การพระศาสนา
- Details
- Written by Super User
- Category: งานศาสนา
- Published: 28 September 2016
- Hits: 1404
Depend on Siam Monks
สยามจะงดงาม ก็ด้วยการปฏิบัติของภิกษุในสยาม !
(bunchar.com การพระศาสนา 20160928_1)
อย่าลืมว่า พุทธศาสนา คือ ปริยัติ ปฏิบัติ และ ปฏิเวธ ขาดไปอย่างใดอย่างหนึ่งยังไม่เรียกได้ว่าพุทธศาสนาที่แท้
พุทธศาสนาตัวจริงไม่ใช่มีความหมายเท่าคำแปล คือ "พุทธศาสนา = คำสอนของพระพุทธเจ้า" พุทธศาสนาตัวจริง คือ ตัววิชชาที่สามารถทำลายอวิชชา อันเกิดขึ้นจากการปฏิบัติธรรม !
ในบาลีมหาโคสิงคสาลสูตร มัชฌิมนิกาย กล่าวถึงพระมหาสาวกหลายรูปสนทนากันด้วยกระทู้ว่า ป่าโคสิงคสาลวันจะชื่อว่าเป็นป่าที่งามเพราะมีภิกขุชนิดไหนอาศัยอยู่ ? ท่านพระอานนท์ตอบว่า เพราะมีภิกษุผู้พหูสูต, ท่านพระเรวัตตอบว่า เพราะว่ามีภิกขุผู้ยินดีในการหลีกเร้น, ท่านพระอนุรุทธะตอบว่า เพราะมีภิกขุผู้มีทิพจักขุญาณ ท่านพระมหากัสสปะตอบว่า เพราะมีภิกขุผู้ถือธุดงค์และถึงพร้อมด้วยธรรมขันธ์ห้า ท่านพระมหาโมคคัลลานะตอบว่า เพราะว่ามีภิกขุผู้สามารถโต้ตอบอภิธรรมไม่ติดขัด ท่านพระสารีบุตรตอบว่า เพราะมีภิกขุผู้สามารถเข้าอยู่วิหารสมาบัติได้ตามต้องการ (ชำนาญสมาบัติ)
เมื่อต่างท่านต่างตอบดังนี้ก็พากันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเพื่อขอให้ทรงพิพากษ์ว่าคำของใครเป็นสุภาษิตกว่า
พระพุทธองค์ตรัสว่า "คำของพวกเธอทั้งหมดเป็นสุภาษิตได้โดยปริยาย แต่พวกเธอจงฟังคำของเราบ้าง ดูก่อน สารีบุตร ภิกขุในธรรมวินัยนี้ เวลาหลังจากอาหาร กลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า หวังว่า 'จิตของเรายังไม่พ้นจากอาสวะเพียงใด เราจักไม่เลิกถอนการนั่งคู้บัลลังก์นี้ เพียงนั้น' สารีบุตร ! ป่าโคสิงคสาลวันงดงามด้วยภิกขุเช่นนี้แล"
พระบาลีพุทธภาษิตนี้ แสดงว่าสาวกผู้จะทำสถานที่ประเทศใดประเทศหนึ่งให้งามนั้น ได้แก่ภิกษุผู้บากบั่นในการปฏิบัติ และผู้อาจยังสถานที่ที่ตนเข้าอยู่อาศัยให้งาม ก็ได้แก่ผู้งามนั่นเอง เพราะผู้ไม่งามหาอาจทำผู้อื่นให้งามได้ไม่ - หมายถึงงามโดยธรรม.
ปริยัติ งามในเบื้องต้น
ปฏิบัติ งามในท่ามกลาง
และ ปฏิเวธในที่สุด !
ที่มา การปฏิบัติธรรม โดย พุทธทาสภิกขุ หน้า ๗๔-๗๕
ภาพ บิณฑบาตหน้าพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ครั้งที่ ๑๐๓ เมื่อเช้าวันที่ ๒๕ กย.๕๙