การพระศาสนา
- Details
- Written by Super User
- Category: งานศาสนา
- Published: 17 June 2016
- Hits: 1627
Treefold Education, Basic Dhamma Practice System
:Basic Needs For All Human Beings
สิกขาสาม คือหลักแห่งการปฏิบัติธรรม ... ของจำเป็นสำหรับทุกชีวิต
(bunchar.com การพระศาสนา 20160617)
การปฏิบัติธรรมทุกขั้นทุกตอน รวมลงในมรรคอันประกอบด้วยองค์แปดหรือที่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา องค์ทั้งแปดแห่งมรรคนี้ย่นรวมกันแล้วคงเหลือเพียงสาม ได้แก่ ศีล-สมาธิ-ปัญญา องค์ที่แปดรวมกันเป็นแรงเดียว เราเรียกว่ามรรค เพราะฉะนั้น ศีล-สมาธิ-ปัญญา เมื่อรวมเป็นแรงเดียวก็คือมรรคนั่นเอง องค์แปดแห่งมรรค หรือสิกขา ๓ อย่าง หรือมรรค อันเกิดจากการรวมขององค์ หรือ สิกขาเหล่านั้น จึงเป็นอย่างเดียวกัน และนั่นคือหลักแห่งการปฏิบัติธรรม !
ปฏิบัติธรรมเป็นของจำเป็นสำหรับชีวิตทุกชีวิต เว้นแต่ชีวิตที่ได้ก้าวถึงจุดปลายทางแห่งมรรค จบกิจที่จะต้องทำอีกต่อไปแล้วเท่านั้น ในแปดองค์นั้น จัดเป็นสิกขาสาม ดังต่อไปนี้
๑. ความเห็นชอบ หรือ ความเข้าใจถูกต้อง ... ๒. ความดำริชอบ คือ คิดหาทางออกไปจากทุกข์ตามกฎแห่งเหตุและผล ที่เห็นชอบมาแล้วนั้นในขั้นต้นนั่นเอง ... ทั้งสององค์นี้ จัดเป็นพวกปัญญาที่เรียกว่า "ปัญญาสิกขา"
๓. วาจาชอบ ๔. การงานชอบ ๕. ดำรงชีพชอบ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนว่าจำเป็นสำหรับสมาคมแห่งมนุษย์เพียงไร จะเป็นผู้ดำเนินตนไปตามโลก (โลกียะ) หรือตามธรรมที่จะข้ามขึ้นจากโลก (โลกุตตระ) ... ทั้งสามองค์นี้จัดเป็นพวกศีล เรียกว่า "ศีลสิกขา" เป็นสิ่งที่โดยมากมักมีมาได้ตั้งแต่มนุษย์เริ่มรู้จักความเป็นผู้ใหญ๋ และไม่ยาก คนธรรมดาที่ยังไม่ได้ดำเนินในมรรค ก็มีองค์ในส่วนนี้แล้วโดยมาก เมื่อเขาหมุนมาดำเนินในมรรค จึงมักมีที่จะต้องทำเพิ่มเติมเพียง ๕ องค์เท่านั้น
๖. พยายามชอบ นี้เป็นส่วนใจที่บากบั่นในอันที่จะก้าวหน้าไม่ถอยหลังจากทางดำเนินตามรรค ถึงกับมีแรงอธิษฐานอย่างแรงกล้า
๗. ระลึกชอบ คือระลึกแต่ในสิ่งที่เกื้อหนุนแก่ปัญญาที่จะแทงให้ตลอดอวิชชาที่ครอบงำตนอยู่ โดยเฉพาะได้แก่กายนี้และธรรมอันเนื่องกับกายนี้ เมื่อพบความจริงของกายนี้ อวิชชาหรือหัวหน้าหมู่แห่งมูลทุกข์ก็สิ้นไป
๘. ความตั้งใจมั่นชอบ ได้แก่สมาธิ เป็นของจำเป็นในกิจทุกอย่าง สำหรับในที่นี้ เป็นอาการของใจที่รวมกำลังเป็นจุดเดียว กล้าแข็งพอที่จะให้เกิดปัญญา ทำการแทงตลอดอวิชชาได้ และยังเป็นการพักผ่อนของใจซึ่งเป็นเหมือนการลับให้แหลมคมอยู่เสมอด้วย
ทั้งสามองค์นี้ จัดเป็นพวกสมาธิ เรียก "สมาธิสิกขา" หรือ "จิตตสิกขา" ที่เป็นฝ่ายโลกก็ย่อมเห็นมีการใช้คุณธรรมเหล่านี้อยู่ทั่วไป ที่เป็นฝ่ายธรรมโดยเฉพาะขั้นสูง จำเป็นจะต้องหลีกออกบำเพ็ญในที่สงัด เพื่อความสะดวกและสำเร็จได้รวดเร็ว
การปฏิบัติธรรม โดย พุทธทาสภิกขุ หน้า ๒๕-๒๖
ภาพ มะพร้าวนาฬิเกร์ กับ เรือนพักชายในดงโมกและยาง ตีนเขาพุทธทองริมสระนาฬิเกร์ สวนโมกข์ไชยา เมื่อ ๒๗ พค.๕๙