เพื่อแผ่นดินเกิด
- Details
- Written by Super User
- Category: เพื่อแผ่นดินเกิด
- Published: 08 January 2018
- Hits: 1200
คิดถึงพระเจ้าอยู่หัวจับใจ จนอดไม่ได้
...ขอลองเป็นข้ารองบาทในชาตินี้...ดูสักนิด
NST Water Managemeny By My Beloved King
(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด 20171208_4)
"แล้วใครอิช่วยแก้ปัญหาให้โหมเหร่าละหมอ?"
"ก้อ ไม่โร่เหมือนกันครับ พระเจ้าอยู่หํวที่ท่านปล้ำไว้ก็สวรรคตแล้ว"
"เทศบาลนี้ จังหวัดนี้ หรือไหน ๆ ไม่เห็นทำไหร
ท่วมมาพันนี้ไม่โร่กี่ปีแล้ว ปีนี้หลายรอบเลย หมอก็เอาแต่ถีบรถบายใจ"
เมื่อวานนี้ ที่สี่แยกถนนพะเนียด
ที่อยู่ตรงข้ามกับสี่แยกท่าช้าง
ซึ่งแต่ก่อนนั้นเคยเป็นทั้งท่าที่เอาช้างมาขึ้นเข้าเมือง
จากช้างซ้ายและช้างกลาง
ส่วนช้างขวานั้น ดูเหมือนว่าจะอยู่ที่นาสารหรือกาญจนดิษฐ์
ที่ถูกเฉือนไปเป็นสุราษฎร์นานมากแล้ว
บังสามคนที่กำลังนั่งจับเจ่าอยู่ที่สี่แยกพะเนียดทักถามปรับทุกข์กับผม
ในขณะที่ ที่พระเมรุมาศเมืองนครที่สนามหน้าเมืองนั้น
กำลังงามกว่าเมื่อมีเต้นท์
ทำให้ผมนึกถึงพระองค์จับใจ
แล้วรีบค้นแผนที่ทั้งหลายในเน็ต
ด้วยเชื่อว่าเมื่อพระองค์รับรู้ข่าวอย่างนี้นั้น
จะทรงค้นดูแผนที่ทั้งหลาย เพื่อช่วยชี้แนะและแก้ปัญหาเสมอ ๆ
ลองดูให้ดี ๆ นะครับ
แล้วจะทยอยสาธยายแยกแยะทีละขั้น ๆ
ตามที่พอจำได้ว่าเมื่อปี ๒๕๓๑ ที่น้ำท่วมใหญ่นั้น
พระองค์ทรงชี้แนะแนวทางแก้ปัญหาให้เมืองนครเรานี้ไว้ว่าอย่างไร
ด้วยหลักเบื้องต้นตามที่ผมเรียนรู้เองและเข้าใจมา กับจดจำไว้ในใจ อย่างนี้
๑) คาบสมุทรไทยที่เป็นด้ามแหลมทองนี้มีเทือกเขาใหญ่ "นครศรีธรรมราช-บันทัด-สันกาลาคีรี" เป็นแกนและปราการกั้นเมฆและฝนฟ้ามาช้านาน
๒) ฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเช่นนี้ เมฆฝนบนฟ้าที่พัดพามาจากทะเลจีนใต้ ย่อมปะทะเข้ากับปราการนี้ที่สูงสุดในภาคใต้ แล้วยกตัวไปปะทะเย็น ตกลงมาเป็นฝน แล้วหลากไหลเป็นน้ำท่าลงมาตามร่องซอกเขา ทั้งที่เคยเป็นสายน้ำและที่ถูกถากและถางจนไร้เครื่องยึดคลุม หรือคลุมอยู่ไม่ทันหนาและแน่นพอ ก็ถล่มตามลงมาอย่างที่เห็นและเป็นอยู่เนือง ๆ
๓) เทือกเขาหลวงเมืองนครนี้ เป็นเขาเก่าแก่ที่เกิดจากการกระแทกและดันกันตั้งแต่แผ่นอนุทวีปอินเดียหลุดออกมาจากแผ่นทวีปแอฟริกามากระแทกแผ่นยูเรเซียจนเกินเป็นเทือกหิมาลัยย่นยาวผ่านอินทนนท์ ถนนธงชัย ตะนาวศรี และ นครศรีธรรมราชลูกนี้ ไม่รู้กี่แสน/ล้านปีก่อนโน้น ธรณีสัณฐานเป็นกินแปรแกรนิต-ไนส์ ที่ผุกร่อน พร้อมร่วงไหลกลายเป็นหิน กรวด ทราย และ ดินอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ดังที่เราเห็นเป็นก้อนหิน กรวดทรายตามสายน้ำ ทอนน้ำและหาดชายคลอง กระทั่งถึงชายทะเล สันดอนปากแม่น้ำ แม้กระทั่งที่หาดขนอม-เกาะสมุย-พะงัน นั้นก็ใช่
