามตัวให้ไปร่วมบอกกล่าวแก่สหธรรมิกแห่งสวนโมกข์ ดังนี้ครับ
กรอบการขับเคลื่อนขบวนธรรม...ของ
สวนโมกขพลาราม และ คณะธรรมทาน
ตามที่คณะธรรมทาน ได้แก่คณะผู้สนใจในธรรมที่อำเภอไชยาได้ร่วมกันก่อตั้งเป็นคณะธรรมทาน ในปี พ.ศ.๒๔๗๒ มีพุทธทาสภิกขุและนายธรรมทาส พานิชเป็นหลักในการขับเคลื่อนงานธรรมเป็นลำดับมา กระทั่งก่อตั้งเป็นสวนโมกขพลารามในปี พ.ศ.๒๔๗๕ ต่อจากนั้นจึงจัดตั้ง ธรรมทานมูลนิธิ ในปี พ.ศ.๒๔๙๖ ก่อนที่จะจัดตั้งวัดธารน้ำไหลขึ้นในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๑๕ โดยมีลักษณะของการประสานการขับเคลื่อนงานตามที่ท่านอาจารย์พุทธทาสเขียนระบุไว้ว่า “จัดแบบสวน ถูกกว่าแบบวัด” ส่วน “วัดธารน้ำไหล...เกี่ยวกับระเบียบสงฆ์...ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย...” และ “ในกาลอนาคต ถ้าเปลี่ยนเจ้าอาวาส และเกิดขัดกัน ถ้ามีกฎอะไรออกใหม่โดยคนใหม่ ถ้าเราตายลง วัดธารน้ำไหลจะผูกพันกับมูลนิธิแทนสวนโมกข์ อาจจะมีเรื่อง” ให้ “สวนโมกข์ อยู่โดยคณะธรรมทาน”
ภายใต้การดำเนินการที่ผ่านมาใน ๒ สมัย โดยพุทธทาสภิกขุและธรรมทาส พานิช กับพระอาจารย์โพธิ์ จันทสโรและคุณเมตตา พานิชที่ดำเนินตามหลักการดังกล่าว ถึงขณะนี้จึงเห็นควรที่จะนำกรอบการขับเคลื่อนนี้มาใช้เป็นแนวต่อไป โดยมีหลักการ ๓ ประการ
หนึ่ง) ให้ถือเอาพระธรรม-วินัยเป็นที่ตั้ง
สอง) น้อมนำแนวทางและแบบอย่างที่ท่านอาจารย์พุทธทาส คุณธรรมทาส ท่านอาจารย์โพธิ์ และครูบาอาจารย์ ตลอดจนสหธรรมิกสืบสานทำมาแต่ก่อน
สาม) รับเอาตัวบทกฎหมายและระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ เป็นส่วนประกอบอย่างสอดคล้องเหมาะสม
ดังนี้
๑) ระบบงานนี้มีสถานะเชิงนามธรรม ว่า “สวนโมกขพลาราม” เป็นแบบ “สวน” ภายใต้การขับเคลื่อนของภาคีเครือข่ายในชื่อว่า “คณะธรรมทาน” โดยมี “วัดธารน้ำไหล” กับ “ธรรมทานมูลนิธิ” เป็น ๒ องค์กรนิติบุคคลหลักภายใต้ร่มแห่ง “สวนโมกข์ฯ” และ “คณะธรรมทาน”
๒) “วัดธารน้ำไหล” มีสถานะเป็นวัด ตาม พรบ.คณะสงฆ์ อยู่ภายใต้เจ้าอาวาส มีไวยาวัจกรและคณะกรรมการ พร้อมระเบียบแบบแผนข้อปฏิบัติต่าง ๆ ในขณะที่ “ธรรมทานมูลนิธิ” มีสถานะเป็นองค์กรนิติบุคคล อยู่ภายใต้คณะกรรมการตามกฎหมายระเบียบแบบแผน
๓) ขณะนี้ มีอีก ๒ หน่วยที่เกิดเพิ่มขึ้น คือ “มูลนิธิพุทธทาส” และ “มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ” โดยยังมีกิจการของ “สวนโมกข์นานาชาติ” ที่เริ่มในช่วงปลายชีวิตของท่านอาจารย์พุทธทาส ภายใต้การขับเคลื่อนร่วมกันระหว่างธรรมทานมูลนิธิและวัดธารน้ำไหล ในนามของคณะธรรมทานและสวนโมกขพลาราม มีลักษณะเป็น “ธรรมาศรมนานาชาติ ธรรมาศรมธรรมมาตา และ ธรรมาศรมธรรมทูต”
๔) จึงเห็นสมควรฟื้นฟูและจัดตั้งคณะบุคคลเป็น “คณะธรรมทาน” เพื่อประสานสนับสนุนส่งเสริมดำเนินการกิจการงานธรรมทั้งหลายของ “สวนโมกขพลาราม” ประกอบด้วย คณะสงฆ์แห่งวัดธารน้ำไหลและผู้แทนจากทั้ง ๓ มูลนิธิตามที่พิจารณาเห็นสมควร และให้มีการนมัสการหรือเชิญพระภิกษุสงฆ์หรือบุคคลอื่นเป็นที่ปรึกษาของคณะธรรมทานด้วยได้ โดยในเบื้องต้น อาราธนานิมนต์พระอาจารย์โพธิ์ จันทสโรเป็นประธานคณะธรรมทาน ร่วมกับบุคคลในอำเภอไชยาและจังหวัดสุราษฎร์ธานี
๕) ให้คณะธรรมทานจัดให้มีการประชุมปรึกษาหารือเนือง ๆ ในการสนองงาน สนับสนุนและรับใช้งานแก่คณะสงฆ์ โดยเฉพาะงานของสวนโมกขพลาราม สวนโมกข์นานาชาติ และวัดธารน้ำไหลที่มีขอบข่ายรายละเอียดกว้างขวาง รวมทั้งประสานส่งเสริมไปด้วยกันกับงานของ ธรรมทานมูลนิธิ มูลนิธิพุทธทาส และ มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
ลานหินโค้ง สวนโมกขพลาราม
ก่อนฟังธรรมกัณฑ์บ่าย เวลา ๑๕.๐๐ น.
วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๐
เนื่องในวาระ ๑๑๑ ปี พุทธทาสภิกขุ