บัญชาชีวิต
- Details
- Written by Super User
- Category: บัญชาชีวิต
- Published: 06 June 2016
- Hits: 1891
Send a Young Lady @ Chumporn
Then Discover Tien-Sun & Pan-pan
ส่งสาวน้อยที่ชุมพร
แล้วตามรอยหาเตี้ยนซุนและพันพัน
(bunchar.com บัญชาชีวิต, เพื่อแผ่นดินเกิด:ประเทศไทย 20160531)
เมื่อคืนวันที่ ๒๘ ที่กำลังสวดมนต์ภาวนาที่ทีปภาวัน ผมได้รับสายด่วนจากเขาสามแก้ว ว่าลูกสาวจากไปเสียแล้ว หากพี่ว่าง อยากให้มาร่วมส่งด้วย
คืนวาน พอมีจังหวะ จึงแว่บลงไปชุมพรตอนเย็น เพื่อส่งหลานสาวคนนี้ที่มีอายุ ๑๖ กำลังเรียนอยู่ รร.ศรียาภัย แล้วประสบอุบัติเหตุจักรยานยนต์ที่หน้ากองบินสุราษฎร์กับเพื่อนอีกคนที่ยังนอนในโรงพยาบาล เพื่อเป็นกำลังใจแก่คนที่ยังอยู่ว่าเธอมีบุญอยู่กับเราได้เท่านี้ จงทำปัจจุบันนี้ให้ดีที่สุด
ตะกี้บินกลับมา กทม.ฟ้ากำลังสวย ไล่ขึ้นมาตั้งแต่สนามบินชุมพรที่ปะทิว ซึ่งเต็มไปด้วยสวนยางและปาล์มน้ำมัน ก่อนที่จะเห็นชายฝั่งทะเลชุมพรตอนบนที่ต่อกับประจวบฯ โดยมีเมฆไล่เข้ามา ไกลออกไปไม่เห็นอีกฟากฝั่งของคอคอดกระ และ แดนพม่าที่มีเทือกเขากั้นอยู่ จนถึงอ่าวประจวบ จึงเห็นเส้นทางพุ่งตรงสู่ด่านสิงขรที่ซอกเขา ต่อด้วยเขาสามร้อยยอดที่ริมทะเลแล้วเมฆมาก ผมเองก็เพลินอ่านหนังสือผ่านปราณ หัวหิน ชะอำ เพชร จนดูอีกที ถึงปากน้ำท่าจีน เห็นปากน้ำแม่กลองอยู่ลิบ ๆ แล้ว
เครื่องบินเลียบน้ำท่าจีนที่คดเคี้ยวขึ้นไปเรื่อย ๆ ยังกะจะไปให้ถึงจินหลินที่ถูกฟูนันตีเป็นที่สุดท้าย แล้วเครื่องก็เลี้ยวให้ดูพุทธมณฑลเต็ม ๆ โดยไม่เห็นพระปฐมเจดีย์ รวมทั้งจานบินธรรมกาย แต่เห็นสถานีรถไฟฟ้าบางบัวทองกับ ๒ ห้างยักษ์ที่มาตั้งขายวัสดุก่อสร้างกลางทุ่ง ก่อนที่จะข้ามโค้งเจ้าพระยา มาข้ามหลายสายถนนและทางรถไฟ สู่วิภาวดีรังสิต ทุ่งและคลองรังสิตที่เต็มไปด้วยบ้านและรถกำลังติดต่อเนื่องมาจากฝนตกหนัก
ถึงหอฯ ดอกเขาแกะและกาเรการ่อนกำลังบาน
การนั่งเครื่องใบพัดจากชุมพรเลียบด้ามขวานมาถึงก้นอ่าวและเข้ากรุงเทพรอบนี้ พอดีกำลังทบทวนอีกเรื่อง ว่าด้วย "เมืองโบราณ" ในละแวกนี้ ถึง เตี้ยนซุน และ พันพัน จึงขอเอามาอ่านเล่น เผื่อว่าใครจะตาดีเจอได้ครับ
๓๑ พค.๕๙
“ขณะนั้น พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองอยู่ในฟูนัน ราชทูตจีนได้เข้ามายังฟูนันระหว่าง พ.ศ.๑๐๗๘-๑๐๘๘ เพื่อขอให้พระราชารวบรวมคัมภีร์พุทธศาสนาประทานให้ พร้อมทั้งส่งพระภิกษุไปจีน จน พ.ศ.