logo_new.jpg

อีกสุดยอดฮูปแต้มใน "อีกวิหารเขียน" แห่งเมืองนคร
เหมาะสำหรับคอธรรม นักสู้ และ คอนเท็มฯ อาร์ต
ที่วัดป่ายาง หน้าราชภัฏเมืองนคร

ตามที่เล่าว่าเมื่อวานนี้ ปริทรรศน์ หุตางกูร 
ที่เปิด Art Club กับ "บาร์จำเป็น" อยู่ที่แถวยวนแหล-บ้านตาล
บอกให้ผมหาโอกาสไปดูจิตรกรรมฝาผนังที่วัดป่ายาง
ที่ทุ่มเทวาดมากว่า ๔ ปีจนแทบหมดกำลัง

"ผมตั้งใจให้คนดูรู้ทั้งพุทธประวัติและหัวใจพระพุทธศาสนา"

ผมก็เลยชวนกันเลยไปดู

วัดป่ายางนี้เป็นวัดชนบท ตั้งอยู่กลางชุมชนชาวสวนผลไม้สลับยาง ในซอยเล็กตรงข้ามมหาวิทยาลัยราชภัฏเมืองนคร เชิงเขามหาชัยในตำบลท่างิ้ว อ.เมือง มีท่านสุวรรณ คเวสโก พระนักพัฒนาและต่อสู้ มาครองเป็นเจ้าอาวาสหลายสิบปีแล้ว ผมรู้จักและร่วมงานกับท่านมานาน เป็นศูนย์เรียนรู้สารพัด โดยเฉพาะเรื่อง "ปุ๋ยเกษตรอินทรีย์" เคยถามว่าทำไมท่านถึงได้มาบวช จำได้เลา ๆ ว่า เคยเข้าป่าต่อสู้เพื่อชาติแล้วพบว่าไม่ใช่ กลับออกมาพบงานท่านอาจารย์พุทธทาส ก็เลยเห็นว่าใช่แล้ว บวชมาแต่นั้น มุ่งหวังเปลี่ยนแปลงพัฒนาชาติต่อเนื่อง โดยมุ่งการพัฒนาชีวิตเศรษฐกิจชาวบ้าน ซึ่งผมเองนั้นรู้สึกว่า ชาวบ้านก็สนใจเข้าร่วมมาก แต่ว่าสนใจเอาแต่เรื่องเศรษฐกิจ ไม่เอาธรรมกันเท่าไหร่ กราบบอกท่านเสมอ ๆ ว่าผมเองสู้ท่านไม่ได้ ขอไปทำงานที่เน้นธรรมเป็นหลักมากกว่า จนมาถึงทุกวันนี้

วัดป่ายางวันที่แวะไป ท่านไม่อยู่ ชาววัดบอกว่าไปประชุมงานพัฒนาที่ชุมชนไหนสักแห่ง ให้เปิดพระอุโบสถดูเอาได้เลย ซึ่งก็เหมือนเคย ขาใหญ่ร่วมสร้างคือ ป้าสุมน-คุณวิทยารัตน์ ธรรมสุนทร ที่ฐานพระประธานเขาทำเป็นครุฑแบกรูปคุณแกะไว้เท่ห์ดี

แต่ที่ "ลายตา" และ "น่าสนุก" ที่สุด คือรูปวาดฝาผนัง
Contemporary Art ของ PARITAS 
ด้านซ้ายเป็นพุทธประวัติ ด้านขวาเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา

เช้านี้ขอชวนดูพุทธประวัติกันก่อนนะครับ มันมาก ๆ
อยากมันด้วยก็ ดูและอ่านกันเอาเองให้ครบทั้ง ๒๒ ห้องนะครับ

