logo_new.jpg

รัก(ษ์)วลัยลักษณ์ ... เหลือเกิน ... ได้เวลาฉลองกันไหม ?
สุดท้ายผมก็ขอแวะเข้าไปเวียนดูมา ๓ รอบเมื่อไม่กี่วันนี้

วันนี้ พรบ.มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้รับการลงพระปรมาภิไธยครบรอบปีที่ ๒๔ ก้าวเข้าเบญจเพศพอดีหากเป็นคน ส่วนมหาวิทยาลัยอาจเรียกว่าจวนจะ Silver Cerebrate กันแล้ว

ผมนั้นแต่เดิมที่มีการรณรงค์ตั้งมหาวิทยาลัยที่เมืองนครก็พลอยยินดีในฐานะคนนครแต่ไม่ได้เข้าร่วมด้วย ยิ่งเห็นกระบวนการที่ทำทุกท่า แม้กระทั่งนัดชุมนุมใหญ่ "ขอให้นายทหารใหญ่ที่ไม่ค่อยปลิ้ม" ไปออกเดชกับรัฐบาลด้วย ยิ่งอยากอยู่ห่าง ๆ จนกระทั่งหลังนายทหารคนนั้นถูกปลด และ พรบ.มวล,ถือกำเนิด และปล้ำกันมาระยะหนึ่งจนมีแผนจัดตั้งชัดเจน ดูท่าว่ายุ่งยากหลายอย่าง

ตอนนั้นเกิดกรณี พค.๓๕ ที่ผมหน่ายระบบราชการถึงที่สุด โดยเฉพาะ "ได้รัฐบาลน่ารังเกียจมาเป็นผู้บังคับบัญชา แล้วบอกว่าข้าราชการต้องทำตามสั่ง" ก็เลยยื่นเรื่องขอลาออกจากราชการ ทั้ง ๆ ที่ถูกเลขานายกคนนั้นเชิญเป็นที่ปรึกษานายกฯ แบบโทรหาขณะที่ผมกำลังชุมนุมขับไล่ที่สนามหลวงเสียด้วย

พอดีรัฐบาลนั้นล้ม ผลการลาออกยังไม่ทันเป็นจริง กับอยากเป็นครูเป็นอาจารย์ ก็เลยยื่นขอโอนไปอยู่ราชภัฏ ไม่เคยคิดมาวลัยลักษณ์ ทำเอาวงการครูสงสัยว่าหมอนี่คิดอะไรอยู่ เพราะมีแต่คนอยากเป็นหมอ นี่เป็นหมอแล้ว (เสือก) จะมาเป็นครู

จำได้ว่าวันหนึ่ง คณะกรรมการรณรงค์ฯ เรื่องมหาวิทยาลัย จัดชี้แจงความคืบหน้ามหาวิทยาลัยที่ห้องุสุพรรณหงส์ รร.ไทยโฮเต็ล จึงแวะไปฟัง แล้วได้คุยกับ อ.วิจิตร จนเกิดการชวนกันขึ้น ก็เลยได้มาร่วมการจัดตั้ง "วลัยลักษณ์" ที่ตอนนั้น มี อ.พยูร มาลา จากศึกษาธิการ อ.ท่าศาลาเป็นผู้ประสาน (พอเริ่มตั้งระบบ ก็กลับไปเป็นศึกษาธิการอำเภอต่อ) แล้วก็ น้อย อภิญญา โสภากัณฑ์ คนนครที่เป็น จนท.โครงการจัดตั้งมาตั้งแต่ที่ทบวงฯ ถือว่าเป็น จนท.คนแรกสุดของวลัยลักษณ์ (ตอนนี้ทราบว่าลาออกไปนานแล้ว)