๑๐๘๙ พระเจ้ารุทรวรมันจึงได้ส่งพระปรมารถหรือคุณรัตนะ ชาวเมืองอุชเชนีในอินเดีย ซึ่งขณะนั้นพำนักอยู่ในฟูนัน เดินทางไปจีนโดยขึ้นฝั่งที่เมืองกวางโจว (กวางตุ้ง) และเดินทางไปเมืองนานกิง พร้อมทั้งนำพระคัมภีร์ไปด้วย ๒๔๐ ผูก และท่านคุณรัตนะก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากจักรพรรดิอู่ตี้แห่งราชวงศ์เหลียง ส่วนความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างฟูนันกับอินเดีย ก็มีข้อมูลอยู่ในจดหมายเหตุจีนช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ซึ่งกล่าวว่าพระเจ้าฟันจันได้ส่งพระญาติองค์หนึ่งไปยังอินเดีย คณะทูตฟูนันแล่นเรือขึ้นไปตามแม่น้ำคงคาจนถึงราชธานีของราชวงศ์มุรุณฑะ พระราชามุรุณฑะได้ต้อนรับคณะทูตอย่างดีและมอบม้าพันธุ์อินเดียซิเถียน ๔ ตัว มาถวายพระราชาฟูนัน พร้อมทั้งส่งชาวอินเดียให้ร่วมเดินทางกลับมายังฟูนันด้วย” ทั้งนี้นักวิชาการส่วนใหญ่สันนิษฐานว่าอาณาจักรฟูนันมีอาณาบริเวณอยู่ที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของกัมพูชาและเวียตนามในปัจจุบัน โดยในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๘ เอกสารจีนสมัยราชวงศ์เหลียงบันทึกว่ากองทัพเรือของพระเจ้าฟันซิมันแห่งอาณาจักรฟูนันผู้สืบทอดอำนาจจากพระเจ้าพันพัน มีอำนาจมาก “พระองค์ได้ปราบปรามอาณาจักรใกล้เคียงและทรงดำรงตำแหน่งเป็นมหาราชแห่งอาณาจักรฟูนัน พระองค์ทรงสร้างกองทัพเรือและยกกองทัพเรือไปปราบปรามอาณาจักรอีก ๑๐ กว่าแห่ง เป็นต้นว่า อาณาจักรฉูตูคุน (Chu-tu-kun) จิวจิ (Chiu-chih) และ เตียนซุน (Tien-sun) พระองค์ได้ขยายอาณาจักรออกไปราว ๕,๐๐๐ หรือ ๖,๐๐๐ ลี้ (๑ ลี้ เท่ากับราว ๕๗๖ เมตร) หลังจากนั้นพระองค์ก็ยกกองทัพไปโจมตีจินหลิน (Chin-lin)”
อาณาจักรที่ถูกกำราบในครั้งนั้น เท่าที่มีการศึกษาค้นคว้าแล้วถึงขณะนี้ อาทิ ‘ตุนซุน’ หรือ ‘เตียนซุน’ ที่หนังสือ Nan-chou-i-wu-chih สมัยพุทธศักราชที่ ๘ ระบุว่าเป็นบ้านเมืองอิสระ ตั้งอยู่ “ห่างจากชายแดนทางใต้ของฟูนันมากกว่า ๓,๐๐๐ ลี้ ... ตั้งอยู่ที่ฝั่งมหาสมุทร มีเนื้อที่ ๑,๐๐๐ ลี้ เมืองอยู่ห่างทะเล ๑๐ ลี้ มีกษัตริย์ปกครอง ๕ พระองค์ ชายแดนตะวันออกคือ Chiao-chou (ตังเกี๋ย) ทางตะวันตกคือ Tien-chu (อินเดีย) และ An-hsi (ปาร์เธียน) นานาประเทศต่างเข้ามาค้าขาย ด้วยตุนซุนตั้งอยู่ที่อ่าวใหญ่โค้งและมีแหลมยื่นไปในทะเลกว่า ๑,๐๐๐ ลี้ เรือสำเภาแล่นตัดผ่านโดยตรงไม่ได้ ตลาดแห่งนี้มีพ่อค้าจากตะวันตกและตะวันออกทำการค้าขายทุกวัน สินค้ามีค่าและหายากไม่ว่าจะชนิดใดก็สามารถหาซื้อได้จากที่นี้ นอกจากนี้ยังมีต้นไม้ที่คล้ายกับต้นทับทิมโดยนำน้ำที่คั้นจากดอกของต้นไม้นั้นมาบรรจุในไห ๒-๓ วันก็จะได้ไวน์” โดยนักวิชาการส่วนใหญ่สันนิษฐานว่าน่าจะตั้งอยู่บนคาบสมุทรไทย-มลายูแถบคอคอดกระ บริเวณใดบริเวณหนึ่ง ไล่ลงมาตั้งแต่พงตึก มอญโบราณ มะริด ทวาย ตะนาวศรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ถึงสงขลาและปัตตานี
