logo_new.jpg

Seek 6 Plumerias For SuanMokkh BKK, Tomorrow
พรุ่งนี้ จะไปหาลั่นทมมาใส่สวนโมกข์กรุงเทพ สัก ๖ ต้น
(bunchar.com การพระศาสนา 20160619)

นับเป็น ๒ ปัญหาที่มาซ้อนกันอยู่
หนึ่ง ต้นไม้เดิมที่ลานจอดรถสวนโมกข์กรุงเทพนั้น ต้องเปลี่ยนแน่แล้ว
สอง จะปลูกต้นอะไรดี "ลั่นทม" ได้ไหม ?

ตั้งแต่แรกสร้างโน่น ที่ปรึกษาภูมิสถาปัตย์แนะนำให้ปลูก "ฉนวนทอง" 
ด้วยเหตุผลว่าพุ่มดก ใบเขียวแน่นสวย ไม่ร่วงมาก น่าปลูกเป็นฉนวนของหอ
พวกเราก็ถามว่ามีต้นอื่นไหม เท่าไหร่ก็ยืนยันต้นนี้

๖ - ๗ ปี ที่ผ่านมา พิสูจน์แล้วว่า เขาไม่น่าจะเหมาะ
เพราะไม่โตแบบตั้งตัว แถมทำท่าว่าจะล้มใส่รถหลายรอบ
จึงขออนุญาตหากันเอง เสนอกันมาประกอบการพิจารณา ๔ ชนิด
ดูเหมืนอว่าจะมี กันเกรา ปาริชาต สารภี และ ลั่นทม

สุดท้ายน้อง ๆ และเพื่อนภาคีสรุปว่า "ขอเลือกลั่นทม" ผมก็ตกลงตามนั้น
ถามว่า จะหาพันธุ์ไหน สีอะไร จากที่ไหน อย่างไร ?
จะเอาแบบใหญ่มาพร้อม หรือว่าเอามาเป็นกิ่งมาปักแล้วค่อย ๆ รอเติบโต
หรือว่าจะเอาแบบกลาง ๆ กำลังไหว ประมาณทางสายกลาง ?
จะเอาแบบขอ หรือว่าซื้อเหมา หรือว่า ชวนกันมาช่วยกัน ?

จากนั้นผมก็ถาม อ.ภูธร ภูมะธน คนบ้าต้นไม้แห่งลพบุรี
แนะนำต่อ คุณบุญพีร์ พันธุ์วร คนบ้าถ่ายรูปต้นไม้แห่งสยามกลการ
แล้วก็ส่งต่อ คุณหนุ่ย ลีรา แห่ง fb Nui Leera
บอกว่าเขาคือคน "บ้าลั่นทมตัวพ่อของประเทศไทย"
ปลูกเป็นร้อย ๆ ไร่ ไม่รู้กี่แสนต้นและสายพันธุ์ ที่สระบุรี

พอโทรไปถาม รู้ว่าจากสวนโมกข์กรุงเทพ
ก็บอกว่า "มาเลย ผมให้ได้เลยครับ 
แต่ว่าจะเอาพันธุ์อะไร ต้นขนาดไหน ถ้าใหญ่มากต้องหารถไปขนยกเองนะ"

พรุ่งนี้พวกเราจึงจะแวะไปเรียนรู้และเลือกดู
ส่วนผมเองนั้น หยิบตำราที่เคยได้มาจากฟลอริด้า เมื่อ ๒๒ ปีก่อน
ตอนไปทุนไอเซ่นฮาวร์ แล้วขอดูนานาอุทยาน พิพิธภัณฑ์และสถานเรียนรู้
รอบนั้นไป Disneyland @ Orlando ที่เด็กน้อยเพิ่งถูกจระเข้คาบ
กับ Fairchild Tropical Garden @ Miami
แล้วผมถูกขโมยจักรยานริมหาด ขณะนุ่งผ้าขาวม้าเล่นน้ำไมอามี่บีช

