บัญชาชีวิต
- Details
- Written by Super User
- Category: คุยกับหมอบัญชา
- Published: 12 October 2016
- Hits: 1735
7
(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด 20161011_7)
เมื่อเช้าวันที่ ๓๐ กันยายน ๕๙ หลังพาคณะหากินเช้ากันเองที่ตลาดสดคูขวางแล้วขึ้นรถพาเที่ยวผ่านย่านคนจีนที่ท่าวัง โบสถ์ฝรั่งเบธเลเฮ็ล์ม ตลาดแขกแยกพะเนียด ลงรถที่หน้ากองกำกับฯ แวะคารวะอนุสาวรีย์ขุนพันธ์ที่ตรงข้ามปากซอยราชเดชแล้วเดินเท้าเข้าซอยไปถึงบ้านท่านขุนที่คุณฐิติพันธุ์ ลูกสาวคนเล็กผู้ดูแลขุนพันธ์กำลังรอพวกเราก่อนจะยกหฺมฺรับไปวัดกัน
บ้านขุนพันธุ์วันนั้นยังเหมือนเมื่อครั้งที่ผมเคยแวะเวียนไปสนทนา สัมภาษณ์เสมอ ๆ ต้นไม้มากมายยังงดงามอยู่อย่างเดิม มีแม้กระทั่งแก้วเจ้าจอมที่น้อยบ้านนักจะมีได้ ม้าหินตัวที่นั่งสมัภาษณ์ก็ยังตั้งอยู่ที่เดิมให้ได้ถ่ายรูปหมู่กัน ขณะที่ในบ้านนั้นก็ยังเดิม ๆ อย่างดีเยี่ยม คุณฐิ บอกว่าขอบคุณมากสำหรับบทสัมภาษณ์ของคุณ๖ขุนพันธ์ที่ผมทำไว้ทั้ง ๒ ตอน เพราะนั่นเป็นบทสนทนาเดียวที่มีอยู่ เพิ่งได้เห็นเพราะมีคนเอามาให้ดู อันที่จริงเมื่อตอนงานศพท่าน ผมก็สำเนาเอาไปให้มาก เผื่อเปิดดูหรือแจกจ่าย แต่เข้าใจว่าคงจะยุ่ง และอาจจะไม่ถึงมือก็ได้
สิ่งเดียวที่เปลี่ยนไปคือ หอสถูปอัฐิของขุนพันธ์ฯ และ คุณแม่ของคุณฐิ ที่เด่นอยู่หน้าบ้าน
จากนั้นจึงพาเดินต่อไปสระล้างดาบศรีปราชญ์ที่อยู่ตรงไหนไม่แน่ แต่สมมุติกันว่าคือสระที่เหลืออยู่มุมโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช เพราะสระอื่น ๆ ซึ่งต่อเนื่องกันนั้นถูกถมกันหมดแล้ว และเชื่อกันว่าสระที่ริมกำแพงตรงหน้าเมืองนี้แหละคือสถานประหารนายคนนี้ โดยผมชวนชี้ให้ทบทวนโคลง
“ธรณีนี่นี้ เป็นพยาน
เราก็ศิษย์มีอาจารย์ หนึ่งบ้าง
เราผิดท่านประหาร เราชอบ
เราบ่ผิดท่านมล้าง ดาบนี้ คืนสนอง
ซึ่งว่ากันว่า เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ทรงทราบว่าศรีปราชญ์ กวีเอกอยุธยาผู้คบชู้กับนางในถึงขั้นต้องประหารแล้วทรงพระทัยอ่อนเนรเทศไปเมืองนคร แล้วยังทำผิดซ้ำกับเจ้าเมืองนครจนเจ้านครสั่งกุดหัวจนทำให้สมเด็จพระนารายณ์พิโรธถึงกับสั่งประหารเจ้าเมืองนครตามคำสาปศรีปราชญ์ และสอนกันมาว่าศรีปราชญ์ถูกนั้น ผมว่างานนี้ โคลงนี้ชี้ชัดว่าผิดกันทั้งนั้น มีแต่เจ้านครที่ถูกที่สุด และด้วยเหตุนี้ เมืองนครจึงคบคิดกระด้างกระเดื่องเสมอ เมื่อมีความไม่ถูกต้องเป็นธรรมเกิดขึ้น แม้กระทั่งทุกวันนี้ก็ตาม
จากนั้น คณะก็เข้าผสมกลมกลืนกับขบวนแห่มหฺมฺรับจนกระทั่งเที่ยงแล้วไปดูการชุมนุมหฺมฺรับที่พระธาตุก่อนที่จะแวะฐานพระสยม ศาลพระเสื้อเมือง ศาลหลักเมือง และเก๋งจีนวัดประดู่ ที่เชื่อว่าประดิษฐานบัวสมเด็จพระเจ้าตากสินที่หาได้สิ้นพระชนม์เมื่อคราว ร.๑ ปราบดาภิเษกไม่ แต่หลีกมาผนวชเป็นพระอยู่กับพระประยูรญาติที่เมืองนครจนสิ้นพระชนม์ในภายหลัง เรื่องนี้ยาว แล้ววันหลังจะเล่าครับ.
แต่ที่น่าเล่ามากก็คือศาลพระเสื้อเมืองที่เดิมเป็นแขก แล้วไทยดูแลจนทรุดโทรม ตอนนี้มีเฒ่าแก่ชาวจีนจากหัวอิฐศรัทธาสูง เข้ามาพัฒนาต่อแบบบูรณาการอย่างเหลือเชื่อ มีทั้งพระเสื้อเมืองตามคติอินเดียโบราณ ตาขุนลกพร้อมเทพประจำถิ่น บรรพชนคนจีนแห่งเมืองนคร หลวงพ่อทวดที่ตาขุนลกเป็นผู้อุปัฏฐากจนส่งไปอยุธยา แล้วก็นานาเจ้าจีนที่มีคนทยอยนำมาถวาย กระทั่งพระโพธิสัตว์พันมือ อมิตาภะสารพัด แล้วก็พระพุทธสิหิงค์อย่างองค์กรุงเทพพร้อมพระรูปกรมพระราชวังบวรผู้อัญเชิญพระพุทธสิงหิงค์กลับไทย ที่สำคัญ เป็นระเบียบหมดจดสะอาดสะอ้านที่สุด.
ใครไม่เคยไป แวะเวียนไปกันเป็นกรณีศึกษาได้นะครับ
๑๑ ตค.๕๙
พระโชคลาภ หรือจ่ายเซ่งเอี่ย ในภาษาฮกเกี้ยน
เจ้าพ่อเสือ เฮ้งเทียนเซ่งเต้เอี่ย