logo_new.jpg

Most or Less Detailed Map of Muang Nakorn 200yrs Ago
แผนที่เมืองนครเมื่อเกือบ ๒๐๐ ปีก่อน
(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด 20160517)

เมื่อหลายปีก่อน มีฝรั่งนักค้นคว้าหานครที่สาบสูญมาศึกษาค้นคว้าเรื่องเมืองนครด้วยเชื่อว่ามีนครโบราณที่สาบสูญอยู่ โดยมีการแนะนำจนได้พบและรู้จักกับผม แม้ทุกวันนี้ คุณ Stuart Munro Hay จะลาจากโลกนี้ไปแล้ว แต่ได้ทิ้งผลงานการศึกษาค้นคว้าเรื่องเมืองนครที่ดีที่สุดไว้ชิ้นหนึ่ง ได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ White Lotus เมื่อปี พ.ศ.......... โดยเมื่อครั้งนั้น คุณ Stuart Munro Hay ได้มอบสำเนาแผนที่เมืองนครที่ถ่ายมาจากห้องสมุด
แห่งสหราชอาณาจักรให้ไว้กับผม ๑ แผ่นใหญ่ รวมทั้งการส่งต้นฉบับหนังสือให้ผมเสนอมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จัดพิมพ์ แต่ไม่ได้รับการพิจารณาจากคณาจารย์ผู้เกี่ยวข้อง

เมื่อวานซืนนี้ผมเอาไปให้วงเสวนา "โร่ม่าย ไซ๋ชื่อนี้" 
ที่ลานพระธาตุได้ดูกัน ก็เยขอเอามาให้ได้ช่วยกันดู
และสืบเสาะเพื่อสร้างคุณค่าแก่เมืองนครของเรากันนะครับ

เขียนโดยช่างชาวไทย ชื่อนายบุญคง

ในแผนที่ดังกล่าว ซึ่งเขียนด้วยดินสอโดยช่างวาดชาวไทย ชื่อ นายบุญคง ที่ร้อยเอกเจมส์ โลว์จ้างเป็นล่ามและช่างวาดตลอดช่วงที่เข้ามาทำหน้าที่ประสานติดต่อกับทางการไทยในภาคใต้ระหว่างวันที่ ๖ พฤษภาคม – ๘ สิงหาคม คศ.๑๘๒๔ เพื่อขอกองกำลังเรือรบเมืองนครจากเจ้าพระยานครน้อยไปร่วมยึดพม่า แต่เจ้าพระยานครน้อยไม่เอาด้วย ถ่วงให้รออยู่เมืองไทร แล้วเตร่ไปมาระหว่างสตูล ตรัง กระบี่ ภูเก็ต และ พังงา ถึง ๓ เดือน โดยเจ้าพระยานครน้อยเพียงส่งลูกชายมาพบนิดหน่อยที่เมืองตรัง และนายบุญคงได้วาดรูปการพบปะกันพร้อมกับวงดนตรีไทยที่ร่วมบรรเลงในการนั้นไว้ด้วย

ถือเป็นแผนที่เมืองนครที่ละเอียดท่สุดและหยาบที่สุด

เฉพาะแผนที่เมืองนครที่ได้เห็นถือว่าเป็นแผนที่ที่ละเอียดที่สุดหรือหยาบที่สุดก็ได้ทั้งนั้น แสดงให้เห็นเป็น ๓ ชั้น คือ มีวัดพระธาตุและจอารามที่มีรั้วรอบวนเจ้าเมืองอยู่ใจกลางเมืองที่มีกำแพงพร้อมเชิงเทินและเสมาประตูคูเมืองล้อมรอบ โดยมีทุ่งหญ้า นา สวน วัดวาอาราม บ้านเรือน ร้านค้า ท่า ป้อมและเรือที่กำลังเข้ามาจากปากแม่น้ำสู่เมือง

พระธาตุ จวน สวนดอกไม้ ผลไม้ บ้านเรือน โรงม้า โรงช้าง 
กำแพงและคูเมือง

โดยสังเขปแล้ว ในแผนที่เมืองนครเมื่อปี คริสตศักราช ๑๘๒๔ หรือ พุทธศักราช ๒๓๖๗ คือ ๑๙๒ ปีก่อน ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ที่มีเจ้าพระยานครน้อยเนเจ้าเมืองนั้น ตัวเมืองแสดงเป็นพื้นที่สี่หลี่ยมผืนผ้า มีถนนพาดกลางเป๋นแนวยาว ฝั่งตะวันตกมีพระเจดีย์ใหญ่พร้อมหอพระและศาลาต่าง ๆ ซึ่งน่าจะคือพระบรมธาตุเจดีย์และอารามต่าง ๆ กับอาคารที่อยู่ในขอบเขตรั้วมีบุคคลนั่งเก้าอี้อยู่น่าจะเป็นจวนเจ้าเมือง ทางทิศเหนือขึ้นมาเป็นสวนดอกไม้กับอีก ๒ อารามที่มีรั้วรอบ ในขณะที่ฟากถนนตะวันออกนอกจากศาลาอาคารเรือนที่เรียงเป็นแถวแล้ว มีสวนผลไม้ ได้แก่มะพร้าว ขนุนและทับทิม โดยทางเหนือสุดมีโรงม้าและโรงช้าง ส่วนกำแพงเมือง ซึ่งมีประตูทิศเหนือและใต้ตรงกลาง พร้อมสะพานข้ามคูที่เยื้องกับตัวสะพานแล้ว ด้านตะวันออกมี ๔ ประตู เป็นประตูใหญ่ต่อเนื่องกับสะพาน ๒ ประตู ส่วนด้านตะวันตกมีเพียง ๓ ประตู และทุกประตูมีสะพานทอดข้ามคูเมือง มุมเมืองทั้ง ๔ ทำเป็น ๓ ป้อม

