logo_new.jpg

Why Always Flood @ MuangNaKorn
น้ำเอยทำไมจึงท่วม...ฝนเอยทำไมจึงตก...คนนครเอยทำไงกันดี ?
(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด 20161204_2)

เมื่อปี ๒๕๓๑ ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่แล้วก็ท่วมได้เรื่อย ๆ 
ถึงขนาดเขาพังและเคยเผาบ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัดเมื่อปี ๑๘

แถมสามารถสลับได้กับภาวะน้ำแล้งจนเกือบจลาจลเรื่องน้ำกินน้ำใช้
ดังเช่นปีที่แล้ว ถึงกับรุมนายกเทศมนตรีเมืองเกือบเป็นเรื่อง

เมื่อหลังน้ำท่วมใหญ่ปี ๓๑ ผมได้ตามติดปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหาที่พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริหลายประการจนออกมาเป็นแนวพระราชดำริแก้ปัญหาอุทกภัยในเมืองนคร ที่ถึงวันนี้เท่าที่ทราบยังเดินได้ไม่เท่าไหร่ รวมทั้งได้ร่วมกับคณะนักวิชาการธรณีวิทยาและอุทกวิทยาจากสถาบันเอไอทีที่ลงไปสำรวจศึกษาเสนอแนะออกมา ขอประมวลมา ณ จังหวะนี้ ดังนี้

๑) ดินแดนแผ่นดินนครศรีธรรมราชซึ่งตั้งบนคาบสมุทรไทยนี้มีแกนเทือกเขานครศรีธรรมราชที่ต่อมาจากเกาะสมุย-พะงัน เข้าเขตขนอม สิชล เขาใหญ่ เขานัน จนเป็นเขาหลวง-กรุงชิง ที่ต่อไปทางฉวาง-พิปูนเข้านาสาร บ้านนาเดิม ช่องช้างสุราษฎร์ทางตะวันตกฝ่ายหนึ่ง กับที่ลงใต้ไปเป็นเทือกบันทัดทางทุ่งสง-ร่อนพิบูลย์ เข้าแดนตรัง-สตูลลงน่ำอันดามันเป็นตะรุเตา-อาดัง-ลังกาวี เขานี้มีความสูงมากที่สุดบนคาบสมุทรในแดนไทย เช่นยอดเขาหลวงที่สูงถึง ๑,๘๖๕ เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นปราการกั้นเมฆและฝน โดยเฉพาะในฤดูนี้ที่มีมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือลงมาแรงตามกำลังความเปลี่ยนแปลงของอากาศ เช่นหากภาคเหนือและกลางหนาวมากจากความกดดันสูง ก็มักจะเกิดเมฆฝนและลมกำลังแรงพัดเข้าไปปะทะกับป่าเขา ตกลงมาเป็นพายุและฝนดังที่เกิดเป็นประจำและ กำลังอยู่ ณ ขณะนี้

๒) เทือกเขาเหล่านี้ จากการศึกษาทางธรณีสัณฐานวิทยา พบว่าเป็นหินเก่าที่เกิดมานาน ผ่านกาลเวลาจนกลายเป็นหินแปร ชื่อ "แกรนิตไนส์" ที่ชาวบ้านเรียกว่า "หินคางคก" และเรานิยมเอามาทำหินถูตัว ซึ่งมีความผุกร่อนพร้อมแตกและพังถล่มลงมาเป็นกรวดทรายดังที่เราเห็นเป็นบ่อขุมทราย รวมทั้งหาดทรายแก้วแสนงามที่สันดอนทรายขาวยาวตลอดเมืองนคร ที่สำคัญ ทางวิชาการสรุปไว้ว่าเขาหลวงที่เป็นหินนี้และดินทรายร่วนนั้น มวลดินมีความสามารถยึดเหนี่ยวต่ำ หากมีน้ำฝนตกลงมาเกิน ๒๐๐ มม.ใน ๒๔ ชม.ก็จะหมดกำลังเหนี่ยว พากันไหลเลื่อนในลักษณะคล้ายน้ำปูนผสม สามารถมีกำลังมากกว่าน้ำ แล้วนำพาหินทั้งหลาย รวมทั้งหมู่ไม้โดยเฉพาะที่รากไม่ลึก จำพวกไม้สวนและไม้ผล ตลอดจนยางพาราตามลงมาในลักษณะ "เขาพัง" ได้ง่าย ดังที่เกิดขึ้นเมื่อปี ๓๑ ทั้งที่กะทูน ฉวาง พิปูน คีรีวง นาสาร บ้านส้อง เหมือนแมวข่วนเทือกเขาไปทั้งแถบ