๔) เฉพาะน้ำนั้น ขอให้ดูเป็นพื้นที่รับน้ำ ที่ฝรั่งเรียกว่า Catchment Area ตามสันปันน้ำของแต่ละแอ่งและหุบเขา ซึ่งมีเป็นแอ่งย่อย ๆ ที่รวมกันเป็นแอ่งใหญ่ขึ้น ๆ ตามลำดับ อย่างที่คีรีวงที่เป็นวงเขา ลงมาสมทบกับอีกจากหลายแอ่งที่ท่าดี แล้วสมทบเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ผ่านท่าใหญ่ จนถึงหัวงานชลประทานท่าดีที่จะไหลไปทางหมนและท่าเรือและหัวตรุษโน่น ตอนนี้มีหัวงานชลประทานท่าดี แบ่งสรรปันน้ำมาเลี้ยงทุ่งหยาม-ท่าลาด สมทบกับน้ำจากพรหมโลก อ้ายเขียว ฯ ที่ผ่านบ้านเกาะ ฯ จะไปออกที่ท่าแพ ฝนที่ตกทางฟากตะวันออกของเขาหลวง ตะวันตกของสันดอนหาดทรายเมืองนคร ไม่ว่าจะกี่มิลมิเมตรใน ๔ ชม.หรือกี่ ชม.ก็ตาม ล้วนสะสมกันอยู่ทางฟากนี้เพื่อรอระบายออกไปทางฟากตะวันออกของสันดอนทราย กี่สิบร้อยล้านคิว ก็คำนวณกันเอาเองจากปริมาณน้ำฝนและพื้นที่รับน้ำของแต่ละแอ่ง ๆ รวม ๆ สะสมกันตามลำดับ เช่นเมื่อวันที่ ๕ - ๖ ธค.นี้ ที่ลานสกา - เมือง - พรหมคีรี ประมาณราว ๆ ๒๐๐ กว่า มม.ใน ๒๔ ชม.ก็ลองคูณพื้นที่ดูก็จะได้ค่าน้ำเป็นคิวครับ ส่วนที่นบพิตำ- ท่าศาลา - สิชล - ขนอม ก็ลองคูณคำนวณกันดูนะครับ
๕) ประเด็นสำคัญที่เพิ่มสีสันก็คือว่าเมืองนครเรานี้ มีอีกธรณีสัณฐานเป็นสันดอนหาดทรายโบราณที่ไหลลงมาแล้วตกตะกอนเป็นชั้น ๆ อย่างที่เราเรียกกันว่า "ลายสาย" ตั้งแต่ที่ท่าขึ้นลงไปจนถึงหัวไทรโน่น เช่นสันดอนกำแพงถม - นาสาร ที่เคยเป็นแหล่งตั้งถิ่นฐานโบราณเมื่อ ๑,๐๐๐ กว่าปีก่อน ก่อนที่จะค่อย ๆ เคลื่อนย้ายออกมาบนสันดอนที่เมือง "นครดอนพระ" ทุกวันนี้ ตั้งแต่ที่ท่าเรือ-หัวถนน-เมืองพระเวียง-เวียงพระธาตุ-ท่าวัง-ท่าแพ-ท่าศาลา-สระแก้ว-สิชล ฯลฯ เฉพาะที่ตัวเมืองนครนั้น แต่เดิมทางน้ำสำคัญคือ อ้อมใต้ไปที่หมนออกหัวตรุษ ปากนคร กับอ้อมเหนือผ่านท่าลาด ไปสมทบกับคลองท่าแพที่มาจากบ้านเกาะออกที่ปากพูน โดยอีก ๕ คลองที่พาดผ่านทะลุเมืองนั้น อันที่จริงแล้วเป็นเพียงร่องน้ำลอด ไม่ว่าจะเป็น คูพาย - สวนหลวง - ป่าเหล้า - หน้าเมือง - ราเมศวร์ ยกเว้นก็แต่คลองป่าเหล้า ที่ต่อเนื่องมาจากคลองท่าดี เพื่อแยกมาเข้าเมือง และเป็นเส้นทางสัญจรหลักของคนเหนือมาแต่ก่อน ดังเช่นคลองหน้าเมืองนั้นเพิ่่งขุดเป็นสายคลองเมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีมานี้นี่เอง
๖) ประเด็นสำคัญคือ เมืองนครขาดการวางผังและพัฒนาอย่างเป็นระบบ ถนนสายขวางทางน้ำเกิดขึ้นมากมาย และกำลังจะเกิดอย่างไม่หยุดยั้ง ทำหน้าที่เป็นเสมือนทำนบกั้นน้ำเป็นตอน ๆ โดยมีท่อลอดและช่องคลองที่แคบลง ๆ แถมมีการถมที่กันจนน้ำไปไม่เป็น ตกมากทีไร ก็ท่วมและขังค้างรอระบายอยู่อย่างนี้ทุกปีมา
๗) เมื่อหลังปี ๓๑ พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงให้แนวพระราชดำริใหญ่เชิงระบบทั้งเมือง แต่ไม่ได้รับการผลักดันจนสำเร็จ สู้ที่หาดใหญ่ไม่ได้ เกิดหลัง พอพระเจ้าอยู่หัวให้แนว ชาวที่นั่นทุกฝักฝ่ายตกลงปลงใจทำทันที แต่ชาวที่นี่ ยังเห็นต่างกันมากจนยากที่จะทำอะไรได้ แม้เมื่อปีที่แล้วจนต้นปีนี้ ดูเหมือนว่าทางการจะหยิบมาขยับ แต่ฝ่ายเห็นต่างก็ขยับทันกัน จึงเพลา ๆ มือกันอยู่
ผมเองก็ทำได้เท่านี้นะครับ
แก่แล้ว เหลือแต่รถถีบประจำตัว
ตลอดเช้าวานนี้ออกสำรวจตามแต่ละช่องน้ำที่ว่านี้
แล้วจะทยอยรายงานด้วยภาพนะครับ
๘ ธค.๖๐ ๑๐๐๐ น.
บ้านบวรรัตน์ ท่าวัง เมืองนคร