logo_new.jpg

พระธาตุเรานั้นเหนือกว่ามรดกใด ๆ ... ยิ่งกว่าเกณฑ์ทั้ง ๑๐ ข้อเป็นไหน ๆ สำหรับชาวนครนั้น

องค์พระบรมธาตุเจดีย์เป็นสุดยอดมรดกล้ำค่าอย่างไม่มีข้อข้องใจ สุดยอดกว่ามรดกไหน ๆ ในโลกในหลายสถานะ มากเสียกว่าเกณฑ์บ่งชี้เพื่อพิจารณาทั้ง ๑๐ ข้อเป็นไหน ๆ มากเสียจนหลายคนไม่ได้สนใจในเรื่องการได้มาซึ่งการรับรองของยูเนสโกสักเท่าใด เพราะถ้าเรายิ่งต้องพยายามให้เขารับรองเท่าใด ก็คล้ายกับว่าเราเองต่างหากที่ยังไม่ได้เห็นซึ่งคุณค่าอย่างแท้จริง แล้วถ้าเกิดเขาไม่รับรองอย่างที่เราคิดและเข้าใจขึ้นมา จะว่าอย่างไร ? เมื่อครั้งมีการจะเสนอชื่อท่านอาจารย์พุทธทาสที่สวนโมกข์เข้าบัญชีบุคคลสำคัญของโลกนั้น เราก็พิจารณาเช่นกันว่าควรหรือไม่ และด้วยท่าทีอย่างไร ปลงใจกันว่าถ้าได้รับการยอมรับก็จะเป็นการดีของมวลมนุษย์และพระพุทธศาสนาในฐานะประโยชน์ในทางธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ และควรให้เป็นเรื่องการนำเสนอโดยบุคคลอื่น ๆ ที่มิใช่สวนโมกข์หรือผู้ใกล้ชิดที่เราคิดและเชื่อมั่นด้วยความผูกพันมั่นใจอยู่แล้ว ลงท้ายมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีปจึงตัดสินใจนำเสนออย่างเงียบ ๆ โดยมิได้ประกาศกดดันหรือเคลื่อนไหวอะไรกระทั่งมีคำประกาศออกมา ต่อมา เมื่อองค์คณะคัดสรรสิ่งเสนอเป็นมรดกความทรงจำโลกของไทยได้พิจารณาจะเสนองานจดหมายเหตุของท่านอาจารย์พุทธทาสเข้าขึ้นบัญชีเป็นมรดกความทรงจำโลก ต่อจากศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหง โดยแจ้งให้มูลนิธิหอจดหมายเหตุเป็นผู้ทำเรื่องราวและนำเสนอ ที่ประชุมมูลนิธิได้พิจารณาแล้วเห็นว่าในวิถีแห่งชาวพุทธที่งาม หาใช่หน้าที่ของมูลนิธิในการเสนอตัวเช่นนี้ หากผู้ใดเห็นคุณค่าพึงเป็นผู้เสนอและพิจารณารวมทั้งรับผิดชอบกันเอง มูลนิธินั้นเห็นคุณค่าอย่างแม่นมั่นชัดเจนอยู่อย่างไม่สั่นคลอนแน่นอนแล้ว จากข้อบ่งชี้ที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณา “มรดกโลก ๑๐ ประการ ของยูเนสโก” ที่ระบุว่าจะต้องเป็นที่เด่นชัดเชิงคุณค่าในระดับสากลอย่างน้อย ๑ ใน ๑๐ ข้อตามที่ได้ปรับปรุงล่าสุดเมื่อปี ๒๕๔๗ มี ๖ ข้อในด้านวัฒนธรรม และ ๔ ข้อด้านธรรมชาติ พร้อมเงื่อนไขไว้ว่า การปกป้องพิทักษ์รักษา การบริหารจัดการ ความดั้งเดิมแท้ และ บูรณภาพ ถือเป็นคุณสมบัติสำคัญของการพิจารณา เมื่อไตร่ตรองลองแปลด้วยตนเอง ผมมีความคิดต่อองค์พระบรมธาตุเจดีย์เมืองนคร และวัดพระธาตุเมืองนคร ในเรื่องมรดกโลกดังนี้ เมื่อนึกถึงเมื่อนับพันปีที่แล้ว ที่บรรพชนของเรามาสถาปนาพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชแห่งนี้ พิจารณาอย่างสัมพันธ์กับวัตถุพยานเชิงประจักษ์โดยเฉพาะในสมัยที่การเดินทางไกลล้วนใช้เรือ เมื่อมาถึงฝั่งทะเลตะวันออกของคาบสมุทรสุวรรณภูมิที่คั่นสองฟากอารยธรรมสำคัญของโลกไว้ คือตะวันตกกับตะวันออก คืออินเดียและจีน เมื่อหมายตาเอายอดเขาหลวง ที่สูงสุดของเทือกเขานครศรีธรรมราชอยู่ลิบ ๆ อันเป็นสันสำคัญของคาบสมุทร แล้วมุ่งเข้าหา ครั้นเห็นยอดเขามหาชัยที่อยู่ถัดออกมา จัดให้ทั้ง ๒ ยอดเป็นแนวเส้นตรงแล้วมุ่งใกล้เข้าหาฝั่งจนปรากฏยอดที่ ๓ ของพระบรมธาตุเจดีย์ที่อยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน รักษาแนวไว้ให้มั่น เรือหรือกำปั่นไหน ๆ ก็ตรงเข้าถึงตัวเมืองนครไม่มีพลาด นี่มิใช่อัจฉริยภาพ ตามข้อบ่งชี้ที่ ๑ แสดงถึงความเป็นผลงานชั้นเยี่ยมในการสร้างสรรค์แห่งอัจฉริยภาพของมนุษย์ เป็นสุดยอดสถาปัตยกรรม เทคโนโลยี การออกแบบภูมิทัศน์ ตามข้อบ่งชี้ที่ ๒ แสดงถึงความสำคัญในการเปลี่ยนผ่านระบบและคุณค่าแห่งมนุษยชาติตามเงื่อนแห่งเวลาหรือภูมิสังคมวัฒนธรรมของโลก ในพัฒนาการของสถาปัตยกรรม เทคโนโลยี ศิลปะสถาน การออกแบบเมือง หรือ ภูมิทัศน์ และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ รอยอารยวัฒนธรรมจำเพาะที่ยังคงอยู่ยังมิสูญสิ้น ตามข้อบ่งชี้ที่ ๓ หรือ ? สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น สร้างทำขึ้น ตามตำนานอาจร่วม ๒,๐๐๐ ปี ตามประวัติศาสตร์ที่มีหลักฐานยืนยันประมาณ ๑,๐๐๐ ปี หนึ่งพันปีที่มนุษย์รู้ใช้ประภาคารธรรมชาติร่วมกับประภาคารการก่อสร้าง "องค์พระบรมธาตุ" อย่างสัมพันธ์กันเพื่อประโยชน์แห่งการเดินเรืออันเป็นเส้นทางพาณิชยนาวีสำคัญของมนุษย์ทั้งในระดับท้องถิ่นจนถึงระดับข้ามทวีป นับเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมทะเลที่สำคัญยิ่ง ตรงต่อข่อบ่งชี้ที่ ๔ คือการเป็นกรณีตัวอย่างที่เด่นชัดของอาคารสถาน สถาปัตยกรรม เทคโนโลยี หรือ ภูมิทัศน์ ที่แสดงถึงช่วงแห่งวิวัฒน์สำคัญของประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาติ พร้อมกับการวิวัฒน์พัฒนาตั้งถิ่นและฐานเป็นบ้านและเมืองที่ค่อย ๆ ขยายตัวจนกลายเป็น "มหานครแห่งธรรม" ณ สันดอนทราย (Sand Dune) ตลอดแนวเหนือใต้ตามพุทธานุภาพแห่งองค์พระมหาเจดีย์ประจำถิ่น มีวิถีวัฒนธรรม ประเพณี ชีวิต ความคิด ความเชื่อ รูปแบบศิลปกรรม วรรณกรรม แบบจำเพาะมากมายสืบเนื่องมาถึงทุกวันนี้อย่างไม่เคยตาย แม้จารึกสุโขทัย (ที่ได้รับการประกาศเป็นมรดกความทรงจำโลกแล้ว) ก็จารึกระบุยอมรับในความ “หลวกกว่า” ของปู่ครูจากเมืองนคร