การพระศาสนา
- Details
- Written by Super User
- Category: งานศาสนา
- Published: 23 December 2017
- Hits: 1944
อีกวัดในใจกลางเมืองนคร ที่จะกลับมาบันดาลใจ ปีใหม่นี้
This New Year, Wat Wang Will BunDarnJai
(bunchar.com การพระศาสนา 20171218_2)
Chai Choti วัดบันดาลใจ กิจกรรมสวนโมกข์กรุงเทพ
เมื่อสัปดาห์ก่อน ท่านพระครูพรหมเขตฯ
Tag ถึงผมว่ากำลังจะจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีที่วัดวังตะวันตก
มีข้อชี้แนะอะไรไหม ?
เมื่อวานนี้และเช้านี้ ผมจึงเวียนไปวัดวังตะวันตกมา ๒ คำรบ
ประมวลข้อคิดความเห็นเพื่อกราบท่านพระครูฯ
และคณะไวยาวัจกร ตลอดจนกรรมการและศรัทธาสาธุชน ประมาณนี้ขอรับ
๑) งานนี้ มีเวลาเตรียมตัวน้อย แต่ก็ถือเป็นปีแห่งศักราชใหม่ แห่งการฟื้นคืนวัดวัง หลังจากผ่านกาลเวลาและนานาแห่งเหตุและปัจจัย ที่เราทั้งหลายจะได้มาร่วมด้วยช่วยกันเพื่อการพระพุทธศาสนา ณ ใจกลางเมืองนคร ต่อแต่นี้ โดยวัดวังตะวันตก ได้เสนอตัวเข้าร่วมขบวน "วัดบันดาลใจ" ด้วยแล้ว ซึ่งทราบว่าคณะทำงานของโครงการกำลังประสานนัดหมายเพื่อลงมาประสานดำเนินการในต้นปีที่จะถึง
๒) ขออนุญาตนึกถึงวัดวังในหลายมิติและสถานะ ตั้งแต่การอุทิศถวายวังแห่งจอมมารดาปรางโดยเจ้าพระยานครน้อย ถวายไว้กับพระพุทธศาสนา เป็นที่สถิตของท่านพระครูกาชาดย่อง อินทสุวรรโณ ซึ่งเป็นหนึ่งในเอกองค์มหาเถระของเมืองนคร แถมพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชินี พร้อมพระเจ้าลูกยาเธอและลูกเธอ รวมทั้งรัชกาลที่ ๑๐ ยังเสด็จยกช่อฟ้า เมื่อกาลวิสาขบูชา ปี ๒๕๐๖ จึงเต็มไปด้วยเรื่องราวและร่องรอยอันดีงามมากมายอยู่ในวัดแห่งนี้
๓) ผมขอเสนอเริ่มต้นว่า ปีนี้ อาจจะเรียกง่าย ๆ นำร่องว่า
"สวดมนต์ข้ามปี ชมของดีที่วัดวังเพื่อบันดาลชีวิตจิตใจ ให้ดี...ปีใหม่นี้"
๔) โดยขอเสนอว่าน่าจะประกอบด้วยสิ่งเหล่านี้
๔.๑) การปรารภถึงสถาบันพระศาสนา
ผ่านพระรัตนตรัยที่วัดวังตะวันตก ประกอบด้วย
๔.๑.๑ - องค์พระพุทธ ผ่านพระปฏิมาสำคัญ ๓ องค์ แห่งวัดวังตะวันตก ประกอบด้วยพระประธานลงรักปิดทองในพระอุโบสถ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชในวิหารสูงอุโบสถเก่า และ พระลากเงินปางเสด็จจากดาวดึงส์และทรงบาตรที่งดงามที่สุดองค์หนึ่งของเมืองนคร
