logo_new.jpg

Some Lessons from Southern Thai 
บางอย่างที่เลือกรับมารู้เผื่อว่าจะได้ร่วม
...จากงานสร้างสุขภาคใต้ ๕๙

(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด 20161005_3)

ไหน ๆ ก็ไหน ๆ ขอโอกาสคุยให้ฟังผ่านแม่ผมก็แล้วกันนะครับว่าเมื่อวานเต็มวัน ผมพบเจอและเลือกเรียนรู้อะไรบ้าง จากงานที่แบ่งออกเป็น ๑๐ ห้อง/เวทีย่อย ผมเลือกเข้าได้เพียง ๔ เวที คือ การท่องเที่ยวชุมชน กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น ความมั่นคงทางอาหาร แล้วก็เวทีเด็ก โดยสลับกับการออกเดินดูลานปัญญาสารพัดที่พกพากันมานำเสนอ

เริ่มจากปากประตูที่เจอ “จรูญ น้อยปานจากสงขลา-พัทลุง” ที่บอกไม่ได้หรอกว่าเขาเป็นอะไร ศิลปิน จิตรกร กวี ชาวบ้าน เอ็นจีโอ ฯลฯ นัดนี้มาทำหนังสือทำมือพร้อมกับเอาหนังสือ "แลถิ่นใต้" เล่มที่เจอทุกทีก็ซื้อทุกที เพราะประมวลเรื่องเมืองใต้ไว้อย่างเยี่ยมยอด จรูญคนนี้ที่เคยมาอยู่เรือนแม่ที่สวนยวนแหลและสวนโมกข์ไชยาอยู่พักใหญ่ เพราะผมขอให้ช่วยวาดภาพอะไรก็ได้ที่สะท้อนธรรม-ชาติของสวนโมกข์ เผื่อเอามาพิมพ์หนังสือ สุดท้ายได้ออกมาเป็นเล่มรวมงานท่าน อ.โพธิ์ เนื่องในโอกาส ๑๐๐ ปีท่านอาจารย์พุทธทาสครับ

เดินเดี๋ยวเดียว “เสณีย์ จ่าวิสูตรจากพัทลุง” ที่ร่วมขับเครือข่าย อสม.ภาคใต้ตอนดับบ้านดับเมืองเข้ามาบอกว่ากำลังมุ่งประสานคนพัทลุงทำเรื่องข้าวและเกษตรอินทรีย์ ถามได้ความว่าตอนนี้ที่พัทลุงกำลังขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้าวอินทรีย์เป็นขบวนใหญ่ เฉพาะพันธุ์ข้าวพื้นบ้านภาคใต้มีถึง ๑,๐๐๐ สายพันธุ์ เป็นของพัทลุงเกือบครึ่ง เฉพาะในงาน ตามดูพันธุ์จากเมืองนครได้เพียง ๒ ชื่อ ช่อปลีขาว กับ บี้หล้า เบอร์ ๑๑๗ กับ ๑๑๘ เท่านั้นเอง แล้วจะค้นคว้าเผื่อพัฒนาต่อให้สมกับที่บ้านเราก็เป็นหนึ่งในวงการข้าวเมืองนครที่เคยให้กองทัพไทยใต้ยืมใช้ในยามสงครามเนื่องจากตอนนั้นมีหลายโรงสีและกองทัพไทยไม่มีเงินจ่ายแต่ทหารต้องไม่ขาดข้าวกิน ส่วน “สาคูควนขนุน” จากเครือข่ายเกษตรอินทรีย์พัทลุงที่เขาเอามาขูดสาธิตจนออกมาเป็นแป้งเอาไปแช่น้ำทำหนมสาคูนั้น เต้ยเวียนมาเอาไปด้วยสองถุง เผื่อลองทำสาคูกินกันเองดูที่บ้าน

ยังไม่ทันเดินต่อ “ฮัมบัสจากยะลา-ปัตตานี-นราธิวาส” ที่แต่ก่อนเป็นอุสตาซแต่ตอนนี้เป็นบาบออยู่ปอเนาะเรียบร้อยแล้ว ก็เข้ามาตามว่าอยากให้ไปแวะที่ซุ้มประชารัฐญาลันนันบารู(-ความหวังใหม่)ของพวกเขาที่มีปอเนาะเป็นฐาน น้อง ๆ กลุ่มนี้ที่เป็นกำลังสำคัญของเครือข่ายชุมชนมุสลิมภาคใต้ตอนดับบ้านดับเมืองที่ อ.หมอประเวศบอกว่าเป็นเรื่องกระบวนทัศน์อิสลามเพื่อการพัฒนา แต่พอลองถามลูกทีม ดูเหมือนว่าจะไม่รู้เรื่องเท่าไหร่