แรกสุดที่ไม่มีใครเลยนั้น ผมขอเชิญ "๔ เสือเสรีที่ท่าศาลา" มาร่วมด้วยช่วยกันนำร่อง มี "รังสิต ทองสมัคร-หมอผู้กว้างขวางแห่งท่าศาลา" "บุญเสริม แก้วพรหม-ครูประถมนักอุดมการณ์การศึกษาแห่งท่าศาลา" "มนูญ เชาลิต-นักพัฒนาผู้มุ่งมั่นแห่งท่ศาลา" และ "ศิลปชัย สุหรง-อีกครูมัธยมสายเลือดมุสลิมอุดมการณ์แห่งเมืองท่าศาลา" จนทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง ท่ามกลางการประสานรอบทิศทางกับทุกฝ่าย ตั้งแต่ชุมชน ชาวบ้าน สื่อสารมวลชน พ่อค้าแม่ขาย นักธุรกิจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ข้าราชการ ตำรวจ ทหาร ครูบาอาจารย์ นักเรียนนักศึกษา คนดีคนร้าย คนรักคนก่อกวน รวมทั้งการเมืองทุกระดับ ทั้งประชาธิปัตย์ ทั้งไม่เอาประชาธิปัตย์ งานนี้จังหวัดตั้งนิเวศน์ เกตุชาติเป็นประธานแก้ปัญหาที่ดินไว้และยังส่งคนมาช่วยจัดการด้วยแล้ว พอผมเข้ามาหารือกันแล้วว่าหากอย่างนั้น ยากจะลงเอย ก็เลย ขอ สจ.นก โสภณ สุทิน แห่งประชาธิปัตย์ ให้ส่งสมุนมาช่วยด้วย พร้อมกับขอท่านนายอำเภอ ให้หามือดีอีกสักคนมาเป็นสมุนข้างกายผม (สองคนช่วยงานวลัยลักษณ์จนเกษียณ อีกคนถูกยิงตายด้วยเรื่องส่วนตัวไปหลายปีแล้ว)

จำได้ว่าเราทำงานกันแบบว่า "เพื่อสร้างวลัยลักษณ์ให้สำเร็จ" ถึงตายก็อาจยอมหากสำเร็จ แต่ด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่งยวด จนเสร็จสิ้น และทำงานมาครบ ๑๐ ปี ผมก็ขอตัว เพราะยุ่งยากเหลือเกิน ประกอบกับรู้ตัวว่างานนี้มิใช่ของถนัดและน่าสนุกเสียแล้ว

ถึงวันนี้ที่เฝ้าดูอยู่ข้างนอก ก็พลอยยินดีเสมอเมื่อมีข่าวดี และไม่วายห่วงใยไม่น้อย เมื่อได้ข่าวแปลกแปร่งหลายประการ กระทั่งรอบนี้ที่มีการตัดต้นประดู่ที่ตัวเองมีส่วนมาแต่แรก ก็เลยขอผ่านเข้าไปเยี่ยมดู

วางใจไว้เป็นกลาง ทางเข้าที่เคยมีประดู่ยืนสองข้างว่างโล่ง

ยางใหญ่ที่วางไว้เป็นแถวทางซ้ายมือยังยืนอยู่ แต่ดูไม่ค่อยงามเท่าไหร่ ยางแถวนี้ที่ปลูกมี ๔ เหตุ 
๑ เป็นยางนาเพื่อบบ่งบอกว่าแถบนี้เคยเป็นทุ่งนา 
๒ ตอนเริ่มจะสร้าง พายุฟอเรสต์ลง ก็มโนว่าจะได้เป็นแนวกำบังลม 
๓ น้อมนำแนวพระจริยวัตรพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแบบ เพราะทรงทำแบบอย่างระหว่างทางกลับหัวหิน ทรงลงเก็บพันธุ์ยางเข้าไปปลูกในสวนจิตร หวังให้แถวยางหน้ามอ.นี้เป็นที่น้อมรำลึกถึงพระองค์ท่านด้วยการลงมือทำทันทีอย่างที่พระองค์ทรงทำ 
๔ ตอนนั้นนายกชวนเป็นรัฐบาลแล้วตอนหลังเคยมาคลุกคลีด้วยระยะหนึ่ง (ถึงขนาดให้พวกเราชาววลัยลักษณ์พาเดินป่าขึ้นเขาหลวงกันด้วย ก้าประดู่รุ่นแรกก็ได้ไปจับเข่าคุยกับท่านมาด้วยแล้ว) โดยท่านนิยมยางนาอย่างมาก คุยกันเมื่อไหร่ ฝากปลูกป่ายางนาในวลัยลักษณ์ทุกที

ประดู่ทางซ้ายดูว่าน่าจะทยอยตายมานานจนแทบจะหมดแล้วอย่างเหลือเชื่อว่าดูแลกันมาอย่างไรกัน ?

