บัญชาชีวิต
- Details
- Written by Super User
- Category: คุยกับหมอบัญชา
- Published: 26 March 2017
- Hits: 1374
แล้วต้องการอะไรจากผม ? ๒๕ ปีวลัยลักษณ์
What Could I Contribute this WU 25th Anniversary
(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด/บัญชาชีวิต 20170326_4)
เมื่อวานนี้ ก่อนที่วลัยลักษณ์จะมีอายุครบ ๒๕ ขวบ ๔ วัน ผมแวะเข้าไปตามใบสั่งของพ่อกรกช แล้วขอทำอะไรกันข้างนอกเพราะไม่ชอบในห้องในหับ จากนั้นจึงได้ทำเลเหมาะ ชานหลังอาคารบริหารที่มองเป็นจตุรัสใจกลางทั้งมหาวิทยาลัยที่แต่ก่อนคือที่สงวนเลี้ยงสัตว์แห่งบ้านทุ่งไผ่ของพี่น้องชาวท่าศาลา แล้วมีมติตามลำดับจากชุมชนหมู่บ้านและสภาตำบลจนถึงจังหวัดว่าให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มาสร้างที่นี่ โดยที่ทางรัฐบาลและมหาวิทยาลัยก็ได้ดูแลชดเชยค่าเสียหายเรื่องอาคารสิ่งก่อสร้าง ทรัพย์สินตลอดจนผลอาสินในอัตราสูงสุดเท่าที่จะทำได้ตามตัวบทกฎหมายในขณะนั้น พร้อมกับยังปันอีกหลายพันไร่ไว้เป็นชุมชนสาธิต แก่ผู้ที่มีบ้านเรือนอยู่แล้วรายละ ๕ ไร่ รวมใช่เงินหลวงไปนับร้อยล้านบาท อะไรที่หลวงให้ไม่ได้ เช่นโรงเรียนกับศาสนสถานที่ถือเป็นอีกหัวใจ ผมก็ชวนพี่น้องตั้งสุธีรัตนามูลนิธิ เอาเงินของแม่-น้า-ยาย และพี่น้องมาสร้างให้ไว้ ๓-๔ หลังใหญ่ ๆ เข้าใจว่าจะยังอยู่ครบ
ถามว่าอยากให้บอกอะไรหรือ ?
คำอวยพรครับ
อย่างนั้น ทำไม่เป็น ต้องไปขอจากผู้หลักผู้ใหญ่
ผมเป็นผู้น้อย มีได้แต่ความปราถนาดี ที่หวังให้ท่านทั้งหลายเอาไปทำกันเอาเองเท่านั้น
อย่างนั้น เอาอย่างที่คุณหมอเพิ่งเขียนไป
ว่าทำไมถึงได้มาอยู่ที่นี่
และอยู่มา ๑๐ ปีแรก ได้ทำอะไรบ้าง ?
ผมจึงว่าไปตามนั้น แล้วจบตามนี้โดยประมาณ
อาจจะต้องตามฟังเอาเองหลังจากเขาตัดต่อเท่าที่เขาชอบแล้วกันนะครับ
ผมทิ้งท้ายว่า ผมบอกคนนครเสมอ ๆ ว่าอย่าได้เห็นมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์แต่ที่เม็ดเงินที่ลงมาก่อสร้างหรือครูบาอาจารย์นักศึกษาเอาลงมาใช้ แล้วขายของได้ รวมทั้งค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้น หากคิดแค่นั้นก็จบเห่ เลิกได้เลยครับ ในขณะที่มหาวิทยาลัยเองก็น่าจะคิดอะไรได้ไกลกว่าเช่นกัน ให้สมกับที่ประกาศตนว่าจะเป็น "ประภาคารทางปัญญา" เป็น "องค์กรธรรมรัฐ เลิศทางวิชาการ หลักในถิ่น และ นำสู่สากล"
พอดีที่มายืนล้อมคุมผมอยู่มีทั้งคนสงขลา พัทลุง แถมอธิการบดีก็มาจากนิด้า ผมก็เลยยกกรณีน่าศึกษาที่เพิ่งไปพบมาจากสงขลาว่าด้วย มูลนิธิชุมชนสงขลา-เรารักสงขลา ที่มีนิด้ามาชวน มอ.แล้ว มอ.ไปชวนจังหวัดกับหอการค้ามาลงขันตั้งเป็นมูลนิธิ เพื่อออกไปหนุนช่วยชุมชนท้องถิ่นทำนี่นั่นโน่น โดยการให้คนอาสาออกไปทำกัน มี มอ.เป็นฐานวิชาการ จนออกมาเป็นอะไรไม่น้อย และเมืองนครกับภาคใต้ตอนบนที่เป็นพื้นที่บริการหลักของ มวล.นี้ มีความต้องการ "หน่วยกลางที่รู้เรื่องจริง ไม่ไปเข้าฝักฝ่ายใคร และมีกึ๋นพอ" โดยเฉพาะ "สถาบันอุดมศึกษาที่ถือเป็นองค์กรวิชาการชั้นสูง" มาช่วยในเรื่องนี้ ทั้งเรื่องความรู้ การเชื่อมประสาน สนับสนุนต่าง ๆ ซึ่งอันที่จริง วลัยลักษณ์ก็ได้เริ่มมาแล้วด้วยไม่น้อย
แม้แต่ที่ในงานนี้ ที่มีเขตเกษตรทฤษฎีใหม่ แสดงมะนาวรากแกร่ง ผักคอนโด ปลารดน้ำผัก พระอาทิตย์เลี้ยงปลา เป็ดไข่อารมณ์ดี นาข้าวไม่คอยฝน ขี้วัวติดไฟ หม้อข้าวหม้อแกงลิงพันธุ์ใหม่ ฯลฯ ก็มีหลายอย่างที่ทำได้ ผมจำได้ว่าเมื่อครั้งถูกลากเข้าไปเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยฯ หลายสมัยก่อนอยู่วาระหนึ่ง ได้ถามท่านคณบดีฯ ในที่ประชุมว่า ในเมื่อมี นศ.เข้ามาเรียนน้อยมาก ๆ ทำไมครูบาอาจารย์ไม่เร่งงานด้านอื่นออกมาให้สมกับเป็นอุดมศึกษาชั้นนำ ? แต่ก็ไม่ได้คำตอบอะไร รู้แต่ว่าท่านคณบดีสนใจแต่จะเป็นอธิการบดีถ่ายเดียว
เท่านี้ดีกว่าครับ เขาขอแต่คำพร ที่ผมแปลงเป็นแค่ความปราถนาดี
ขอบคุณภาพประกอบของครูโรจน์และสมจิตร ศิษย์รุ่นแรกที่ทำให้ผมลาออกได้สมบูรณ์แบบ
แถมพ่อสุดใต้ที่ได้เจอด้วย เพราะคณะนี้นับเป็นอีกสุดยอดศิษย์ที่ทำให้ผมสนุกมาก ๆ เลยครับ
ถูกเพื่อนครูอาจารย์และคณะผู้บริหารบ่นตรึม ว่า...
๒๖ มีค.๖๐