๓) ภูมิประเทศที่เป็นแอ่งหุบเขารองรับน้ำเป็นวงเป็นชั้น ๆ ในบริเวณนี้ เมื่อมีน้ำฝนปริมาณมากจนเกินกำลังซับ แถมเหลือต้นไม้รากลึกไว้ซับน้อยลง ก็กลายเป็นน้ำท่าที่ไหลหลากฉับพลันลงมาตาม "พื้นที่รองรับน้ำ" และท่วมท้นเป็นวงเป็นชั้นลดหลั่นพัดพาสารพัดกันลงมาพาดพังสิ่งกีดขวางด้วยกำลังแรงที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามปริมาณ ระยะทางและความลาดชัน ก่อนที่จะชลอตัวเมื่อลงถึงที่ราบ โดยเฉพาะทางชายฝั่งตะวันออกที่มีตะกอนสันดอนทรายเดิมสลับกับท้องทุ่งที่พักน้ำ อาทิ ทุ่งหยาม ทุ่งปรัง ทุ่งท่าลาด ก่อนที่จะค่อย ๆ ไหลออกทะเลทางปากช่องคลองต่าง ๆ เช่นน้ำจากเขาหลวงพรหมโลกพระหมคีรีที่ไหลเป็นคลองนอกท่าก็มาผ่านท่าแพและปากพูน ส่วนน้ำจากท่าดีคีรีวง ก็ไหลมาชนสันดอนหาดทรายเมืองนครที่ป่าเหล้าก่อนที่จะไหลไปออกปากนคร แต่ตอนนี้มีการก่อสร้างบางอย่างมาแบ่งแย่งพื้นที่และทางน้ำไหล ทั้งสนามบิน ทั้งสวนสาธารณะ ตลอดจนหมู่บ้านและชุมชนต่าง ๆ เฉพาะอย่างยิ่งถนนสายเหนือใต้ที่ทำตัวเป็นเขื่อนทำนบใหญ่และยาวมาก ไม่ว่าจะเป็นถนนราชดำเนินและพัฒนาการคูขวางที่มีมาแต่เดิม กับถนนสายอ้อมค่ายทั้งตะวันตกและตะวันออก ถนนเลียบทางรถไฟ ถนนเฉลิมพระเกียรติ จากน้ำทั้งหลายไม่มีทางไปได้ดี ๆ มีแต่ค้างคั่งขัง โดยเฉพาะย่านพัฒนาการคูขวาง หรือดันทุรังพุ่งจนพังกันเป็นแถบ ๆ ที่คอสะพานทั้งหลาย ซึ่งตอนนี้น่าจะกำลังเป็นอยู่อย่างนี้

เมื่อครั้งโน้น ดูเหมือนจะมีข้อสรุปว่า

๑) ต้องปกปักพิทักษ์ป่าเขาของเราเอาไว้ไม่ให้เสียหายไปมากกว่านี้ ไม่เช่นนั้น จะพังถล่มลงมาได้ไม่เลิก
๒) ต้องจัดให้มีแหล่งน้ำประจำถิ่นเพื่อเก็บกักดักรอไว้พอใช้ในยามแล้ง และมีระบบระบายถ่ายออกที่ดีพอไม่ขวางทางในหน้าน้ำ
๓) ต้องจัดระบบชุมชนการตั้งถิ่นฐาน ถมที่ ทำถนน ทางสัญจร ที่มิให้ขัดหรือขวางทางน้ำ หรือหากจำเป็นต้องพร้อมเปิดทางให้น้ำผ่านพ้นได้สะดวกอย่างเพียงพอ

ทั้งนี้ อย่าลืมว่าเมืองนครทั้งเมือง ชาวนครเกือบทั้งจังหวัด มีเขาหลวงนี้เท่านั้นที่เป็นอู่น้ำสำหรับใช้กันมาทั้งปี เฉพาะประปาของตัวเมืองนครก็อาสัยน้ำดิบคลองท่าดีที่ไหลมาจากคีรีวงนี้เองนะครับ

และก็เป็นธรรมดาของเมืองนคร คือบริหารจัดการไม่ง่าย ได้อย่างเสียอย่าง ยอมบ้างไม่ยอมบ้างเป็นธรรมดาเสมอ ตอนนี้ก็เป็นห่วงแต่ท่านที่อยู่ในเขตพื้นที่วิกฤตต่อการถล่มของหินเขา พัดพาของกระแสน้ำ และท่วมขังของมวลน้ำ(รอระบาย) โดยคลองระบายน้ำด่วนของคีรีวงที่ทำหลังปี ๓๑ นั้นน่าจะส่งน้ำลงมาแรงและเร็วกว่าเดิม เช่นเดียวกับคลองระบายที่ท่ามอญ-ท่าขนอน-ท่าซักที่ข้างบ้านผม ส่วนที่อื่น ๆ รวมทั้งท่อระบายใต้ถนนจำนวนมากที่ในเมืองนั้น ไม่ทราบเหมือนกันว่าเป็นอย่างไรบ้าง บางปีน้ำเคยท่วมขังเป็นเดือนในบางพื้นที่เลยครับ.

ผมมีสติปัญญาระลึกความหลัง ณ ขณะนี้ ได้ประมาณนี้ครับผม.

๔ ธค.๕๙

ภาพ คณะพระจาริกธุดงค์เมื่อออกจากพรหมคีรีสู่วัดท่ายายหนี วันที่ ๒ ธค.๕๙

 
Joomla templates by a4joomla
rtp slot https://www.sidiap.org/rtp-live-slot//