การพระศาสนา
- Details
- Written by Super User
- Category: งานศาสนา
- Published: 06 June 2016
- Hits: 1931
Buddhadasa Study To Be ReStart Tomorrow @ SRU (1)
พุทธทาสศึกษาที่กำลังจะเริ่มต้น...อีกรอบ
เสนอต่อที่ประชุมสัมมนาวิชาการนานาชาติ
“พุทธทาสศึกษา ครั้งที่ ๑” ๒๕ พค.๕๙
ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
(bunchar.com การศาสนา, บัญชาชีวิต 20160524)
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมา สมฺพุทฺธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมา สมฺพุทฺธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมา สมฺพุทฺธสฺส
พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
พทฺธสฺสาหสฺมิ ทาโส ว พุทฺโธ เม สามิกิสฺสโร
ข้าพระพุทธเจ้าเป็นทาสของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นนาย มีอิสระเหนือข้าพเจ้า
ที่สุราษฎร์ธานี เมืองคนดีที่เป็นแหล่งธรรมะ
และที่ มรภ.สุราษฎร์ทำมาแล้ว
หลังจากติดตามและมีส่วนร่วมรับรู้การริเริ่มและลงไม้ลงมือของ มรภ.สุราษฎร์ธานี และ อบจ.สุราษฎร์ธานี มาระยะใหญ่ โดยผมเองก็ถูกตามให้ไปร่วมด้วยเป็นครั้งคราว มีการตั้งเป็นคณะกรรมการและถูกอุปโลกน์ให้เป็นประธานด้วย เมื่อวันที่ ๑ เมษายนที่ผ่านมา มีการนัดดู "หลักสูตร พุทธทาสศึกษา" ที่สวนโมกข์ไชยา โดยผมได้ขอโอกาสหารือร่วมกับท่านอธิการบดี มรภ.และคณะฯ จากที่ตนเองพอรับทราบในสิ่งที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาเป็นลำดับมาตลอดหลายปีนี้ เช่น ได้มีกิจกรรมที่เกี่ยวกับพุทธทาสภิกขุ ต่อเนื่องจากการจัดทำรายวิชาศึกษาทั่วไป "พุทธทาสศึกษา" ให้นักศึกษาทุกคน ด้วยการนำสู่สวนโมกขพลารามเพื่อร่วมการเรียนรู้และกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง จนเกิดกิจกรรมบุญตักบาตรที่สวนโมกข์เก่า วัดตระพังจิก พุมเรียง เป็นประจำทุกเดือน และยังดำเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์อาคารโรงเรียนวัดโพธาราม ห้องเรียนแรกของพุทธทาสภิกขุให้เป็นพิพิธภัณฑ์และศูนย์เรียนรู้ของชุมชนอย่างงดงาม รอการส่งมอบแก่เทศบาลตำบลพุมเรียงเพื่อดูแลและดำเนินการต่อ พร้อมกับการบูรณะปรับปรุงเขตรั้วและสร้างศาลาปฏิบัติธรรมที่วัดตระพังจิก จนลุล่วง ส่วนหนังสือธรรมในวัดสมุหนิมิต ที่ยกย้ายไปจากวัดตระพังจิกก่อนที่จะร้าง ก็ได้ทำการอนุรักษ์ ทำทะเบียนและศึกษารายละเอียดออกมาเป็นรายงานที่สมบูรณ์แล้ว โดยยังได้ร่วมจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่สวนโมกขพลารามอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่อุโบสถวัดอุบล (ร้าง) สถานอุปสมบทของพุทธทาสภิกขุ ที่ได้รับการดูแลรักษาหลังบูรณะอย่างยิ่งโดยวัดใหม่พุมเรียง โดยในโอกาสล้ออายุ ๑๑๐ ปี พุทธทาสภิกขุ วันที่ ๒๕ - ๒๗ พฤษภาคมนี้ จะจัดการประชุมสัมมนาวิชาการนานาชาติ "พุทธทาสศึกษา Buddhadasa Study" ที่ทราบว่าจะจัดเป็นประจำทุกปีอีกด้วย นอกจากนี้ทราบว่าจะมีการปรับปรุงอาคารหอพุทธทาสธรรมโฆษณ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักศิลปวัฒนธรรมในไม่ช้านี้ ทั้งหมดยังอยู่ในกลุ่มเกี่ยวกับพุทธทาสภิกขุ หากได้พิจารณาขยายขอบเขตสู่พุทธธรรมและพุทธทาสอื่นด้วยได้ก็จะสมบูรณ์ยิ่ง
พุทธทาสศึกษา : น่าทำให้ทั้งกว้างและลึกใน ๓ ระดับ
ในความเห็นส่วนตัวของผม รวมทั้งหากพิจารณาจากแบบอย่างของพุทธทาสภิกขุ ผมเข้าใจว่า "พุทธทาสศึกษา" ที่ครบถ้วนนั้นไม่น่าจะเพียงแต่เรื่องของพุทธทาสภิกขุ แต่ควรที่จะครอบคลุมใน ๓ ระดับ กล่าวคือ ระดับที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธธรรมและพระพุทธองค์ซึ่งเป็นที่สุด ระดับที่เกี่ยวกับพุทธทาสภิกขุ หรือ พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินทปัญโญ) หรือทาสของพระพุทธองค์ที่เป็นครูบาอาจารย์นำทางร่วมสมัยของพวกเรา และ ระดับพุทธทาสอื่น ๆ ที่พุทธทาสภิกขุได้บอกเสมอว่า ‘ใครก็เป็นพุทธทาสได้’ โดยกรอบของ “พุทธทาสศึกษา” นี้ ควรมุ่งขยายทั้งในเชิงการศึกษา วิจัยและพัฒนา ซึ่งผมเห็นว่าอาจแบ่งเป็น ๓ กลุ่ม ประกอบด้วย
๑) การศึกษา วิจัย เกี่ยวกับพุทธธรรมและการนำไปใช้เพื่อการพัฒนาต่าง ๆ
๒) การศึกษา วิจัย เกี่ยวกับพุทธทาสภิกขุและการนำไปใช้เพื่อการพัฒนาต่าง ๆ ไม่ว่าจะว่าด้วย ชีวิต งาน และ สิ่งที่เกี่ยวเนื่องจากชีวิตและงานของพุทธทาสภิกขุ
๓) การศึกษา วิจัย เกี่ยวกับพุทธทาสอื่น ว่าด้วยชีวิต งาน และ สิ่งที่เกี่ยวเนื่อง ตลอดจนการนำไปใช้เพื่อการพัฒนาต่าง ๆ
ทำไมต้อง "พุทธธรรม" และ "พุทธทาสอื่น"
เนื่องจากพุทธทาสภิกขุระบุย้ำอยู่เสมอว่าเป็นเพียงทาสของพระพุทธองค์ ทุกสิ่งที่ทำล้วนตามพุทธธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้และเมตตาสั่งสอน หัวใจของงาน "พุทธทาสศึกษา" จึงไม่ควรแคบอยู่แต่ที่ ชีวิตและงานกับที่เกี่ยวข้องกับพุทธทาสภิกขุ แต่ควรกว้างขวางถึง "ปรมาจารย์ของพุทธทาสภิกขุ" ซึ่งถือเป็นหัวใจ คือ พระพุทธองค์ ทั้ง พุทธประวัติ การประกาศพระศาสนา โดยเฉพาะพุทธธรรม และ สิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง นอกจากนี้ ยังมี "ทาสอื่น ๆ ของพระพุทธองค์" อีกไม่น้อย ดังที่พุทธทาสภิกขุเน้นย้ำอยู่เสมอว่าพุทธทาสทุกคน ทุกคนเป็นพุทธทาสได้ หาก "พุทธทาสศึกษา" ไม่คับแคบ ก็จะยิ่งเสริมส่งให้ "พุทธทาสศึกษา" นี้เป็นสากลขยายได้ไม่รู้จบ
ทำไมต้อง ศึกษา วิจัย และการนำไปใช้เพื่อพัฒนา
“...................................................”
กรุณาติดตามตอนต่อไป
หรือไม่พรุ่งนี้พบกันที่ราชภัฏสุราษฎร์ธานี ๐๙.๐๐ น.เป็นต้นไป
๒๔ พค.๕๙
(ภาพดอกโมกร่วงที่ข้างเรือนพักชายริมสระนาฬิเกร์
สวนโมกข์ไชยา เมื่อตะกี้นี้)