logo_new.jpg

ถวายของขวัญ วันครบ ๑๑๑ ปี ท่านอาจารย์พุทธทาส
Present the Present to Buddhadasa, Presently, Today
(bunchar.com การพระศาสนา/บัญชาชีวิต 20170527_1)

ตลอดวันที่ ๒๔ - ๒๕ ที่พวกเราชวนกันแสวงหาหนทางสมาน "พุทธธรรมกับสังคม" กันอย่างยิ่ง กระทั่งเย็นวันที่ ๒๕ ก็ลงมาไชยาแล้วตลอดวานนี้ที่ผมไม่ได้รายงานอะไรเพราะทำอะไรไม่ได้หยุดจนไม่รู้ว่าจะรายงานอะไรได้ ครั้นเช้านี้หลังทำวัตรเช้าก็ถูกตามเข้าร่วมหารือกับท่านอาจารย์โพธิ์ คณะสงฆ์แห่งสวนโมกข์ ร่วมกับคณะอุบาสกและสีกาแห่งสวนโมกข์ จนได้กรอบการขับเคลื่อนขบวนธรรมนี้ออกมา แล้วตะกี้นี้ ก่อนฟังธรรมกัณฑ์บ่าย ท่านอาจารย์โพธิ์กับคุณนิคม ก็ตามตัวให้ไปร่วมบอกกล่าวแก่สหธรรมิกแห่งสวนโมกข์ ดังนี้ครับ

