การพระศาสนา
- Details
- Written by Super User
- Category: งานศาสนา
- Published: 06 June 2016
- Hits: 2028
Buddhadasa Study To Be ReStart Tomorrow @ SRU (2)
พุทธทาสศึกษาที่กำลังจะเริ่มต้น...อีกรอบ
จากบทนำสู่พุทธธรรม ของ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต)
(bunchar.com การศาสนา, บัญชาชีวิต 20160524)
เมื่อก่อนวิสาขบูชา ๒๕๕๙ ที่เพิ่งผ่านมา พวกเราที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ได้รับหนังสือ “บทนำสู่ พุทธธรรม : ชีวิตงาม สังคมดี ธรรมชาติเป็นรมณีย์” ที่เป็นการสรุปหลักพระพุทธศาสนาที่ถือได้ว่าเป็นบทนำสู่พุทธธรรมเฉพาะอย่างยิ่งได้สรุปสาระของภาวนา ๔ หรือการพัฒนา ๔ ด้าน ซึ่งสำคัญมากสำหรับชาวพุทธ ทั้งกายภาวนา ศีลภาวนา จิตตภาวนา และปัญญาภาวนา ให้เป็นผู้ที่มีกาย ศีล จิต และ ปัญญา ที่พัฒนาดีแล้ว ร่วมกันวางระบบความสัมพันธ์พื้นฐานให้ชีวิตและสังคมงอกงามขึ้นไปในธรรมชาติที่เป็นรมณีย์ทำถิ่นที่อยู่อาศัยให้รมณีย์และช่วยกันทำชุมชนให้อยู่กันดี ในลักษณะพระอวยธรรม ชาวบ้านอวยทาน สองชุมชนเชื่อมประสานกันด้วยธรรม เมื่อคนมีธรรม ชีวิตก็งาม สังคมก็ดี ธรรมชาติที่รอบล้อมก็เป็นรมณีย์ โดยท่านสรุปท้ายไว้ดังนี้
“ตามปกติหรือโดยทั่วไปนั้น การศึกษาพัฒนาควรได้อาศัยครูอาจารย์ ผู้มีความรู้มีประสบการณ์ ที่จะแนะนำให้ความรู้ความเข้าใจ ที่จะได้สดับฟัง เป็นกัลยาณมิตรที่มีโอกาสใกล้ชิดได้ปรึกษา พระสงฆ์เป็นผู้มีวิถีชีวิตที่มุ่งไปในการพัฒนาจิตปัญญา และเป็นที่หวังเป็นที่นับถือของสังคมว่าเป็นผู้ที่พร้อมและเป็นผู้ทำหน้าที่เป็นครูบาอาจารย์เป็นกัลยาณมิตรอย่างนี้ พร้อมกันนั้น พระสงฆ์ซึ่งมีวิถีชีวิตที่อุทิศให้แก่การพัฒจิตตปัญญา ดำรงรักษาสืบทอดธรรมส่งต่อประทีปธรรม แสดงธรรมให้แก่ชาวโลก โดยช่วยนำช่วยแนะผู้อื่นในการพัฒนาทุกด้านของภาวนา ก็เว้นการแสวงหาสะสมวัตถุ ไม่หวังสุขที่พึ่งพิงเสพอามิส เมื่ออาศัยวัตถุเพียงเล็กน้อยที่จำเป็นต่อชีวิต แต่มีธรรมมีปัญญาที่จะแนะนำสั่งสอน ความรู้ความเข้าใจกันในเรื่องนี้ ได้ทำให้เกิดเป็นประเพณีที่พระสงฆ์ ซึ่งไม่สะสมเสพสามิสสุขนั้น จะอาศัยปัจจัยสี่พอที่จำเป็นต่อชีวิต จากการจัดถวายโดยคฤหัสถ์ชาวบ้าน ด้วยการเดินไปบิณฑบาต เป็นต้น พร้อมกับที่เหล่าชาวบ้านก็หวังจะได้สดับฟังธรรมเกื้อหนุนปัญญาจากพระสงฆ์
โดยนัยนี้ ในพระพุทธศาสนา ตามหลักแห่งพุทธพจน์ ‘อญฺโญญฺญนิสฺสิตา’ จึงได้มีประเพณีความสัมพันธ์แบบอาศัยกัน ที่คฤหัสถ์จัดถวายอามิสทาน และพระสงฆ์อำนวยธรรมทาน ดังนี้
ภิกษุทั้งหลาย เหล่าพวกพราหมณ์คหบดี (ชาวบ้าน) เป็นผู้มีอุปการะมากแก่พวกเธอ บำรุงเธอทั้งหลายด้วย จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และหยูกยาเครื่องรักษาผู้เจ็บไข้
แม่เธอทั้งหลายก็จงเป็นผู้มีอุปการะมากแก่เหล่าพราหมณ์คหบดีชาวบ้าน โดยแสดงธรรม อันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามถึงสุดท้าย ประกาศการดำเนินชีวิตประเสริฐ พร้อมอรรถ พร้อมพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง แก่พราหมณ์คหบดีชาวบ้านเหล่านั้น
ภิกษุทั้งหลาย คฤหัสถ์ และบรรพชิต อาศัยซึ่งกันและกัน (ด้วยอามิสทาน และธรรมทาน) อยู่ประพฤติชีวิตประเสริฐนี้ เพื่อไถ่ถอนห้วงกิเลส ที่จะกำจัดทุกข์ให้หมดสิ้นไปโดยชอบ ดังว่าฉะนี้
ผู้ครองเรือน (ชาวบ้าน) และผู้ไร้เรือน (พระสงฆ์) ทั้งสองฝ่าย ‘อญฺโญญฺญนิสฺสิตา’ (อาศัยกันและกัน) ย่อมสัมฤทธิ์สัทธรรมที่ปลอดจากกิเลสผูกรัด อย่างยอดเยี่ยม
บรรพชิตปรารถนาจากคฤหัสถ์ แค่จีวร บิณฑบาต หยูกยา ที่นั่งที่นอน พอเป็นเครื่องบรรเทาความข้องขัด
ส่วนเหล่าผู้ครองเรือน เป็นคฤหัสถ์ อาสัยพระที่ปฏิบัติดีมีธรรม ศรัทธามุ่งต่อพระอรหันต์ เพ่งพินิจด้วยอริยปัญญา ประพฤติธรรมในพระศาสนานี้ ที่เป็นทางไปสุคติ เมื่อยังใคร่กาม มีความเพลิดเพลิน ก็บันเทิงในโลกของเทพ
(ขุ.อิติ.๒๕/๒๘๗/๓๑๔)
๒๔ พค.๕๙
โมกใหญ่ใกล้สระนาฬิเกร์ในสวนโมกข์ไชยา
กับดอกร่วงเมื่อวันที่ ๒๔ พค.๕๙