แม้แบบรูปพระสถูปทรงนี้ในแหลมทองก็เป็นที่ยอมรับมาเนิ่นนานว่าแพร่ขยายไปจากพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชนี้ ซึ่งตรงต่อข้อบ่งชี้ที่ ๖ ว่ามีความสัมพันธ์ชัดเจนกับกิจกรรมหรือวิถีวัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อ รูปแบบศิลปกรรม วรรณกรรม อันโดดเด่นในระดับสากล เฉพาะเรื่องการตั้งถิ่นฐาน ณ สันดอนหาดทรายแก้ว แล้วสถาปนาองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ต่อด้วยการพัฒนาเป็นมหานคร จนได้ชื่อว่า “นครดอนพระ” แห่งนี้นั้น ถือได้ว่าเป็นการเลือกตั้งถิ่นฐาน ใช้ที่ดินและท้องน้ำ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมพิเศษ สอดรับกับข้อบ่งชี้ที่ ๕ ถึงการเป็นกรณีตัวอย่างที่เด่นชัดของวิถีแห่งการตั้งถิ่นฐาน การใช้ที่ดิน หรือ ท้องน้ำ ของมนุษย์ที่แสดงถึงวัฒนธรรมและปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติสภาพแวดล้อมของมนุษย์ โดยเฉพาะในภาวะแห่งความเปราะบางและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ และข้อบ่งชี้ที่ ๗ คือมีปรากฏการณ์สำคัญทางธรรมชาติ หรือ เป็นอาณาบริเวณที่มีความงามตามธรรมชาติเป็นพิเศษสำคัญยิ่ง กับยังเป็นตัวอย่างที่แสดงอย่างชัดเจนถึงขั้นตอนสำคัญแห่งการวิวัฒน์ของประวัติศาสตร์ของโลก รวมถึงร่องรอยของชีวิต การเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาของผืนแผ่นธรณีต่าง ๆ ตรงตามข้อบ่งชี้ที่ ๘ และเป็นตัวอย่างที่แสดงถึงความสำคัญอย่างชัดเจนถึงกระบวนการทางนิเวศน์และชีววิทยาแห่งวิวัฒนาการของระบบนิเวศน์และชีวิต ทั้งพืชและสัตว์ ของผืนแผ่นดิน แหล่งน้ำชายฝั่ง หรือ ท้องทะเล ตามข้อบ่งชี้ที่ ๙ โดยเฉพาะที่อ่าวปากพนัง-เมืองนครซึ่งขยายความได้อีกไม่รู้จบ หากได้ทบทวนถึงการเกิดขึ้นของคาบสมุทรแหลมทองที่สุวรรณภูมิ อันเป็นที่ตั้งขององค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชหรือเมืองนครแห่งนี้ตามที่มีกลอนมุขปาฐะเก่ากล่าวไว้ว่า “ตั้งดินตั้งฟ้า ตั้งหญ้าเข็ดมอน โมคลานตั้งก่อน เมืองคอนตั้งหลัง” และได้เขียนเป็นบทความตามคำขอของบรรณาธิการอนุสาร อสท.ฉบับเดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๓๙ ในชื่อ “ณ แผ่นดินเมืองนคร” สรุปความว่า เมื่อสมัยไตรแอสสิกประมาณ ๒๐๐ ล้านปีก่อนที่ผืนแผ่นธรณีลอเรียเซียเคลื่อนตัวจากขั้วโลกเหนือลงมาทางใต้จนชนกับแผ่นธรณีอนุทวีปอินเดียที่แตกตัวมาจากแผ่นกอนด์วานาแลนด์ที่บริเวณขั้วโลกใต้เมื่อ ๑๕๐ ล้านปีก่อนในยุคจูราสสิก ณ บริเวณเส้นศูนย์สูตรอันเป็นเขตต่อแดนระหว่างอินเดีย - อันดามัน กับ เอเชียอาคเนย์เมื่อประมาณ ๑๐๐ ล้านปีก่อนตอนสิ้นยุคจูราสสิกที่ไดโนเสาร์สูญพันธ์ไปจากโลกนี้นั้น แผ่นดินนครบนคาบสมุทรแหลมทองได้ก่อตัวจาก ๒ ผืนแผ่นธรณีมหึมาที่มาชนกันโดยแผ่นธรณีอินเดียมุดลงใต้กลายเป็นท้องทะเลอันดามัน อัดดันแผ่นธรณีเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ให้ถูกเกยยกขึ้น พร้อมกับรอยย่นยู่ที่ลากยาวมาจากเทือกเขาหิมาลัยลงมาจนถึงเทือกเขานครศรีธรรมราช ที่มียอดเขาหลวงเป็นยอดสูงสุดในบริเวณนี้ มีสัณฐานเป็นหินแกรนิตที่ผ่านการบีบอัดและความร้อนสูงจนแปรเป็นหินแกรนิต-ไนส์ กร่อนสลายผุพังผ่านกาลเวลาลงมาเป็นก้อนหิน กรวดทราย และผืนแผ่นดินที่ไหลลงมาตามลาดเขา ลุ่มน้ำ สันดอน หาดทราย ก่อนจะไหลออกทะเล มีการทับถมผสมกับสรรพชีวิตพืชพันธุ์เกิดเป็นป่าดงดิบต้นน้ำ แล้วลาดลงสู่ที่ราบเชิงเขา ลุ่มน้ำ ทุ่งนา ทุ่งน้ำหลาก ที่ชุ่มน้ำ ป่าพรุ ป่าจาก ป่าชายเลน บึง อ่าว แหลมสารพัด องค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ณ ยอดเนินสันดอนหาดทรายแก้วแห่งเมืองนคร ที่สถิตสถาปนาเป็น “ดอนพระ” แห่งเมืองนคร ณ ท่ามกลางภูมินิเวศน์วัฒนธรรมอันหลากหลายและสืบเนื่องยาวนานนี้ จึงมีความสำคัญเกินกว่าจะประมาณ ไม่ว่าจะด้วยเกณฑ์ใด ๆ หรือโดยใคร ไม่ว่าจะในแง่ของมรดกทางวัฒนธรรม ทั้ง ๖ หรือ มรดกทางธรรมชาติ ทั้ง ๔ สำหรับข้อบ่งชี้ที่ ๑๐ คือการเป็นแหล่งธรรมชาติอันแสดงถึงความหลากหลายทางธรรมชาติที่สำคัญยิ่ง รวมทั้งเป็นแหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธ์ที่สำคัญเชิงวิทยาศาสตร์และการอนุรักษ์ในระดับสากลนั้น อาจต้องอาศัยการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมเพื่อยืนยัน ดังที่ชาวเมืองนครต่างก็รู้อยู่ว่าบนหาดทรายแก้วที่ชายฝั่ง และ ในทุ่งหยามหรือทุ่งปรังทั้งหลายนั้น ที่สูญแน่แล้วในขณะนี้คือ สวนป่าละเมาะสันดอนทรายอย่างที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชทานชื่อให้ไว้ที่บริเวณหลังสนามบินเก่าในกองทัพภาคที่ ๔ ว่า "สวนราชฤดี" หรือ "เรือผีหลอก" ที่ชาวบ้านเพียงนำเรือออกพายหลอกปลาในน้ำก็ได้ปลากระโจนมาลงเรือให้พอกินได้ รวมทั้ง "ควายท่าลาด" ที่เคยอยู่เป็นเหยื่อให้ปลิงใหญ่ได้ดำรงชีพ เคียงคู่กับ "ทาสยายชี" ที่ใคร ๆ ในเมืองนครขออย่าให้ได้เกิดมาเป็น แต่ดูจากการพัฒนาพื้นที่รายรอบ “นครดอนพระ” ที่ผ่านมาถึงทุกวันนี้แล้ว เชื่อได้ว่าหลายสิ่งอย่างได้ทยอยสูญพันธุ์ลงแล้วเป็นลำดับ แม้ "ปลากัดนอกไร่" ปากกล้ากำลังดีจะยังพอมีอยู่บ้าง.

 

 

 
รูปที่1
Joomla templates by a4joomla
rtp slot https://www.sidiap.org/rtp-live-slot//