๔.๑.๒ - หลักพระธรรมคำสั่งสอน ผ่านธรรมาสน์เก่าแก่ และหอไตรอินทสุวรรโณ รวมทั้งศาลาการเปรียญประโชติศาสนกิจ โดยควรพยายามขอรับสมุดไทยพระมาลัยเล่มสำคัญที่สวยที่สุดเล่มหนึ่งของประเทศไทยคืนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ที่ขอยืมไปจัดแสดงที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมฯ หลายสิบปีมากแล้ว และตอนนี้ก็ปิดมาเป็นสิบปีแล้ว มาให้ชาวพุทธเมืองนครได้สมโภชและชื่นชมโสมนัส
๔.๑.๓ - นานามหาเถระ สงฆ์สำคัญ อดีตเจ้าอาวาสแห่งมหาอารามที่สืบมาตั้งแต่ท่านพระครูกาชาด จนถึงท่านเจ้าคุณมหาภากร เฉพาะท่านพระครูกาชาด ก็มี ๒ อนุสรณ์สถานสำคัญ คือ กุฏิไม้ทรงไทยอายุเกิน ๑๒๐ ปี กับหอรูปท่านพระครู ที่สำคัญคือภาพถ่ายครั้งสลายสรีระร่างท่านพระครู ที่มีพิธีวิเศษดังในภาพ ซึ่งควรค่าแก่การศึกษาค้นคว้าต่อว่า เป็นอย่างไรและใครเป็นใครในภาพนั้น ส่วนท่านพระครูประโชติฯ ก็มีอีก ๒ อนุสรณ์สถานสำคัญ คือพระอุโบสถฯ ที่พระเจ้าอยู่หัว ๒ รัชกาล เสด็จยกช่อฟ้า กับศาลาการเปรียญ ที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังหนึ่งเดียวในประเทศไทย ที่ไม่มีที่ไหนเหมือน ทั้งภาพชุดพระชาติก่อนของพระพุทธเจ้า และภาพการประดิษฐานพระพุทธศาสนา ณ นครศรีธรรมราชนี้
๔.๒) การปรารภถึงสถาบันรัฐและชาติไทย ที่ตั้งมั่นพัฒนาสถาพรไพบูลย์มาถึงทุกวันนี้ โดยการร่วมวงศ์ไพบูลย์กันมาแต่ครั้งสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี ถึงรัตนโกสินทร์ โดยมีวัดวังตะวันตกนี้เป็นห่วงโซ่เชื่อมร้อยสำคัญ ระหว่าง วงศ์ธนบุรี-จักรีรัตนโกสินทร์ และ นครศรีธรรมราช ผ่านเจ้าพระยานครหนูและลูกสาวปรางที่ถวายตัวเป็นหม่อมห้ามแห่งพระเจ้ากรุงธนบุรีพร้อมพี่สาวที่ชื่อฉิม แล้วพระเจ้ากรุงธนฯ พระราชทานให้เจ้าพระยานครพัฒน์กลับมาคืนเมือง ยกเป็นเจ้าแม่-นางเมือง สถิตที่วังฯ นี้ ก่อนที่จะเกิดบุตรที่ติดท้องมาแต่กรุงธนฯ เป็นเจ้าพระยานครน้อย แม่ทัพเรือและนายพาณิชย์คนสำคัญของรัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ผู้อุทิศวังนี้ที่เป็นแดนเกิด สร้างเป็นวัดวังแห่งนี้ โดยมีหลายประจักษ์พยานยังหลงเหลือ โดยเฉพาะรูปพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชในวิหารพระสูง - อุโบสถเดิม และ ศาลาเก๋งแห่งเจ้าพระยานครที่สกุล ณ นครถวายไว้กับวัด นอกจากนี้ เมื่อครั้งทำการสำรวจผ้าเก่าในกรุของวัด ได้ทราบว่าพบผ้าเก่าแก่ในราชสำนักตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ ๑ ซึ่งหากเป็นไปได้ น่าจะนำออกมาให้ผู้คนได้ชื่นชมสมโภชสักครั้ง
