logo_new.jpg

โบราณคดีชาวบ้านที่ท่าฉาง ลำดับที่ ๑
Folk Archaeology  @  TaCharng no.1
(bunchar.com รอยลูกปัด 20170807_4)

Gob Siwapat นายโพธิพันธ์ พานิช นภดล ศรีภัทรา ทวีศักดิ์ สุขรัตน์Kritsada Rattanukool

ในสองตู้แสดงของชมรมสุราษฎร์บีดส์เมื่อวานนี้
ที่มีสร้อยร้อยลูกปัดหลายเส้นที่ผมตาลาย ดูไม่ไหวนั้น

ผมกลับสนใจและชวนพี่น้องได้ดูอยู่ ๕ เศษที่บอกว่ารวมมาจากท่าชนะ ดังนี้

๑) ชิ้นชามกระเบื้องสีเทาหนาเนื้อแกร่ง มีลายกดบนผิวเป็นตารางเล็ก ๆ เต็มผิว ในวงการเรียกภาชนะนี้ว่า "Han Sherd" หรือ "เครื่องถ้วยสมัยราชวงศ์ฮั่น" ที่มีพัฒนาการการในการเลือกดินมาขึ้นรูปและเผาอุณหภูมิสูงจนเนื้อแกร่งมาก ถึงระดับ "Stoneware" และพบแพร่หลายมากทางตอนใต้ของจีนต่อตอนเหนือของเวียดนาม ร่วมสมัยราชวงศ์ฮั่นเมื่อ ๒,๐๐๐ กว่าปีที่แล้ว และพบมาที่ท่าชนะ กับ เขาสามแก้ว และถือเป็นสิ่งบ่งชี้ความสัมพันธ์กันกับพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ตอนบนของไทยที่เหนืออ่าวบ้านดอน ตอนนี้ดูเหมือนว่าในจีนกับเวียดนาม และนานาชาติ กำลังค้นพบว่าอายุจริงนั้นเก่าลึกไปเกินสมัยราชวงศ์ฮั่น และผู้สร้างสรรค์อาจจะมิใช่จีน แต่เป็นชนชาวถิ่นในจีนใต้โบราณที่เรียกกันว่า ไป่เยว่ หรือ เยว่ร้อยเผ่า ที่ว่ากันว่า รวมจ้วง ต้ง และ ต้นตระกูล ไทบางเผ่าด้วยครับ

 

๒) เศษหินกลึงเป็นภาชนะน้อยยกขอบแต่แตกซึ่งพบมากในแทบทุกแหล่งที่พบลูกปัดในภาคใต้ประเทศไทย หินแกะกลึงเป็นภาชนะอย่างนี้ เท่าที่พบกันแล้ว สรุปว่าเป็นผอบที่นิยมทำกันมากในอินเดียและพบในสถูป ประดิษฐานพระธาตุและของบูชาทั้งหลาย การที่พบมากในย่านนี้ นอกจากชี้ว่ามีร่องรอยของอินเดียมาถึงบ้านเราแต่โบราณ อาจจะชี้ด้วยว่านี้คือภาชนะบรรจุพระธาตุจากอินเดียเพื่อส่งต่อไปยังเมืองจีน ซึ่งมีหลักฐานว่าในสมัยโบราณนั้นปรารถนาพระธาตุจากอินเดียกันมากจนเกิดเป็นการค้าพระธาตุกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว และที่สำคัญ ลูกปัดทั้งหลายนั้น ในหลายที่ก็พบบรรจุในผอบเป็นเสมือนพระธาตุด้วยครับ

 

๓) และ ๔) ชิ้นกระเบื้องแก้วสีเขียว กับ ชิ้นกระเบื้องดินเผาสีน้ำตาลอ่อนมีลายนูนด้านบน สำหรับแก้วนั้น ขณะนี้กำลังเป็นที่สนเท่ห์ว่าที่พบในสุสานสมัยราชวงศฺฮั่นที่เมืองเหอผู่อันเป็นต้นทางสายไหมทะเลของจีนในสมัยราชวงศ์ฮั่นนั้น ทำมาจากไหน ใบหนึ่งวิเคราะห์แล้วว่าเป็นแก้วโรมัน ใบหนึ่งนั้นแก้วจีน มีอยู่ใบหนึ่งซึ่งชี้ชัดว่าเป็นแก้วเอเชียอาคเนย์ สีฟ้า ทั้งนี้ที่ท่าชนะ ภูเขาทองและบางกล้วย ผมพบหลายสิบชิ้น หลากหลายสี จนเชื่อได้ว่าน่าจะแตกมาจากหลายสิบถ้วยแก้วลักษณะเดียวกัน คุณหมอเจมส์ขอนำไปวิเคราะห์เนื้อแก้ว สรุปว่าส่วนใหญ่เป็นแก้วเอเชียอาคเนย์ พร้อมกับข้อสันนิษฐานว่า ในเมื่อพบเศษแตกจำนวนมากอยู่ที่เมืองไทย โดยเฉพาะที่ท่าชนะ ทำไมจะไม่สันนิษฐานว่าที่นี่คือแหล่งผลิตและส่งออกมาแต่ครั้งโบราณกาลเมื่อ ๒,๐๐๐ ปีที่แล้ว ? ส่วนชิ้นกระเบื้องดินเผานั้น รูปรอยนูนบ่งบอกชัดเจนว่าผลิตมาจากเตาฉางชาที่เมืองจีน กึ่งกลางระหว่างซีอานกับกว่างตุ้ง เครื่องปั้นดินเผาเคลือบจากเตาฉางชานี้ บ้ากันทั้งโลกเมื่อสมัยราชวงศ์ถัง ประมาณ ๑๐๐๐ กว่าปีก่อนโน้น โดยเฉพาะโลกอาหรับ และจีนผลิตส่งขายทางทะเลเป็นการใหญ่ มาขึ้นฝั่งที่แหลมโพธิ์พุมเรียงแล้วข้ามไปลงทะเลอีกรอบที่เกาะคอเขา เพราะพบเศษมากมายมหาศาล

 

๕) เศษเครื่องถ้วยเนื้อสีขาวเคลือบสีฟ้าเขียวชิ้นนั้น ในแวดวงโบราณคดีเรียกว่า "Basra Ware" ผลิตแพร่หลายมาจากเมืองบัสราในแดนเปอร์เซียโบราณโน่น และเป็นอีกเครื่องของที่นิยมกันมากในสมัยโลกโบราณ รวมทั้งในสุสานจีนโบราณทั้งหลาย

 

เอาเป็นว่า เพียง ๕ เศษในตู้ ก็บอกอะไรได้มากขนาดนี้ แล้วขอดี ๆ เป็นชิ้นเป็นอันจะขนาดไหนละครับ

มาทำงานโบราณคดีภาคประชาชนกันนะครับ พี่น้องคนสุราษฎร์ และ ชาวลูกปัดทั้งหลาย

ลองดูเทียบกับภาพที่เขาขุดได้จากสุสานสมัยราชวงศ์ฮั่นที่มณฑลกว่างสีกว่างตุ้งที่ผมเพิ่งไปมานะครับ ขาดแต่ภาพผอบพระธาตุครับผม

๗ สค.๖๐

Joomla templates by a4joomla
rtp slot https://www.sidiap.org/rtp-live-slot//