เพื่อแผ่นดินเกิด
- Details
- Written by Super User
- Category: เพื่อแผ่นดินเกิด
- Published: 01 March 2018
- Hits: 2000
คือยักษ์พุทธผู้แขวนจี้ตรีรัตนะ
The Buddhist Atlas Who Dress TriRatana
(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด 20180301_1)
กำลังนี้ ที่พิพิธภัณฑ์ฯ มุมไบ มีนิทรรศการพิเศษ
ร่วมมือกับ บริติช มิวเซียม และ พช.นิวเดลี
ในชื่อว่า "อินเดียกับโลก : ผ่าน ๙ เรื่อง"
ที่ผมขอขยายเวลาอยู่ต่อเพื่อดูให้ตลอด
โดยเฉพาะรูปยักษ์ตนนี้ที่หน้าห้องเริ่ม
บอกว่าเป็นของจำลองจากของจริง
จากวิหารถ้ำหมายเลข ๓ แห่งปิตาลฆอร่า (ที่พวกเราได้รับพรจากผึ้ง)
เป็นรูปยักษ์ตนหนึ่ง ยืนร่ายรำแบกซุ้มประตูและวิหาร
ประมาณอย่างยักษ์ Atlas ในปกรนัมกรีก-โรมัน
ผู้อยู่ระหว่างโลกมนุษย์และอมนุษย์
เพื่อปกปักพิทักษ์โลกและหมู่มนุษย์
ละม้ายกับที่ไทยโบราณมาจนทุกวันนี้
ก็นิยมสร้างยักษ์แบกวัด วิหาร เจติยสถานทั้งหลายไว้
แต่ที่สำคัญกว่าคือบนแผงอกของคุณยักษ์
มีสร้อยห้อยลูกปัดรูปทุ่นมะยม
และจี้คู่หนึ่งคือ "ตรัรัตนะ" มีหัวเห็นหน้าบุคคล
เคยเห็นตามโตรณะที่สาญจี ซึ่งอยู่สูงมาก
เป็นยักษ์ห้อยจี้ตรีรัตนะอย่างนี้
แต่ไม่ชัดว่ามีใบหน้าบุคคลด้วยไหม
เท่าที่ค้นคว้าและศึกษามา
๑) สัญญลักษณ์นี้ ในอินเดียไม่มีใครรู้ชื่อโบราณ สันนิษฐานกันต่าง ๆ นา ๆ บ้างว่า ทอรีน บ้างว่า มะ บ้างว่า นนทิบาท บ้างว่า นันทิยาวัต หลังจากศึกษาค้นคว้า ลอร์ดคันนิงแฮมเรียกว่า ตรีรัตนะ ท่าน อ.พุทธทาส ก็นำมาเรียกอย่างเดียวกัน บอกว่าเป็นสัญญลักษณ์ที่พุทธเริ่มใช้ แต่ อ.ศรีศักร กับ อ.ผาสุข เสนอให้เรียกว่า นันทิยาวัต โดย อ.ศรีศักราว่าเป็นเครื่องหมายพุทธ อ.ผาสุข ว่าเป็นเครื่องหมายฮินดู ฯลฯ
๒) เท่าที่ผมตามอ่าน-ดูและแลกเปลี่ยนกับนานานักวิชาการประวัติศาสตร์โบราณคดีในอินเดีย ต่างบอกตรงกันว่า เป็นเครื่องหมายของพุทธที่เริ่มใช้ก่อนที่ศาสนาอื่นก็ใช้ตาม เรียกกันว่าตรีรัตนะมากว่าอื่น และนิยมประดับตามโบราณศาสนสถานพุทธ ยุคสมัยศุงคะ ภารหุต สาญจี อมราวดี เป็นสัญญลักษณ์การน้อมรับ นับถือ เข้าถึงพระพุทธศาสนา
๓) โดยเฉพาะท่เสาโตรณะที่สาญจี มียักษ์หลายตนที่เฝ้าแบกเสาอยู่ สวมห้อยจีตรีรัตนะอยู่อย่างนี้ ผมตีความเอาเองว่า เป็นเครื่องชี้บอกว่า "ฉันรับไตรสรณาคมณ์นับถือพระรัตนตรัยในพระพุทธศาสนา" น่าจะประมาณนี้
การพบเห็นที่นี่ แบบใกล้ ๆ ได้รายละเอียด
แม้จะเป็นของจำลอง
แถมยังได้รับรักจากฝูงผึ้งเมื่อวันไปเยือน
จึงจดจำได้ไปอีกนานยาว
พุทฺธํ, ธมฺมํ, สงฺฆํ สรณํ คจ.ฉามิ
มาฆบูชา ๑ มีค.๖๑ ๐๘๐๐ น.
บ้านท่าวัง สะพานควาย กทม.
หลังกลับจาก #บุกถ้ำโบราณอินเดีย