๔.๓) การปรารภถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งนอกจากที่ล้นเกล้า ๒ รัชกาล เสด็จมายกช่อฟ้าเมื่อพ้นกึ่งพุทธกาลเพียง ๖ ปี เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๖ แล้ว ยังมีแผ่นศิลาจารึกพระนามาภิไธยของ ๒ พระองค์ อยู่ในพระอุโบสถอีกด้วย และอาจจะถือเป็นป้ายในลักษณะนี้ แรก ๆ และน้อยชิ้นนัก
โดยการจัดงาน อาจแบ่งเป็น ๓ เขตสำคัญ
กับ กิจกรรมเป็น ๓ ช่วงสำคัญ ประมาณนี้
๑) ว่าด้วยเขต แบ่งเป็นเขตพระพุทธ พระธรรม และ พระสงฆ์
ล้อพุทธาวาส - ธรรมาวาส - สังฆาวาส คือ
๑.๑) พุทธาวาส - ที่พระอุโบสถและลานทรายรายรอบ ให้เป็นพื้นที่หัวใจ อัญเชิญพระลากมาวางบนแท่นที่หน้าพระอุโบสถ พร้อมตั้งธรรมาสน์ที่ชั้นล่างลงมาระหว่างบันไดคู่ ผู้มาร่วมงานให้นั่งบนลานทรายที่ขาวสวยอยู่แล้ว โดยเปิดพระอุโบสถให้ผู้คนได้หมุนเวียนขึ้นไปกราบไหว้พระปฏิมา ชมภาพจิตรกรรมฝาผนัง และ สักการะป้ายพระนามาภิไธยของ ๒ พระองค์ คือ ภูมิพล และ สิริกิตติ์
๑.๒) ธรรมาวาส - รายรอบศาลาการเปรียญรวมทั้งหอพระสูงและหอระฆังด้านหลัง ไปจนถึงหอไตรอินทสุวรรณและป่าตะเคียนด้านหน้า ให้เป็นที่สำรองหากฝนตก โดยควรปรับชั้นล่างของหอไตรฯ เป็นที่จัดแสดงมรดกธรรมสำคัญต่าง ๆ เท่าที่จะเป็นไปได้และไม่ก่อเกิดความลำบากหรือเสียหาย ทั้งนี้ หากปรับบริเวณหน้าหอไตรตลอดจนธงราวให้งามตามสมควรได้จะเป็นการดี
๑.๓) สังฆาวาส - ที่หอรูปพระครูกาชาด เนื่องถึงกุฏิทรงไทยของท่านพระครู รวมทั้งกุฏิท่านเจ้าอาวาสปัจจุบัน ต่อไปถึงศาลาปฏิบัติธรรม ๓ ชั้นด้านหลัง ที่ยังรอการปรับปรุงนั้น ควรเน้นเฉพาะหอรูปท่านพระครู กับกุฏิทรงไทยฯ ในครั้งนี้ เพื่อให้ผู้คนได้เข้าชื่นชมและนมัสการ
โดย อาจจัดแท่นอาสนะพระเป็น ๓ พื้นที่ คือที่หน้าพระอุโบสถจำนวนหนึ่ง ที่ลานตะเคียนหน้าหอไตรจำนวนหนึ่ง และ หน้ากุฏิทรงไทยอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งสามารถค่อย ๆ ขยับขยายออกมาได้เรื่อย ๆ หากคนมาร่วมมากตามจังหวะเวลาและจำนวน หากไม่มาก ก็อยู่รวมกันที่ลานทรายรอบพระอุโบสถ