เริ่มตั้งแต่ (๑) ทรงประสูติ ผมชอบเสือดาวที่ซุ่มอยู่
(๒) ศึกษาเล่าเรียน ก็เอาดอกทานตะวันมาแทรกไว้สวยดี 
(๓) เสด็จประพาสนคร ก็โชว์เทวทูตทั้ง ๔ แบบเต็ม ๆ
พอภาพออกบวช (๔) สงสัยเหมือนกันว่าทำไมต้องเป็นกอยาหนัด
ส่วนตอนบำเพ็ญเพียร (๕) หนามที่ทรงนั่งก็เหลือประมาณ
(๖) พระอินทร์ดีดพิณ ผมเฉย ๆ
(๗) ภาพนางสุชาดาถวายข้าวนั้น ผมติดใจภาพบ่าวถวายทุเรียน แถมอยู่ใต้ต้นสะตอเสียด้วย ในขณะที่ปัญจวัคคีย์ที่ทิ้งพระองค์ไปก็ช่างทำเป็น เท่ง ทอง แก้ว หนูนุ้ย ฯลฯ
(๘) ภาพตรัสรู้นี้ไม่เหมือนที่ไหน ยกหัวใจคือ สัจญาณ กิจญาณ และ กตญาณ มานำเสนอแบบเต็ม ๆ เตือนว่างานธรรมนี้ รู้แล้วต้องทำจึงจะได้รับผล
(๙) ดอกบัวสี่เหล่า เน้นให้ดูดอกที่เต่ากะปลากำลังจะกิน คงหวังให้คนดูได้คิด รีบหลุดออกจากปากเต่าปากปลาให้ทันท่วงที
(๑๐) ปฐมเทศนาทำเป็นพระพุทธองค์ ๖ กร หมุนล้อธรรม มรรค ๘ และนำวรรคแรกของธัมมจักรฯ มาระบุ เรื่อง "อย่างหลงสุข" และ อย่ายึด "ทนทุกข์" แต่ให้อยู่ "สายกลาง" จน ๕ สาวกดวงตาเห็นธรรม
(๑๑) ต่อด้วยอนัตตลักขณสูตร ที่สาวกทั้ง ๕ ออกบวชแล้ว ถึงขั้นทยอยบรรลุธรรมจากบทนี้ ที่ทำเป็นภาพอาการคู่ "สุข-ทุกข์"" "ได้มา-หลุดลอย" และ "อัตตา-อาพาธ" อย่างชวนคิด
(๑๒) ภาพโปรดยสกุลบุตรนั้น น่าดูมาก ผมชอบรูปยสและเพื่อน ๆ ที่เขียนเป็นเสเพลชนจนมาพบพระพุทธเจ้า
(๑๓-๑๔) เป็นวัดเวฬุวันและการเริ่มประกาศธรรมในกรุงราชคฤห์
(๑๕) ภาพประกาศโอวาทปาฏิโมกข์ ก็ช่างแสดงครบทั้ง "หลัก ๓ อุดมการณ์ ๔ วิธีการ ๖" ที่ถือเป็นพื้นฐานของชาวพุทธ แต่ดูเหมือชาวพุทธทั้งเพแม้กระทั่งพระ (จำนวนไม่น้อย) ก็ไม่ค่อยถือและทำกันสักเท่าไหร่
(๑๖-๑๙) ภาพเสด็จโปรดพระญาติวงศ์ในกรุงกบิลพัสดุ์ทั้ง ๔ รูปสวยมาก ผมชอบทั้งภาพพระราหุลขอบวช พระนางพิมพากำลังสยายผมเพื่อออกบวช รวมทั้ง ๕ ศากยบุตรที่ตามออกบวช
(๒๐) ภาพช้างนาฬาคีรีที่เทวทัตมอมเหล้าให้มาเหยียบพระพุทธองค์แต่ทรงห้ามได้แล้วเทวทัตถูกธรณีสุบนั้น คล้ายกับตั้งใจให้อยู่ใกล้ตา นายช้างถือพร้า นุ่งผ้าลายตาคือใคร ผมจำไม่ได้ ไม่ดูดูหนังตะลุงนานแล้ว
(๒๑-๒๒) ๒ ภาพพุทธปรินิพพาน อยู่ในสุด จบเพียงเท่านี้

 

แล้วตามไปดูนะครับ
ว่างแล้วจะเอาอีกด้านมาให้ได้ดูกัน
"หนุกหนาน" กว่าด้านนี้อีกมากมาย

Joomla templates by a4joomla
rtp slot https://www.sidiap.org/rtp-live-slot//