ตะวันตกมีคลองสามสาย

ฝั่งตะวันตกของเมืองมีสายน้ำธรรมชาติจากทิศตะวันตกไหลเข้ามาสมทบต่อเนื่องกัน ๓ สาย แผนที่แสดงอารามและเจดีย์ใหญ่อยู่บริเวณกึ่งกลาง จากนั้นมีเรือนแถวยกพื้นสูง ที่มุมเมืองด้านตะวันตกเฉียงเหนือ มีอีกอารามใหญ่ภายในรั้วรอบ หอพระ และ เจดีย์

เหนือมีสะพาน ย่านคนจีนท่าวัง อู่เรือ ป้อมปืน

ฝั่งเหนือของเมือง มีสายน้ำทั้ง ๓ สายทางทิศตะวันตกที่ไหลรวมกันแล้วสายหนึ่งไหลไปทางทิศเหนือเลียบสันดอนหาดทรายเมืองนครต่อไป ในขณะที่อีกสายหนึ่งไหลตัดสันดอนทรายไปทางตะวันออก ลอดสะพานที่ชานชาลาทั้งสองข้างมีหลังคามุง สองฝั่งสะพานมีอาคารแถวหลังคากระเบื้องอย่างบ้านคนจีน บริเวณริมฝั่งใต้ของคลองมีอู่เรือพิธีมีหัวรูปสัตว์ ฝั่งตรงข้ามมีทั้งป้อม และ ป้อมปีนใหญ่เรียงรายอยู่ ในขณะที่บริเวณปากอ่าวมีเรืองสำเภาจีนลำหนี่งลอยอยู่ สันนิษฐานว่าคือปากคลองท่าซัก และป้อมปืนของเมือง สะพานที่เห็นคือบริเวณสะพานราเมศวร์ในทุกวันนี้ ย่านอาคารเรือนแถวแบบจีนน่าจะเป็นย่านตลาดตลอดแนวจนถึงท่าวัง ส่วนวัดที่มุมเมืองทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือนั้น ไม่ทราบว่าคือวัดอะไร เช่นเดียวกับโรงเรือพิธีก็ไม่ปรากฏว่าอยู่ที่ไหน

ตะวันออกเป็นสวนและนากับศรีมหาโพธิ์ใหญ่

ตลอดแนวฟากตะวันออกของเมืองทำให้เห็นชายขอบทะเล มีนาตลอดแนว ทางใต้สุดแสดงเป็นสวนผลไม้ มีทับทิม ทุเรียน มะพร้าว และคนกำลังดายหญ้าด้วยพร้า ทางเหนือสุดที่บริเวณมุมป้อมมีอีกอารามใหญ่พร้อมด้วยพระศรีมหาโพธิ์ต้นใหญ่ปลูกอยู่ในรั้ว ตามตำแหน่งอาจเป็นได้หลายวัด ตั้งแต่วัดมุมป้อมจนถึงต้นโพธิ์ใหญ่ที่ท่าโพธิ์

ใต้มีเมรุจิตกาธาน กับเก๋งจีน

ฝั่งใต้ของเมือง นอกจากเรือนยกพื้นสูงและเรือนแถวสองชั้นริมทางที่หน้าประตูเมืองด้านทิศใต้แล้ว มี ๒ อารามขนาดใหญ่ โดยที่มุมเมืองมีลักษณะเป็นเมรุจิตตกาธานพร้อมธงราชวัตร ที่มุมตะวันตกเฉียงเหนือสุดมีลักษณะคล้ายเก๋งจีนใหญ่ อาจหมายถึงอาณาบริเวณของคนจีนแถบมะม่วงสองต้น ซึ่งทุกวันนี้มีศาลของตาขุนลก ชาวจีนที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้อุปัฏฐากส่งหลวงพ่อทวดสู่กรุงศรีอยุธยา

ทั้งหมดนี้คือที่ปรากฏบนแผนที่เมืองนครอายุเกือบ ๒๐๐ ปีที่ผมได้รับไว้หลายสิบปีแล้ว แต่ยังไม่มีโอกาสนำเสนอที่ไหนและไม่ทราบว่าจะนำไปสร้างสรรค์ประโยชน์อะไรได้บ้าง

๑๗ พค.๕๙

 

Joomla templates by a4joomla
rtp slot https://www.sidiap.org/rtp-live-slot//