๒) ว่าด้วยช่วงเวลาและจังหวะของงาน
ซึ่งเชื่อว่าในช่วงนั้นจะมีอีกหลายงานในหลายที่เกิดขึ้น เช่น งานที่วัดพระธาตุและที่สนามหน้าเมือง ตลอดจนที่วัดอื่น ๆ ผมขอเสนอข้อพิจารณาว่า ของวัดวังตะวันตกนั้น หากจะเดินตามนี้ อาจจะทำเป็น ๓ จังหวะ
๒.๑) ๑ สัปดาห์ก่อนปีใหม่ ชวนกันมาร่วมพัฒนาปรับพื้นที่บริเวณวัดและเสนาสนะให้สะอาดงดงามเป็นระเบียบเรียบร้อยและสัปปายะยิ่ง ๆ ขึ้น พร้อมกับขยับขยายพื้นที่เพื่อการนี้เป็น ๓ เขต พร้อมกับจัดตั้งสิ่งแสดงต่าง ๆ พร้อมป้ายอธิบาย ฯลฯ ตามสมควร และเปิดให้ผู้คนได้ชื่นชมสัก ๓ - ๕ วันก่อนถึงปีใหม่ โดยอาจตั้งแสดงต่อเนื่องได้อีกระยะหนึ่งหลังปีใหม่แล้วด้วยก็ได้
๒.๒) อาจพิจารณากิจกรรมตักบาตรทำบุญเลี้ยงพระเชิงสมโภชส่งท้ายปี ในเช้าวันที่ ๓๑ เนื่องจากเช้าวันที่ ๑ นั้นจะชนกับอีกหลากหลายงานมาก รวมทั้งผู้คนไม่น้อยน่าจะยังสลบไสลกัน และท่านพระครูเองก็อาจติดกิจนิมนต์อื่นด้วย (ที่สวนโมกข์กรุงเทพเราก็จัดกันเช้าวันที่ ๓๑ ครับ)
๒.๓) งานภาคค่ำที่วัดวัง อาจจะเริ่มตั้งแต่พลบค่ำ ด้วยการสนทนา ฟังธรรม นำชมของดีต่าง ๆ ก่อนที่จะร่วมสวดมนต์ภาวนาข้ามปี ใกล้ ๆ เที่ยงคืน แล้วอาจจะเลิกเลย หรือเปิดให้คนที่อยากอยู่วัดภาวนาหรือนอนวัด ได้อยู่ต่อจนเช้า ทั้งนี้ขึ้นกับกำลังและศรัทธา พร้อมกับศักยภาวะที่จะจัด โดยอาจเชื่อมโยงกับนานากิจกรรมที่ทางจังหวัดและวัดพระธาตุจัดด้วยก็น่าจะได้
ไม่ทราบว่าจะมากไปไหมครับท่านพระครูฯ
และพี่น้องผองเพื่อนที่เมืองนคร
ใครชอบก็ขอเชิญไปช่วยนะครับ
ผมเองนั้น ยังต้องอยู่โยงที่สวนโมกข์กรุงเทพ ซึ่งมิได้เป็นวัด
แต่ที่เราค่อย ๆ ทำมา ๖ - ๗ ปี ถึงตอนนี้
เราทำกันต่อเนื่องส่งท้ายปี ๗ วัน
ตั้งแต่ วันที่ ๒๕ ธค.มีภาวนาตลอดทั้ง ๗ วัน
ด้วยแนวภาวนาต่าง ๆ ของธรรมภาคีเครือข่าย
และอีก ๒๔ ชม.
ตั้งแต่เช้าวันที่ ๓๑ ธค. ถึงเช้าวันที่ ๑ มค.
มีคนเข้าร่วมตลอดวันตามแต่ละจังหวะ
ที่เราแยกเป็น ๕ - ๖ ช่วง นับจำนวนคนไม่ได้
เฉพาะช่วงข้ามปี มีคนประมาณ ๕ - ๖,๐๐๐ คน
แถมอยู่เนสัชชิก คือไม่นอนตลอดคืนนั้นเป็นพัน ๆ คนครับ
พิจารณาตามที่เห็นเป็นการสมควรนะขอรับ ครับผม.
๑๘ ธค.๖๐ ๑๐๐๑ น.
บ้านบวรรัตน์ ท่าวัง เมืองนคร