บัญชาชีวิต
- Details
- Written by Super User
- Category: คุยกับหมอบัญชา
- Published: 01 April 2016
- Hits: 1245
การศึกษาว่าด้วยเทคนิควิธี
ของลูกปัดหินสีเขียนลายที่แสนซับซ้อน
และยังไม่ได้คำตอบตรง ๆ แต่บางท่านอาจเห็นราง ๆ
อ.เอียน และ ดร.เบเรนิซ เริ่มด้วยการหยิบยกงานการศึกษาของ Frazer, S and A. เมื่อปี ๑๙๘๑ และ ๑๙๙๒ ที่ระบุว่า "ทั้ง ๆ ที่การตกแต่งด้วยการเขียนลายลูกปัดคาร์นีเลียนและอะเกตจะพัฒนาขึ้นในเอเซียใต้ตั้งแต่เมื่อ ๔,๐๐๐ ปีก่อน แต่ก็ไม่เป็นที่รู้จักในแวดวงคนนิยมงานหัตถศิลป์โบราณคลาสสิคจนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ที่เพิ่งเริ่มมีงานในเยอรมัน ที่สถาบัน Idar-Oberstein ที่รู้ถึงวิธีการผลิต
ดร.เอียนเป็นหนึ่งในผู้พยายามแรก ๆ ที่ทำการวิเคราะห์หาถ่านคาร์บอนและเกลือโซเดียมในลูกปัดรวมทั้งในเนื้อที่เป็นลาย (etching medium) ด้วยเครื่องสแกนจุลทรรศน์อิเล็กตรอน วิเคราะห์ EDAX แต่ไม่ได้ผลอะไรด้วยถ่านและเกลือทั้งสองนั้นเบาบางเกินที่จะวิเคราะห์ได้ด้วยวิธีนี้ แต่ด้วยภาพถ่าย SEM ยังพอให้เห็นผิวลายเส้นอย่างน่าสนใจและจะอธิบายต่อไป
ขณะเดียวกันนั้นคณะนักวิชาการที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติฟินแลนด์ และ อังกฤษ ซึ่งพยายามศึกษาวิเคราะห์ทำนองเดียวกันก็ได้ผลไม่ต่างกัน โดยของทางฟินแลนด์นั้นศึกษา "ลูกปัดคาร์เนเลียนเขียนลาย-painted carnelian" จาก Yoktan ที่เตอร์กีซ์สถานตะวันออก ที่รายงานว่า "โซเดียมคาร์บอเนตสามารถทำให้เกิดลายบนผิวควอร์ทซ์ให้เห็นเป็นร่องรอยที่เมื่อลำแสงตกกระทบจะทำให้เห็นเป็นสีขาว" โดยคณะศึกษาได้ขูดเอาผิวที่ขาวของลูกปัดที่แตกมาทำการวิเคราะห์ X-ray diffraction แล้วเปรียบเทียบกับส่วนอื่น กลับไม่พบความแตกต่างใด ๆ รวมทั้งไม่พบโซเดียมแม้แต่น้อยในเนื้อผิวที่ขูดมา แต่ที่พบคือพบว่าโซเดียมคาร์บอเนตนั้นเมื่อทำปฏิกิริยากับควอร์ทซ์จะก่อให้เกิด "ชั้นแก้ว" ขึ้นบนผิว เมื่อขัดหรือผ่านการฟอกเมื่อถูกฝังในดินนาน ๆ ก็เห็นรอยลอกของโซเดียม ซึ่ง Tite ที่บริติชมิวเซียมได้ทำการศึกษาต่อในห้องปฏิบัติการวิจัย และรายงานในปี ๑๙๘๖ ว่าเมื่อเขาดูผิวที่ถูกขัดแล้วของลูกปัด Indian Etched Carnelian ที่แตกแล้วพบว่าบริเวณที่ "มีลายเขียน-etched area" มีลักษณะเฉพาะคือ "มีรูพรุนเล็ก ๆ เต็มไปหมด" ขนาดประมาณเส้นผ่าศูนย์กลาง ๐.๕ Mu และลึกลงไปจากผิวประมาณ ๒๐๐-๓๐๐ mu ในขณะที่บนผิวที่ "มีลายเขียน" ก็พบมีชั้นไม่สม่ำเสมอบาง ๆ หนาประมาณ ๒๐ Mu ที่มีความหนาแน่นของรูพรุนน้อยกว่าอย่างมีนัยยะสำคัญ
ทั้งนี้ จากการศึกษาด้วย SEM เพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบธาตุซึ่งมีขีดจำกัดที่ประมาณ ร้อยละ ๐.๕ แล้วไม่พบทั้งโซดาและโปแตซในบริเวณที่ "มีลายเขียน-etched areas" และ Tite ได้สังเกตุเห็นว่า "ผลจากการทำให้เกิดลาย (etching) นี้เองที่ทำให้เกิดรูพรุนเป็นร่างแหไปทั่วจากกระบวนการละลายของซิลิก้าจากผลึกของผลึกน้อย ๆ-microcrystalline ของควอร์ทซ์ที่มารวมกันเมื่อครั้งก่อตัวเป็นหินคาร์นีเลียน (กรุณาอ่านช้า ๆ นะครับ กระบวนการมันซับซ้อนมาก ๆ-บัญชา)
เขาระบุว่า "ร่างแหแห่งรูพรุนน้อย ๆ" นี้นี่เองที่สะท้อนส่งแสง "สีขาว" ออกมา ทั้งนี้เขาแสดงด้วยภาพที่ยกมาให้ดูนี้ที่ถ่ายด้วยกล้อง Scanning electron microscope ของ Department of Scientific Research แห่ง British Museum โดย Tite ให้เห็น "ผิวขัดบาง ๆ บนเส้นสีขาวของลูกปัดอินเดียสมัยก่อนประวัติศาสตร์" ที่ Tite ระบุว่า "รูปพรุนบนผิวชั้นล่าง ๆ อาจจะเกิดจากการอัดดันจากการขัดผิวหลังการทำให้เกิดลาย" ซึ่งมีข้อแย้งจาก ดร.เบเรนิซ ว่าลูกปัดเขียนลายในเอเซียอาคเนย์ที่เธอได้ศึกษา พบที่มีการขัดหลังการเขียนลายน้อยมาก
อ่านยากไหมครับ ?
นี่ยังไม่ตอบอะไร แต่หลายท่านอาจจะทั้งแย้ง
และอาจจะพอเห็นคำตอบที่ว่าทำไมถึงมีรอยแตกกะเทาะราง ๆ แล้วนะครับ