อีกเมืองหนึ่งคือ ‘พันพัน’ (Pan-pan) ซึ่งพงศาวดารจีนสมัยราชวงศ์เหลียงกล่าวถึงว่ามีความสัมพันธ์กับฟูนันในฐานะที่เป็นทางผ่านของพระเจ้าโกณฑินยะจากอินเดียไปครองฟูนัน และพันพันเคยส่งบรรณาการจำพวกไม้หอมนานาชนิดถวายแด่จักรพรรดิจีน ว่า “อาณาจักรพันพันเริ่มมีความสัมพันธ์กับจีนในสมัยราชวงศ์เหลียง ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะใหญ่ที่แยกจากหลินอี้ (จามปา) ด้วยทะเลเล็ก จาก Chiao-chou (ตังเกี๋ย) ไปถึงพันพผันได้โดยเรือประมาณ ๔๐ วัน พระราชามีนามว่า Yang-li-chih พระบิดาของพระองค์มีนามว่า Yang-te-wu-lien แต่ลำดับเหนือขึ้นไปกว่านี้ไม่อาจทราบได้ ประชาชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ริมน้ำและภายในกำแพงเมืองที่ทำจากไม้ พระราชาประทับบนบัลลังก์มังกร มีขุนนางนั่งคุกเข่าประสานมืออยู่ที่หัวไหล่”
“มีพราหมณ์ในประเทศนี้จำนวนมากที่มาจากอินเดีย พวกเขาได้รับการยกย่องจากพระราชา ขุนนางชั้นสูงมีชื่อตามนี้ Po-lang-so-lan, Kun-lun-to-yek, Kun-lun-po-ho, Kun-lun-po-ti-so-kan, ในภาษาพื้นเมือง Kun-lun และ Ku-lang ออกเสียงคล้ายกัน ผู้ว่าราชการจังหวัดเรียกว่า Na-yen ซึ่งคล้ายกับ Tzu-shih และ Hsien-ling ของจีน ลูกศร ใช้ด้ามเหล็กมีปลายด้ามเป็นหินแหลม มีวัดอยู่ ๑๐ แห่ง เป็นที่ที่ภิกษุและแม่ชีศึกษาพระธรรม พวกเขาฉันเนื้อทุกสิ่ง แต่ไม่ดื่มเหล้า และยังมีวัดที่มีนักบวชไม่ฉันเนื้อและไม่ดื่มเหล้าด้วย พวกเขาศึกษาเรื่องอสูรราช แต่ไม่ยกย่องนับถือนัก นักบวชในพุทธศาสนา เรียกว่า Pi-chiu หรือเรียกว่า Tan”
“ในรัชศก Yuan-chia (พ.ศ.๙๖๗-๙๙๖) รัชศก Hsiao-chien (พ.ศ.๙๙๗-๙๙๙) และรัชศก Ta-ming Zพ.ศ.๑๐๐๐-๑๐๐๗) ในสมัยราชวงศ์ซุ่ง พันพัน ส่งบรรณาการไปราชสำนักจีน ในปีที่ ๑ และ ปีที่ ๔ แห่งรัชศก Ta-tung แห่งราชวงศ์เหลียง (พ.ศ.๑๐๗๐-๑๐๗๓) พระราชาพันพัน ส่งบรรณาการไปดังนี้ พระทันตธาตุ สถูปเขียนสี และน้ำหอม ๑๐ ชนิด หกปีให้หลัง (พ.ศ.๑๐๗๙) ก็ส่งบรรณาการเป็นพระธาตุ สถูปิกะเขียนสี ใบโพธิ์ ขนมหวานชั้นดี และน้ำหอม ในรัชศก Tayeh (พ.ศ.๑๑๔๘-๑๑๖๐) สมัยราชวงศ์สุย คณะทูตพันพันก็จัดส่งบรรณาการไปยังราชสำนักจีนอีก”
นักวิชาการส่วนใหญ่มีความเห็นพ้องว่าพันพันนั้นตั้งอยู่ที่อ่าวบ้านดอน แถบอำเภอไชยาและพุนพิน ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี สอดคล้องกับพงศาวดารราชวงศ์ถังที่ระบุว่าพันพันตั้งอยู่ทางทิศใต้ของโถเหอหลัว (To-ho-l0 / Tu-ho-lo) มีอาณาเขตติดกับหลางยะซิ่ว หรือ ลังกาสุกะ ที่สันนิษฐานว่าอยู่ที่บริเวณจังหวัดปัตตานี โดยมีการขยายการสันนิษฐานขอบเขตของพันพันว่าอาจครอบคลุมอีกหลายพื้นที่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลาและพัทลุงด้วย ทั้งนี้หากลองออกเสียงชื่อชั้นตำแหน่งต่าง ๆ ของพันพันสมัยโบราณเมื่อพันห้าร้อยปีที่แล้วตามที่จีนบันทึกไว้ จะยิ่งพบความพ้องอย่างเหลือเชื่อ เช่น พ่อหลวง-(Po-lang) ขุนหลวง (Kun-lun) นาย (Na-yen) ภิกษุ (Pi-chiu) และ ท่าน (Tan)