เพื่อแผ่นดินเกิด
- Details
- Written by Super User
- Category: เพื่อแผ่นดินเกิด
- Published: 13 December 2016
- Hits: 1432
CBDRM @ Na-Wat Muang NaKorn
การจัดการภัยพิบัติด้วยชุมชนเป็นฐานที่นาวัดเมืองนคร
(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด 20161207_4)
เมื่อก่อนมรสุมจะเข้า ผมมีโอกาสได้ต้อนรับครูทอง-กับพ่อเอกที่กำลังเตรียมงานนำผ้าไตรจากเมืองนคร ๘๙ ผืน ไปถวายในงานพระบรมศพ ซึ่งราชเลขาฯ รับประสานให้ไปถวายที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ในวันที่ ๖ ธค. โดยมีกำหนดจะทำบุญฉลองกันที่พระธาตุ คืนวันที่ ๓ แล้วขึ้นไป กทม.วันที่ ๔ เพื่อไปร่วมแจกของกินที่สนามหลวงวันที่ ๕ แต่พอฝนหนัก ทุกอย่างก็เลื่อนหมด โดยครูทอง (เจษฎา วงศ์เมฆ) ที่มีบ้านอยู่ต้นซอยนาวัดต่อเนื่องถึงชุมชนกรแก้วซึ่งน้ำท่วมขังมาก ก็ชวนเพื่อนบ้านตั้งโรงครัวชุมชน หุงหาอาหารแบ่งปันเพื่อนบ้านที่กำลังวุ่นวายในเรื่องสารพัด จนขยายกลายเป็นอีกโรงครัวเพื่อผู้ประสบภัยแห่งเมืองนครเพราะมีคนรุมกันนำสิ่งของมาสมทบ พร้อมกับที่ผู้ประสบภัยจากหลายแห่งก็เวียนกันมาขอปันไปเผื่อเพื่อนบ้านที่ประสบภัย
เช้าวันนี้ที่ฝนขาดเม็ดและฟ้าเริ่มมีสีฟ้า ขณะที่น้ำที่ท่วมขังคั่งค้างมา ๓ – ๔ วัน ก็เริ่มลดระดับจนเริ่มเก็บกวาดขัดล้างและจัดบ้านช่องกันใหม่ ผมได้แวะไปเวียนถามหาจากก้นซอยท่องน้ำออกมาจนถึงปากซอย จึงได้พบโรงครัวที่วันนี้ไม่ทำการเพราะแม่ครัวขอตัวกลับไปล้างบ้านกันหมด ประกอบกับน้ำก็ลดจนหมดความจำเป็น ถามไถ่รายทางได้รับคำตอบว่า บ้างก็เพิ่งมาอยู่ ๑๐ ปี บ้างก็ ๒๐ ปี หนนี้ ๓ – ๔ รอบแล้ว แต่ห่างมาตั้งแต่ปี ๕๔ โน้นไม่มีท่วม บางบ้านก็บอกว่าน่าจะต้องรื้อทำใหม่ บ้างก็ว่าจะยกพื้นขึ้นอีก บ้างก็ว่ายากแล้วเพราะเกือบต้องก้มตัวเข้าบ้านกันแล้ว ในขณะที่อีกคนบอกว่าช่วยไปบอกเทศบาลมายกถนนให้สูงขึ้นได้ไหม ?
ชะตากรรมของชาวนครที่เข้ามาตั้งถิ่นในย่านระหว่างถนนราชดำเนิน-ศรีธรรมโศกราช-ศรีปราชญ์ กับ พัฒนาการคูขวางที่เป็นที่ลุ่มต่ำ วางตัวเป็นแนวยาวระหว่างสองแนวถนนที่ขนานกันตามสันดอนหาดทรายเมืองนครจนเป็นเสมือนเขื่อนนี้ เป็นเช่นนี้มานานมากแล้ว เนื่องจากเมื่อน้ำหลากจากฟากตะวันตกจนล้นทุ่งทั้งหลายก็พุ่งผ่านสันดอนทรายที่ยาวหลายกิโลและมีเพียง ๖ ช่องลอด คือ คลองคูพาย คลองสวนหลวง คลองป่าเหล้า คลองหน้าเมือง คลองราเมศวร์ และ คลอท่าแพ และแทบทุกคลองมีสภาพการถูกรุกล้ำจนแคบมากแถมยังตื้นเขินด้วย น้ำจึงไหลทะลักมาพักขังอยู่เป็นซอง ๆ ตามแนวถนนและการถมที่สร้างบ้าน จนไม่รู้จะแก้อย่างไรได้ พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศเคยให้ทำการศึกษาออกมาเป็นโครงการป้องกันน้ำท่วมเมืองนครตามแนวพระราชดำริเมื่อน้ำท่วมใหญ่ปี ๓๑ แต่ดูเหมือนจะมีความคืบหน้าน้อยมาก ด้วยคำอธิบายว่าทำยาก เท่าที่ผมรู้ การขุดลอกคลองราเมศวร์ทำเป็นพนังสองข้างเมื่อสองสามปีก่อนนั้นก็ใช่ รวมทั้งการขุดท่ออุโมงค์ลอดที่แถบในเมืองเมื่อ ๔-๕ ปีก่อนก็ดูเหมือนจะใช่เช่นกัน งานนี้อันที่จริงรู้เหตุและพยากรณ์ได้ แถมการจัดการก็รู้ว่าทำอย่างไร แต่ว่ายากเพราะมีผลกระทบหลายฝ่ายจนไม่มีการขยับทำกันอย่างจริงจังและครบวงจร เมื่อไหร่ฝนหนักน้ำหลากลงมาก็รับรู้ได้ว่าน้ำท่วมขังอย่างนี้อีกแน่นอนตลอดไป ผมยังจำได้ว่าเมื่อปี ๕๔ คุณแหม่ม เพชรี พรหมช่วย แห่งโต๊ะข่าวบันเทิงช่อง ๓ ที่แม่อยู่ในบ้านที่ซอยประตูขาว โทรบอกให้ผมช่วยเข้าไปดูแม่ที่บ้านด้วย เพราะน้ำท่วมเป็นเมตรแล้ว แต่โทรศัพท์ถามข่าวท่านไม่ได้ โดยผมต้องไปขอคนมีเรือแถวนั้นแจวพาเข้าไป
ปีนี้ มีปฏิบัติการพิเศษขึ้นอีกหนึ่งที่ต้นซอยนาวัดดังที่กล่าวมาแล้วตอนต้น วันนี้ผมได้พบใคร ๆ หลายคน โดยเฉพาะพี่สมจิตร วงศ์เมฆกับแฟนเก่าอีกหลายคนที่เป็น อสม.ประจำชุมชนและผมเคยทำงานด้วยสมัยเป็น ผอ.กองสาธารณสุขเทศบาล และครูทองคนนี้คือหลานยายของพี่สมจิตร พี่สมจิตรและครูทองกับอีกหลายคนบอกว่าพวกเรามีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มแกนนำและกรรมการชุมชน มีการทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง จนมีทุนมาซื้อที่สร้างเป็นที่ทำการชุมชน เมื่อเกิดน้ำท่วมก็เลยทำอะไรกันได้อย่างที่เห็น วันนี้ให้กลับไปล้างบ้านกันให้เรียบร้อย ตอนบ่ายจะล้างซอยกันให้เรี่ยม เหล่านี้ผมถือว่าคือส่วนหนึ่งของการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนเป็นฐาน ที่เขาเรียกว่า CBDRM – Community Based Disaster & Risk Management เพราะเรื่องหลายอย่างจัดการได้ดีในระดับชุมชน ดังที่ชาวนาวัด-กรแก้วได้ทำกันแล้ว ส่วนอีกหลายอย่างที่เกินกว่าชุมชนจะทำเองได้นั้น ก็ต้องรวมตัวกันประสานให้คนที่มีหน้าที่มาทำ หรือคนมีใจอาสาอื่นมาช่วย ดังที่คีรีวงเคยเชื่อมกับไทยรัฐมาปักหมุดตั้งโรงเรียนไทยรัฐวิทยาจนอะไร ๆ ก็ตามมา แม้กระทั่งการทำคลองส่งน้ำมูลค่ามหาศาลเป็นร้อยล้าน เช่นเดียวกับที่น้ำเค็มที่ถึงทุกวันนี้ก็ยังขันแข็งในเรื่อง CBDRM `จนเป็นต้นแบบกรณีศึกษาของทั่วทั้งโลก
อาจารย์หมอประเวศเคยคุยกับผมเรื่องชุมชนเข้มแข็งในหลายวาระ และผมเอามาปรับตามวิสัยผมแล้วบอกต่อมาเรื่อย ว่าชุมชนใดจะเข้มแข็งได้นั้น อันที่จริงมีไม่กี่ “กอ” ตั้งแต่ ก.แกนนำ ก.กลุ่มก้อนองค์กร ก.การประชุมปรึกษาหารือ ก.กิจกรรมต่อเนื่อง ก.กองทุนชุมชน ก.การประสาน ก.การสื่อสาร ก.กัลยาณมิตร ฯลฯ กรณีที่นาวัด ที่คีรีวง ที่น้ำเค็ม ที่ล้วนเป็นกรณีศึกษาเรื่อง CBDRM นี้ ก็เพราะมี “กอ” เช่นนี้เพียงพอที่จะ “ก่อการ” อย่างที่เห็น
ต่อจากนาวัด-กรแก้วเมื่อเช้า ผมรับน้าพากลับจากทำบุญวันพระที่วัดศรีทวี พาสมาชิกที่บ้านไปกินเที่ยงที่เซ็นทรัล ก็เลยซื้อขนมมาฝากให้กินกันแกล้มเหนือย ๒ ถัง ป่านนี้คงฉลองกันเกลี้ยงแล้วครับ.
๗ ธค.๕๙