ถึงอาคารบริหาร เห็นทั้ง "ตราพระนามาภิไธยย่อ ธงชาติ และ เรือนผู้บริหาร" ยังโดดเด่นอยู่กลางแดดร้อน ร่มไม้ไม่รื่น ขึ้นป้ายไว้ว่าจะมีงานวันนี้ ท่านอาจารย์วิวิตรจะปาฐกถาว่าด้วย "ธรรมอัตตาภิบาล" ระบบใหม่นี้น่าสนใจดี อาจจะช่วยวลัยลักษณ์ได้บ้าง

วนรอบใหญ่ไปเขต "เรือนวลัย" ไหงถึงรกและดูร้างทรุดโทรมอย่างนั้น ? รวมทั้ง ที่แถบ "เรือนรับรอง" ด้วย พอถึง "สถานกีฬา" และ "ที่พักนักศึกษา" ดูสดใสน่าอยู่สบายกว่า

วนรอบรอง "เรือนวิชาการและอาคารวิจัย" ดูว่ายังมีชีวิต "เรือนชาวบ้าน" ที่ค้างอย่างไรก็ยังอยู่อย่างนั้น ไม่มีการทำอะไรเลยหรือ ในรอบ ๑๕ ปีที่เราออกมา ? เขต "อาคารปฏิบัติการ" มีอะไรใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร รวมทั้งไม่รู้ว่ายังเป็นไปตามแผนแม่บทไหม ? แต่ที่รู้สึกรืนรมย์สุด ๆ ก็ที่หมู่ "อาคารเรียนรวม" ดูว่าดีและร่วมรืนงดงามอย่างมีชีวิตชีวาน่านิยม

รอบสุดท้ายที่วนเพื่อให้ครบสาม "ตติยัมปิ" ตามวิถีพุทธ คือวนขึ้นไปบนทางลาดอาคารบริหารแล้วรีบวกกลับมาชึ้นสะพานออก ด้วยอยากดู "ต้นประดู่" ที่เพิ่งถูกตัดทั้งแถว

๑) ราบเรียบตลอดแนวทั้งสองฟากฝั่งถนนทางเข้าที่เคยวางไว้ให้เป็นสัญญลักษณ์แห่งวลัยลักษณ์ ด้วย "ร่มประดู่" คงเหลือยืนต้นเป็นระยะของ "ฉำฉา" กับ "แซะ" และมีแซม "อโศกอินเดีย" ที่ในวงการบางคนเรียกอีกชื่อ แต่ผมไม่อยากเอ่ย ณ ที่นี้ด้วยไม่เป็นมงคลนาม

๒) เท่าที่จอดรถและถ่ายรูปจากที่นั่งคนขับ ก็ยอมรับว่าจริงแล้ว "ด้วง" น่าจะลงมาเนิ่นนาน "รา" ก็ควรลงกันมานานเนิ่น เพราะเห็นร่องรอยรูที่ทั้งพรุนและยุ่ย แทรกไปด้วยเนื้อไม้ของ "ประดู่" มหัศจรรย์แสนทนอย่างทายาด พยายามสู้อย่างที่สุดเพื่อการดำรงรอด ก่อนที่จะจบชีวิตเมื่อมหาวิทยาลัยเห็นว่าอย่างนี้จะดีกว่า แล้วค่อยหามาปลูกใหม่

๓) ลองเอาใจเขามาใส่ใจเราบ้าง ว่าหากเป็นเราจะทำอย่างไร ? ในเมื่อหลายสิบปีมา ปล่อยปละกันมาถึงขนาดนี้ แถมมีข้อคิดว่าพันธุ์ที่ปลูกนั้นเป็นประดู่บ้าน ไม่ดีเท่าประดู่ป่าด้วยอีก !!! แต่ก็ไม่วายไพล่คิดว่า นี่ขนาดประดู่ยังดูได้ไม่รอด แล้วจะอะไรได้อีก ?

๔) อันที่จริง ที่เห็นขึ้นเขียวสวยอยู่ชั้นรองออกไปนั้นคือ "ต้นแซะ" ที่กรมป่าไม้ กำหนดให้เป็น "ไม้ประจำจังหวัดมนคร" ที่คนนครไม่ค่อยปลื้มกับชื่อ ก็อาจทดแทนได้ เพราะเป็นไม้ในถิ่นแท้ ๆ ตอนที่พวกเราเข้ามาพัฒนาและก่อสร้าง เห็นขึ้นเต็มไปหมด ก็อาจเอา "เจ้าแซะ" นี้แทนก็อาจจะง่าย แต่อาจต้องหาชื่อใหม่ ไม่งั้นอาจจะ "แซะ" กันไม่เลิก รวมทั้งอีกต้นที่เต็มไปหมด แต่เราก็ไม่อยากให้โดดเด่นด้วยชื่อเช่นกัน อยากรู้ถาม ๆ ดูเอาก็ได้นะครับว่าคือต้นอะไร

ที่เขียนรายงานมาทั้งหมดนี้ด้วยรัก(ษ์) ... วลัยลักษณ์ 
เหลือเกินครับ

 

จะ Silver Cerebrate ปีหน้านี้แล้วนะครับ

 

 

 

 

 

 

Joomla templates by a4joomla
rtp slot https://www.sidiap.org/rtp-live-slot//