บัญชาชีวิต
- Details
- Written by Super User
- Category: คุยกับหมอบัญชา
- Published: 01 June 2017
- Hits: 1946
ปูชนียอภิวาท...รัตนธัชมุนี - ใครช่วยหาภาพแผ่นป้ายสัจจศาลาให้ด้วย
Highly Homage the RatanaThathMuni
(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด 20170531_8)
หลังประชุมเรื่องศาลาหน้าเมืองวันนี้
ผมเลือกไปกราบสักการะพระพุทธสิหิงค์ในหอพระ
แล้วหยิบหนังสือเล่มนี้ที่เพิ่งเจอเมื่อเช้ามาอ่านซ้ำ
เป็นหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพท่านเจ้าคุณม่วง เมื่อวันที่ ๒๐ มิย.๒๔๗๘ ณ เมรุสนามหน้าเมือง ว่าด้วยรายงานการจัดการศึกษา การพระศาสนา และกวีนิพนธ์ ซึ่งมีบทเพลงบอก เรื่องศาลาโกหก หรือ สัจจศาลา สำนวนพระวิเศษอักษรสารท่องจำไว้ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก จากต้นฉบับที่เจ้าคุณแต่งมอบให้ลูกเสือนำโดยขุนชำนาญคดี
เอาไปร้องในคราวชุมนุมลูกเสือแห่งชาติที่กรุงเทพเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๐ เพื่อเป็นการคัดค้านฯ
ผมได้ยกตอนต้น ๆ มาเล่าแล้ว ๒ ช่วง นี้คือตอนสุดท้ายที่อยากให้อ่านมาก ๆ ครับ
"ชนต่างด้าวชาวต่างเมือง ไม่รู้เรื่องประถมถิ่น
พูดเล่นลิ้นปลายฝีปาก จึงถลากถลำ
เรียกว่าศาลาโกหก ซึ่งแกล้งยกเอาความระยำ
ตัดถ้อยคำที่เป็นจริง เปลี่ยนออกทิ้งไป
หามีศาลาโกหกไม่ เป็นคำใกล้ โด กับ โก
เมื่อใครโผล่ขึ้นสักคำ ชวนกันซ้ำใหญ่
ถ้า โดหก คือ โกหก อย่างที่นึก จะจารึกไว้ทำไม
เพราะผู้ใหญ่ปกครองถิ่น ใช่ว่ากินทราย
ไม่อาจสร้างซึ่งหลักฐาน ตั้งสำนักงานที่พูดปด
ย่อมเสียยศผู้ครองถิ่น ไม่รู้สิ้นหาย
บุคคลที่ไม่รู้อะไร พูดได้พูดไปตามสบาย
เหมือนแกล้งขยายกองกิเลส ให้ต่างประเทศฟัง
ในสมัยแห่งพระองค์ กรมดำรงสถิตย์ที่
เสนาบดีทราบกิจจะ ตามกิระดัง
ท่านไม่ชอบพระหฤทัย ตามวิสัยที่ด่วนฟัง
เพราะทรงหวังบำรุงประเทศ ไปทุกเขตรคาม
โดยคำ โกหก ลามกมาก แบ่งเป็นภาคของความชั่ว
ไม่ให้กลั้วติดถิ่น ในแผ่นดินสยาม
จึงทรงโปรดเกล้ากรุณา ให้เรียกศาลา สัจจนาม
สมกับความศรีวิไล มีอยู่ในแดน
ทำใหม่หลังคาจารึกหมาย เป็นแผ่นป้ายขึ้นมั่นคง
เพื่อดำรงอยู่ยืนนาน ด้วยกระดานแผ่น
ให้เรียกสัจจศาสา ต่างภาราไม่ดูแคลน
ตรึงป้ายแผ่นถาวรา ติดหลังคาอยู่
ชาวนครศรีธรรมราช เคารพบาทเชื้อพระวงศ์
เพื่อดำรงชนหมู่มาก ทนกระดากหู
หวังเย็นเกล้าทั้งหญิงชาย เหมือนต้องสายสินธู
เป็นเครื่องชูชีพให้ชื่น อยู่ทุกคืนวัน ฯ
ถึงตอนนี้ รบกวนใครช่วยหาภาพที่มีแผ่นป้าย
"สัจจศาลา" ให้ด้วยได้ไหมครับ ?
อีกประการ ท่านเจ้าคุณรูปนี้
คือพระศิริธรรมมุนีที่ ร.๕ ทรงเลื่อมใส นับเป็นสหชาติ ตั้งเป็นผู้อำนวยการศึกษา เจ้าคณะมณฑลนครศรีธรรมราชและปัตตานี
ต่อมาเป็นพระเทพกวี, พระธรรมโกศาจารย์
และ พระรัตนธัชมุนี ในที่สุด
นามของท่านเป็นที่มาของสีประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช คือ "ม่วง" ที่พ่วงไปอยู่คู่กับ "แสด" ในสีแห่งวลัยลักษณ์ด้วยครับผม.
๓๑ พค.๖๐