เขียนไว้ที่ปกในว่า
"เคยชอบลั่นทมในฐานะไม้สวยและหอมเย็น
แต่เมืองไทยไม่นิยมเพราะเป็นสัญลักษณ์ของสุสาน
เห็นเล่มนี้เข้า ถูกใจมาก ๆ หลากหลายเหลือเกิน
กับกำลังตั้งใจจะเจริญ มรณานุสสติ
สวนลั่นทมน่าจะเป็นสื่อ มรณานุสสติได้บ้าง
ก็เลยซื้อมาอีกเล่มหนึ่ง จากทั้งหมด ๗ เล่ม"

วันนี้ลองไล่อ่านตามที่ป้ายสีไว้ สรุปสังเขปได้ว่า
๑) เป็นไม้เขตร้อน ต้นกำเนิดน่าจะในอเมริกากลาง แถบ แคริบเบียน
๒) แพร่หลายไปทั่วทั้งโลกมาเนิ่นนาน มีชื่อเรียกหลากหลาย แต่ชื่อ Plumeria นี้ ตามนามสกุล Plumer คนตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ นอกนั้นก็ตามแต่จะรู้และปรุงกัน เช่นในฮาวาย เรียกดอกสิงคโปร์ ด้วยนำเข้ามาจากสิงคโปร์ ในอินโดนีเซียกับชวา เรียก กัมโพชา/เซมโปจา เพราะว่ากันว่ามาจากกัมโพชา บ้านผมเรียก จำปาขอม น่าจะทำนองเดียวกัน ฝรั่งเศสเรียก Frangipanier เพราะว่าหอม Fragrance นิยมสกัดทำน้ำหอม อิตาลีบอกว่า Catherine de Medici แห่งฟลอเรนซ์เธอคลั่งไคล้สุด ๆ แต่ในอินเดีย เรียก Temple/Pagoda Tree นิยมปลูกในแทบทุกศาสนา โดยเฉพาะใช้เป็นเครื่องบูชารวมทั้งในสุสาน ด้วยเหตุผลว่าเป็นไม้มหามงคลและเต็มไปด้วยพลังแห่งชีวิต คือว่า ตัดกิ่งทิ้งไว้นานครัน ก็ยังเอามาปลูกเป็นต้นใหม่ได้ ซาลวาดอร์ที่อเมริกากลาง เรียกว่า Flor de Mayo ต้นไม้แห่งพฤษภา อันเป็นเดือนแห่ง Virgin Mary รวมทั้ง Aztec ที่เม็กซิกันก็นิยมกันมาก
๓) ไทยเรานั้น ทำไมนิยมแต่ในสุสานกับวัดก็น่าจะเป็นมาอย่างเดียวกัน แต่ติดกันมาที่ชื่อ ลั่นทม ซึ่งไม่มีใครรู้ที่มา อังคาร กัลยาณพงศ์ คุยกับผมว่า คำ "ลั่นทม" นั้นแปลมาจาก "ลานโทม" ในเขมร ที่มีนัยยะแห่งการสักการะบูชา แล้วไทยเรารับมาเป็นชื่อไม้นี้แล้วทำเสียงสั้น ๆ ตามที่นิยมปลูกในสุสาน เป็น "ลั่นทม" จนเหมือนกับไม้ถูกสาป จนต้องมาตั้งชื่อกันใหม่ว่า "ลีลาวดี" แล้วจึงปลูกกันใหญ่ อันที่จริงในหนังสือ Plumeria เล่มนี้ บอกว่าที่เขาชอบปลูกในวัดและสุสาน เพราะเป็นไม้วิเศษ เต็มไปด้วยพลังแห่งการฟื้นคืนชีวิต แถมทิ้งดอกหอมลงมาห่มคลุมอยู่เป็นนิจนิรันดร์

หนังสือนี้เขาสรุปสั้น ๆ ด้วยการโคว๊ทคำกล่าวของ ดร.ที เอ รามากฤษณะ เมื่อวันที่ ๗ พย.๒๕๒๒ ที่ว่า "Plumeria and Peace go in company and there is nothing to beat this beutiful plant for achieving tranquility and utter peace of mind"

แล้วคอยฟังผลนะครับ ว่าชาวเราจะเลือกกันอย่างไร ?ใครมีข้อคิดความเห็นอะไรก็ขอเชิญนะครับ

๑๙ มิย.๕๙

 

 

 

Joomla templates by a4joomla
rtp slot https://www.sidiap.org/rtp-live-slot//