จากนั้นก็เจอกลุ่มของนาเกตุที่ไม่เคยรู้จักกัน แต่ “ช่อลูกรังแข” ที่เอามาอวดนั้น อดทำให้ต้องผูกมิตรเพื่อขอกินเผื่อแม่สักลูกสำเร็จ แถมยังขอเอากลับบ้านไปฝากน้าพากับน้องติ่งได้อีกคนละลูกด้วย ส่วนซุ้มของ “กลุ่มยุวชนสร้างสรรค์สุราษฎร์ธานี” ปีนี้ดูหงอย ๆ เด็ก ๆ ที่อยู่ก็ไม่รู้จักหมดแล้วครับ พอมาถึงซุ้มของ “สงขลาประชาคม คนหาดใหญ่กำหนดตัวเอง” ที่เคยถูกตามลงมาร่วมด้วยครั้งแรกนั้น ดูเหมือนว่าจะก้าวหน้ามาก หากเมืองนครและทุก ๆ เมืองหรือชุมชนท้องถิ่นในภาคใต้ได้มีอย่างนี้ก็น่าจะไปกันได้ไกลกว่านี้มาก ทั้งนี้ที่ทุ่งหว้า สตูลก็มีเรื่อง “ชันชีที่นาทอน” ตอนแรกนึกว่าเป็นเกมส์เล่นของกลุ่มเด็ก แต่กลายเป็นกระบวนการสัญญาประชาคมของภาคประชาชนกับท้องถิ่นที่เต้ยถามว่าเป็นจริงไหม ได้รับคำตอบว่า “ถ้าไม่ทำตามที่ชันชี เราก็เลิกเลือกเหมือนกันแหละ”

เดินมาอีกพัก “บังแอน-บาตูปูเต๊ะที่เกาะลิบงเมืองตรัง” ก็เข้ามาเรียกแล้วบอกว่าอู่ซ่อมสร้างเรือที่ SAN-Save Andaman Network ไปหนุนตอนสึนามินั้นยังอยู่ เต้ยก็เลยอุดหนุนหอยเสียบดองตัวโต ๆ เอาไปดูดกินกับข้าวต้มอย่างที่แม่เคยเอาที่เราเก็บจากหาดท่าสูงมาทำให้พวกเรากินกันด้วยครับ

สองสามซุ้มน่าสนใจที่เต้ยไม่รู้จักมาก่อน ก็มี “นา ณ คอน ที่หัวไทร” ทำข้าวออกมาน่าซื้อกินมากเลยครับ โดยเฉพาะข้าวกล้องหอมกุหลาบแดงที่จะเอาไปหุงกินกับน้าพา กับมีซุ้มของ “มุสลิมีนจากร่อนพิบูลย์” คนหนึ่งเรียกเข้าไปให้ดูผ้าฮิญาบที่เอาเศษลูกไม้มาประดับทำได้สวยมากจนอดคิดถึงแม่ไม่ได้ ถึงซุ้ม “ลูกชกจากรัษฎา” ยิ่งนึกถึงแม่ใหญ่ แต่ว่าเขาขายหมดแล้ว เหลือแต่รูปภาพและของแสดงกับเบอร์โทรเท่านั้น ส่วน “ส้มจุกจะนะ” นั้น หมดปัญญาเอาต้นกลับไปปลูกทดแทนที่พ่อกับแม่เคยขุดร่องปลูกไว้ที่สวนยวนแหล รวมทั้งที่เต้ยก็เคยปลูกใหม่รอบหนึ่งแล้วตายหมด รอบนี้เขาว่ามีวิธีชี้แนะ แต่ว่าขนขึ้นเครื่องไม่ได้ เขากลัวดิน(-ระเบิด) ก็เลยขอปันผลเอาไปปอกกินกับน้าพาและน้องติ่งได้ ๒ ลูกเท่านั้นทั้ง ๆ ที่เขาให้โควต้าคนละลูกเท่านั้น โดยเต้ยบอกว่าถ้าไม่ให้ ก็จะไปบอกน้องอีกคนเวียนมาซื้อแทน เขาก็เลยยอมครับ

ท้ายสุดอีกสามกลุ่มของเยาวชนนั้น กลุ่ม “ระบัดใบจากระนอง” ที่รู้จักมานานและทำกันมาจนอายุ ๔๐ กว่าแล้วก็ยังขันแข็งเรื่องส่งเสริมการอ่านเพื่อสร้างสุขภาวะ ในขณะที่ “สมุดบันทึกมีชีวิตของกลุ่มลูกเหรียงจากยะลา” เอามาให้ซื้อหา บอกว่าหน้าปกเป็นภาพวาดของเด็ก ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อเอาไปพัฒนาชีวิตของเด็ก ๆ เหล่านั้น ยิ่งทำให้นึกถึงบ้านก๋งที่ยะลา – ท่าสาป – สะเตง เข้าไปใหญ่ สุดท้าย มีวัยรุ่นเฮ้ว ๆ กลุ่มหนึ่ง มาตั้งกอง “สลักกะลาจากยามู-ยะหริ่ง” กันคึกคักมาก เต้ยก็เลยอุดหนุนกะลาแกะรูปว่าววงเดือนมาอันหนึ่ง น้องเขาบอกว่าถ้าใส่กรอบ ๘๐๐ เปล่า ๆ ๔๐๐ แม่คงรู้นะครับว่าเต้ยเลือกเอาแบบไหนมา แม่เองก็แบบนั้นนั่นแหละครับ.

๕ ตค.๕๙

 

 

Joomla templates by a4joomla
rtp slot https://www.sidiap.org/rtp-live-slot//