การพระศาสนา
- Details
- Written by Super User
- Category: งานศาสนา
- Published: 05 June 2016
- Hits: 1504
Bring Back Better Best Thing to Our Beloved Homeland,
This Vesak
จะนำธรรมกลับมาเป็น “ศิริ” ของบ้านเมืองเราได้อย่างไร ?
(bunchar.com การพระศาสนา,เพื่อแผ่นดินเกิด 20160520)
ในวาระวิสาขบูชาที่ถือเป็นมหามงคลยิ่งของชาวพุทธ โดยเฉพาะชาวนครที่เมืองนครที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองธรรม และเมืองนครที่ถือว่าเป็นหนึ่งในฐานธรรมสำคัญที่พระพุทธศาสนามาสถาปนา ณ แหลมทองแห่งนี้ และดูเหมือนว่าเมืองนครของเราก็กำลังยุ่งอย่างยิ่งกับสารพันปัญหา ไม่ว่าจะน้ำประปาของชาวเมือง น้ำท่าฟ้าฝนของชาวสวนไร่และนา ป่าดงพงไพรบนเขาหลวง ตลอดจนป่ายางสร้างใหม่ที่ทางเข้ามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และอีกสารพัดที่ดูจะวิปริตผิดแปลกไปแทบทุกหย่อมหญ้า แม้กระทั่งองค์พระบรมธาตุยอดทองของเราทุกคนที่ถึงวันนี้ ยังไม่รู้ว่าจะอย่างไรกันแน่ในหลากหลายแง่มุมและเรื่องราว
เมื่อก่อนหน้าวิสาขบูชาวันเดียว พวกเราชาวพุทธกลุ่มหนึ่งที่เมืองนครได้ร่วมในโอกาสเปิดห้องปฏิบัติธรรมบนอาคารปฏิบัติธรรมพ่อท่านจุฬ วัดศรีทวี ที่พวกเราหลายฝ่ายเข้าไปร่วมและรับใช้ โดยมีคนเข้าร่วมกันล้นห้อง จากนั้นได้มีโอกาสร่วมคณะวัดบันดาลใจจากอาศรมศิลป์ไปกราบท่านเจ้าคุณฯ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุเพื่อกราบรายงานและหารือถึงการถวายงานการปรับปรุงอาณาบริเวณวัดพระธาตุต่อไปให้ร่มรื่นรมณีย์ โดยท่านเจ้าคุณบอกว่าหนังสือ “ชวนไปปฏิบัติธรรมที่เมืองนคร” ที่ ททท.กับพวกเรา ช่วยกันเรียบเรียงจัดทำและพิมพ์เผยแพร่นั้น ทำให้หลายคนแม้กระทั่งคนในที่ดูแลเรื่องการพระพุทธศาสนาแท้ ๆ ได้รับรู้ว่าวัดพระธาตุนครนี้ทำอะไรต่อมิอะไรโดยเฉพาะการอบรมและฝึกสอนปฏิบัติสมาธิภาวนามากมาย ทั้งนี้ หนังสืออีกเล่ม คือ “ตามรอยธรรมที่เมืองนคร” ตลอดจนป้ายสื่อความที่ติดตั้งทั่ววัดนั้น ผมก็เชื่อว่ามีผลเชิงคุณภาพและเนื้อหาแง่มุมลึก ๆ ของวัดพระธาตุโดยเฉพาะ “ในธรรม” ไม่น้อยเช่นกัน
ที่สำคัญ ในวาระวิสาขบูชานี้ ท่านเจ้าคุณอาจารย์พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) ได้เมตตาเรียบเรียงหนังสือธรรมะสำคัญเล่มใหม่ ในชื่อ “บทนำ สู่ พุทธธรรม” และมอบให้พวกเราร่วมกับวัดญาณเวศกวันจัดพิมพ์เผยแผ่ในวงกว้าง เพื่อจะได้มีส่วนในการนำพา “พุทธธรรม” กลับคืนสู่สังคมไทยของเราอย่างมั่นคงและสถาวรยิ่งขึ้นตามลำดับ หนังสือนี้พวกเราที่หอจดหมายเหตุพุทธทาสถือเป็นพรวิสาขวิเศษ จากท่านเจ้าคุณอาจารย์ ที่ชี้นำพุทธธรรมเพื่อ “ชีวิตงาม สังคมดี และธรรมชาติเป็นรมณีย์” เพื่อให้งานกุศลสัมฤทธิ์ผลที่มุ่งหมาย เพื่อความเจริญพัฒนาแห่งกุศลธรรม เพื่อให้เกิดความดีงาม ความงอกงามและความสุขของชีวิตและของโลกมนุษย์ที่ผาสุกสดใส ในโลกของธรรมชาติที่สดชื่นรื่นรมย์มีความเป็นรมณีย์อย่างยั่งยืนนาน ดังที่ท่านได้ประมวลสรุปและยกพุทธพจน์ที่ตรัสเล่าไว้เอง และมีบันทึกในพระไตรปิฎกว่า "ภูมิสถานถิ่นนี้ เป็นที่รมณีย์หนอ" และที่สำคัญ คำว่า "อาราม" นั้นก็เป็นคำนามของคุณศัพท์ "รมณีย" นี่เอง
ในขณะที่ผมง่วนอยู่กับงานธรรมตามวัดต่าง ๆ ในเมืองนคร ทราบว่าปัญหาน้ำประปาในเมืองกลับกลายเป็นประเด็นสาธารณะ มีกลุ่มชื่อว่า “ธรรมาภิบาล” ออกมาร่วมทัดทานกับผู้คนพลเมือง ในขณะที่ป่ายางในวลัยลักษณ์ที่ทางมหาวิทยาลัยกำลังเตรียมการโยกย้าย ก็มีนักศึกษา ครูบาอาจารย์ บุคคลากร และ ประชาชน ทำพิธีบวชด้วยผ้าศักดิ์สิทธิ์ที่เคยถูกถวายใช้ห่มองค์พระบรมธาตุมาก่อน น้ำท่าฟ้าฝนก็เริ่มตั้งเค้าตามธรรมชาติที่แม้จะล่าแต่ก็ยังมา ในขณะที่องค์พระบรมธาตุก็ทราบว่ามีการตั้งป้ายประกาศการจะเริ่มบูรณะในบางส่วนแล้ว หลังจากค้างเติ่งมาเนิ่นนาน ในขณะที่เขตคณะเหนือและใต้ของวัดพระธาตุก็กำลังจะได้รับการปรับปรุงใหม่ให้ร่มรื่นรมณีย์ยิ่งขึ้น อาจจะถึงแล้วกระมัง เวลาที่ “ศิริ” และ “ธรรม” จะกลับคืนมาสู่เมืองนครของเรา
ทั้งหมดนี้ มิได้กลับคืนมาได้เองโดยใครไม่ได้ทำอะไร แต่เพราะมีคนปราถนาดีแล้วเริ่มลงไม้ลงมือทำสิ่งดี ๆ “ศิริ” หมายถึงความดีงาม “ธรรม” ท่านอาจารย์พุทธทาสบอกว่าหมายถึงหน้าที่ อย่างนี้จึงจะเป็น “นครศรีธรรมราช” สมชื่อ นับจากวิสาขบูชานี้ โดยขอเชิญชวนนำอริยสัจ ๔ และ อริยมรรคมีองค์ ๘ ที่ถือเป็นหัวใจแห่งพระพุทธศาสนาที่พระพุทธองค์ทรงแสดงตลอดพระชนม์ชีพหลังจากตรัสรู้จวบจนปรินิพพาน มาประกอบการพิจารณาว่าอะไรแน่ที่คือ "ตัวปัญหา-ทุกข์" และ "เหตุแห่งปัญหา-สมุทัย" แล้วเรายังจะ "ดับปัญหาให้ถึงตัวต้นเหตุ-นิโรธ" ได้ด้วย "วิถีและวิธีใด-มรรค" อันประกอบด้วย "ความรู้และมุ่งมั่นที่ถูกถ้วน-ทิฏฐิและสังกัปปะ" "ปฏิบัติการดำเนินการที่ถูกถ้วน-วาจา อาชีวะ กัมมันตะ" และ "ความพากเพียรพยายาม ระลึกรู้และตั้งมั่นถูกถ้วน-วายามะ สติ สมาธิ" ตามสมควร
วิสาขบูชา ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๙
ที่ลานร่มไทรวัดศรีทวี ขณะพระภิกษุสามเณรกำลังบิณฑบ