กรอบการขับเคลื่อนขบวนธรรม...ของ
สวนโมกขพลาราม และ คณะธรรมทาน

ตามที่คณะธรรมทาน ได้แก่คณะผู้สนใจในธรรมที่อำเภอไชยาได้ร่วมกันก่อตั้งเป็นคณะธรรมทาน ในปี พ.ศ.๒๔๗๒ มีพุทธทาสภิกขุและนายธรรมทาส พานิชเป็นหลักในการขับเคลื่อนงานธรรมเป็นลำดับมา กระทั่งก่อตั้งเป็นสวนโมกขพลารามในปี พ.ศ.๒๔๗๕ ต่อจากนั้นจึงจัดตั้ง ธรรมทานมูลนิธิ ในปี พ.ศ.๒๔๙๖ ก่อนที่จะจัดตั้งวัดธารน้ำไหลขึ้นในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๑๕ โดยมีลักษณะของการประสานการขับเคลื่อนงานตามที่ท่านอาจารย์พุทธทาสเขียนระบุไว้ว่า “จัดแบบสวน ถูกกว่าแบบวัด” ส่วน “วัดธารน้ำไหล...เกี่ยวกับระเบียบสงฆ์...ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย...” และ “ในกาลอนาคต ถ้าเปลี่ยนเจ้าอาวาส และเกิดขัดกัน ถ้ามีกฎอะไรออกใหม่โดยคนใหม่ ถ้าเราตายลง วัดธารน้ำไหลจะผูกพันกับมูลนิธิแทนสวนโมกข์ อาจจะมีเรื่อง” ให้ “สวนโมกข์ อยู่โดยคณะธรรมทาน” 
ภายใต้การดำเนินการที่ผ่านมาใน ๒ สมัย โดยพุทธทาสภิกขุและธรรมทาส พานิช กับพระอาจารย์โพธิ์ จันทสโรและคุณเมตตา พานิชที่ดำเนินตามหลักการดังกล่าว ถึงขณะนี้จึงเห็นควรที่จะนำกรอบการขับเคลื่อนนี้มาใช้เป็นแนวต่อไป โดยมีหลักการ ๓ ประการ
หนึ่ง) ให้ถือเอาพระธรรม-วินัยเป็นที่ตั้ง
สอง) น้อมนำแนวทางและแบบอย่างที่ท่านอาจารย์พุทธทาส คุณธรรมทาส ท่านอาจารย์โพธิ์ และครูบาอาจารย์ ตลอดจนสหธรรมิกสืบสานทำมาแต่ก่อน
สาม) รับเอาตัวบทกฎหมายและระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ เป็นส่วนประกอบอย่างสอดคล้องเหมาะสม
ดังนี้
๑) ระบบงานนี้มีสถานะเชิงนามธรรม ว่า “สวนโมกขพลาราม” เป็นแบบ “สวน” ภายใต้การขับเคลื่อนของภาคีเครือข่ายในชื่อว่า “คณะธรรมทาน” โดยมี “วัดธารน้ำไหล” กับ “ธรรมทานมูลนิธิ” เป็น ๒ องค์กรนิติบุคคลหลักภายใต้ร่มแห่ง “สวนโมกข์ฯ” และ “คณะธรรมทาน”
๒) “วัดธารน้ำไหล” มีสถานะเป็นวัด ตาม พรบ.คณะสงฆ์ อยู่ภายใต้เจ้าอาวาส มีไวยาวัจกรและคณะกรรมการ พร้อมระเบียบแบบแผนข้อปฏิบัติต่าง ๆ ในขณะที่ “ธรรมทานมูลนิธิ” มีสถานะเป็นองค์กรนิติบุคคล อยู่ภายใต้คณะกรรมการตามกฎหมายระเบียบแบบแผน
๓) ขณะนี้ มีอีก ๒ หน่วยที่เกิดเพิ่มขึ้น คือ “มูลนิธิพุทธทาส” และ “มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ” โดยยังมีกิจการของ “สวนโมกข์นานาชาติ” ที่เริ่มในช่วงปลายชีวิตของท่านอาจารย์พุทธทาส ภายใต้การขับเคลื่อนร่วมกันระหว่างธรรมทานมูลนิธิและวัดธารน้ำไหล ในนามของคณะธรรมทานและสวนโมกขพลาราม มีลักษณะเป็น “ธรรมาศรมนานาชาติ ธรรมาศรมธรรมมาตา และ ธรรมาศรมธรรมทูต” 
 ๔) จึงเห็นสมควรฟื้นฟูและจัดตั้งคณะบุคคลเป็น “คณะธรรมทาน” เพื่อประสานสนับสนุนส่งเสริมดำเนินการกิจการงานธรรมทั้งหลายของ “สวนโมกขพลาราม” ประกอบด้วย คณะสงฆ์แห่งวัดธารน้ำไหลและผู้แทนจากทั้ง ๓ มูลนิธิตามที่พิจารณาเห็นสมควร และให้มีการนมัสการหรือเชิญพระภิกษุสงฆ์หรือบุคคลอื่นเป็นที่ปรึกษาของคณะธรรมทานด้วยได้ โดยในเบื้องต้น อาราธนานิมนต์พระอาจารย์โพธิ์ จันทสโรเป็นประธานคณะธรรมทาน ร่วมกับบุคคลในอำเภอไชยาและจังหวัดสุราษฎร์ธานี
๕) ให้คณะธรรมทานจัดให้มีการประชุมปรึกษาหารือเนือง ๆ ในการสนองงาน สนับสนุนและรับใช้งานแก่คณะสงฆ์ โดยเฉพาะงานของสวนโมกขพลาราม สวนโมกข์นานาชาติ และวัดธารน้ำไหลที่มีขอบข่ายรายละเอียดกว้างขวาง รวมทั้งประสานส่งเสริมไปด้วยกันกับงานของ ธรรมทานมูลนิธิ มูลนิธิพุทธทาส และ มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ

ลานหินโค้ง สวนโมกขพลาราม
ก่อนฟังธรรมกัณฑ์บ่าย เวลา ๑๕.๐๐ น.
วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๐ 
เนื่องในวาระ ๑๑๑ ปี พุทธทาสภิกขุ

 

Joomla templates by a4joomla
rtp slot https://www.sidiap.org/rtp-live-slot//