เพื่อแผ่นดินเกิด
- Details
- Written by Super User
- Category: เพื่อแผ่นดินเกิด
- Published: 19 May 2016
- Hits: 2922
More On Namo Meaning,
ว่าด้วย "นอโม" อีกหน่อย
(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด 20160517)
นอกจากที่ท่านพระครูพรหมเขตคณารักษ์ เจ้าอาวาสวัดสระเรียงถามถึงความหมายของหัว "นอโม" ของเมืองนครและผมได้ตอบไปเมื่อวานนี้แล้วโดยวันที่ ๑๙ นี้ จะมีการสมโภชกันที่วัดสระเรียงนั้น ประกอบกับเมื่อวันก่อนมีแวดวงคนสนใจเงินตราโบราณนำเหรียญโลหะรูปครุฑกับนาคที่พบมากในเมืองนคร โดยเฉพาะเมื่อคราวขุดลอกคลองท่าวังที่บริเวณสะพานราเมศวร์ ระบุว่าคือเหรียญพิฆาตไพรี จากงานของคุณชวลิต อังวิทยาธร ในหนังสือชื่อ "เงินตรานะโม" พิมพ์โดย สนพ.เมืองโบราณ
ซึ่งผมได้ตามไปพลิกอ่านอีกรอบ รวมทั้งได้นำอีกเล่มที่คุณชวลิตพิมพ์เองเมื่อเกือบ ๒๐ ปีให้หลัง ผมขอเสนอเพิ่มเติมเพื่อช่วยกันค้นคว้าต่อดังนี้
๑) ผมคุ้นเคยและนิยมนับถือคุณชวลิตมาก ในฐานะนักค้นคว้าจริงจังอย่างทุ่มเทคนหนึ่ง แม้มีบางอย่างที่ห่วงใย ดังที่ได้เขียนไว้ในหนังสือเล่มแรก โดยยังเห็นว่าข้อสรุปสังเคราะห์ของคุณชวลิตหลายประการยังไม่หนักแน่นและเป็นข้อยุติเพียงพอ
๒) ดังที่ในเล่มตีพิมพ์ภายหลัง ที่คุณชวลิตตีความหมายภาพสิงห์กับกวางบนเหรียญโลหะแบนกลมที่พบร่วมกับเหรียญรูปครุฑกับนาคในความหมายใหม่ จนยิ่งทำให้ต้องระวังเรื่องการตีความมากขึ้น กล่าวคือ ในเล่มแรกที่คุณชวลิตตีความว่ารูปครุฑกับนาคบนเหรียญนั้นเป็นสัญญลักษณ์ของ ร.๒ กับ เมืองไทรบุรี ส่วนรูปสิงห์กับกวางนั้น คุณชวลิตตีความว่ากวางเป็นสัตว์จำพวกเดียวกับโค ซึ่งโคนั้นเป็นตราของเมืองปัตตานี ก็เป็นกลุ่มเหรียญพิฆาตไพรี ที่ทัพเมืองนครผลิตให้เหล่าทหารพกพาไปในคราวศึกเมืองไทรบุรีและปัตตานี เสร็จศึกแล้วจึงนำมาทิ้งไว้ในคลองนั้น ในเล่มใหม่คุณชวลิตตีความใหม่ว่ารูปสิงห์กับกวางนั้นคือลังกากับป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ที่สร้างทำขึ้นในคราวฉลองการที่คณะสงฆ์สยามวงศ์นำพระพุทธศาสนากลับไปสถาปนาในลังกาและมาแวะพักที่เมืองนคร ซึ่งยิ่งไปกันใหญ่
๓) ทั้งนี้ ผมขอฝากข้อสังเกตอีกประการว่า ไม่น่าจะเป็นเหรียญพิฆาตไพรีดังข้อสันนิษฐานตีความของคุณชวลิต เพราะการทำรูปสัญญลักษณ์ทั้งสองด้านของเหรียญนั้น ล้วนเป็นภาพที่ทรงคุณค่าความหมายสำคัญของผู้สร้างทั้งสองด้าน ไม่เคยมีการนำภาพสิ่งอื่นที่ไม่นิยมศรัทธามาสร้างทำคู่กันเช่นนี้ และที่เห็นบนเหรียญเหล่านี้ ก็มิได้ทำภาพคู่ไพรีให้ดูเพลี่ยงพล้ำ กลับยังดูเด่นสง่าอย่างเท่าเทียมกันทั้งสิ้น
๔) สำหรับตัว "นอโม" หรือ "นะโม" นั้น คุณชวลิตก็ตีความแปลกอีกอย่าง ว่าตัว "น" ที่ตีตรา จะต้องวางในลักษณะดังที่คุณชวลิตจัดวางและถ่ายทำภาพตะแคงบนปกของหนังสือทั้งสองเล่ม ซึงเท่าที่ผมศึกษามา ไ่ม่น่าจะเป็นอย่างนั้น ดังที่คุณชวลิตก็ยกศิลาจารึกวัดเสมาเมืองด้านที่ ๒ ซึ่งมีตัว "น" ในหลายตำแหน่ง ในลักษณะตั้ง ซึ่งคุณชวลิตก็เรียบเรียงให้เห็นในบทความอยู่แล้ว
จึงขอทำเป็นหมายเหตุส่วนตัวและแบ่งปันกันไว้ ณ ที่นี้
แม้คุณชวลิตจะมิได้มีชีวิตมาถกแถลงกับผมต่อได้อีกแล้วก็ตาม
ผมก็ยังระลึกและนับถือคุณชวลิตเสมอครับ
๑๗ พค.๕๙