logo_new.jpg

หลังจัดมา ๑๐๐ ปี เดือนสิบที่เมืองนครควรจะเป็นอย่างไรกันต่อไป ?

HowOnDuearnSibMuangNakorn After 100 Years ?

(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด 20230915_5)

บัญชา พงษ์พานิช สวนสร้างสรรค์ นาคร-บวรรัตน์ บวรนคร

นี้ครับ ที่ผมพยายามประมวลเรื่องงานเดือนสิบเมืองนคร

เพื่อลงสารนครศรีธรรมราช ฉบับงานเดือนสิบ ที่ บก. วันพระ สืบสกุลจินดา ขอมา

งานนี้สืบสานกันมานานเนิ่น เริ่มมีการจัดงานร่วมเมื่อ ๑๐๐ ปีก่อน

จากนั้นก็มีการปรับเปลี่ยนมาตามกาลจนจะครบ ๑๐๐ ปี ปีนี้

ซึ่งลงท้าย พวกเราเห็นว่ายากแล้วที่จะไปเสนอหรือชี้แนะ 

แม้เข้าไปร่วมด้วยช่วยอะไรก็ยากแสน เพราะเคยแล้วหลายแนวครับ

จึงลงเอยด้วยการมาจัดงานกันเองเล็ก ๆ ที่บวรนครครับ

“.....#งานเดือนสิบ เปนที่สนุกสนานของเด็ก ๆ ทุกคนจะได้รับเงินแจกจากผู้ใหญ่ นอกจากงานบุญแล้วทางจังหวัดยังออกร้านของอำเภอต่าง ๆ และมีร้านค้าในเมืองก็ไปออกด้วย มีการประกวดร้านกันด้วย นอกจากนี้ยังมีหนังตะลุง โนรา ลิเกประชันกันด้วย มีกีฬา มวย วัวชน เปนต้น เด็ก ๆ ชาวนครทุกคนจะรอให้ถึงวันนี้ ได้เที่ยวและรับแจกสตางค์ ในวันจ่ายสมัยนั้นมีจ่ายที่ตลาดเย็น ตลาดวัดสบ หัวถนนและตั้งโรงร้านริมถนนราชดำเนินจากบ้านเชิงสะพานราเมศวร์เปนระยะไปถึงตลาดเย็น ต่างก็เอาของแปลก ๆ มาขาย ที่ขาดไม่ได้ก็ขนมพอง ขนมลา ขนมเดือนสิบ หนังตะลุง และเขาเอาไม้มาทำเปนนกเสียบไม้ กะลาก็ทำเปนรูปนก คุณแม่จะพาฉันกับยุพาไปซื้อของเพื่อเอามาจัดหมฺรับไปวัดในวันรุ่งขึ้น เด็ก ๆ สนุกมาก มีลูกโป่งด้วย ซึ่งเด็ก ๆ ชอบ มีอยู่ปีหนึ่งคุณแม่ได้พาไปจ่ายของตามตลาดต่าง ๆ คุณพ่อให้คนไปตาม มีคนมาเบิกเงิน เมื่อมาถึงบ้านปรากฏว่ากุญแจเซฟที่เหน็บเอวหาย ก็กลับไปดูตามตลาดที่ไปดูของ ถามก็ไม่มีใครเห็น ที่บ้านยายจันทร์วัดสบซึ่งไปแวะก็ไม่มี เปนทุกข์ว่าเอาไปหล่นหายที่ไหน ดูจนทั่วแล้วก็ไม่มีเลยกลับบ้าน คุณแม่เกิดปวดท้องเข้าห้องน้ำ พอปลดหางโจงกระเบนกุญแจหล่นลงมา มันติดอยู่ที่ชายพกข้างหน้านั้นเอง คุณแม่นุ่งโจงกระเบนตลอดเลย เปนเรื่องเล่าเรื่องกุญแจหาย ถ้าหากนุ่งผ้าถุงคงหายไปแล้วไม่พบแน่ 

ในงานเดือนสิบปีหนึ่งทางทหารได้นำเครื่องบินขับไล่มาโชว์ ถ้าใครอยากขึ้นไปชมวิวเมืองนคร-ปากพนังก็ขึ้นได้โดยซื้อบัตร ฉันได้ลองขึ้นเหมือนกัน เปนเครื่องบินขับไล่ขึ้นไปนั่งคนเดียวนั่งข้างหลังนักบิน แต่บินไม่ไกล รอบ ๆ สนามหน้าเมืองเท่านั้น ส่วนคุณพ่อ คุณแม่ พี่สงบ คุณยายจือ(นางสุมนสุขภาร-จือ ลิมปชาติ)นั่งเครื่องหลายคนไปดูวิวถึงปากพนัง มีเรื่องขำที่เล่ากันมา มีเถ้าแก่ที่ปากพนังรุ่นคุณพ่อก็ไปขึ้นเครื่องบินขับไล่เหมือนที่ฉันขึ้น ขึ้นแล้วโบกมือให้คนดูรอบสนามอย่างยิ้มแย้ม แต่ให้เครื่องบินวิ่งไปรอบ ๆ สนามโดยไม่ให้เครื่องบินบินขึ้น เข้าใจว่าคงกลัว เปนที่เฮฮาของคนดู ความจริงวิ่งไม่ขึ้นนั้นกระเทือนมาก ขึ้นไปแล้วก็น่ากลัวเหมือนกันเพราะนั่งได้คนเดียว 

งานเดือนสิบนี้คุณพ่อมีส่วนร่วมริเริ่มตั้งแต่ปี ๒๔๖๖ ในนามของคณะกรรมการจังหวัดที่มีพระยารัษฎานุประดิษฐ์(สิน เทพหัสดิน ณ อยุทธยา) ผู้ว่าราชการจังหวัด กับ คุณพระภัทรนาวิก(เอื้อน ภัทรนาวิก) ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ที่เริ่มก่อตั้งศรีธรรมราชสโมสร แล้วย้ายจากงานเดือนสิบที่เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ให้ริเริ่มจัดในวัดพระธาตุในวันวิสาขบูชาปี ๒๔๖๕ เพื่อหาเงินซ่อมพระวิหารวัด โดยย้ายมาจัดที่สนามหน้าเมืองในช่วงเทศกาลเดือนสิบ จนได้เงินพอสร้างอาคารศรีธรรมราชสโมสรที่สนามหน้าเมืองที่เปนสำนักงานการท่องเที่ยวในทุกวันนี้ โดยระยะต่อมาก็ยังจัดที่สนามหน้าเมือง มีการออกร้าน แสดงสินค้าและนิทรรศการ การละเล่นและการแสดงต่าง ๆ ผลัดเปลี่ยนกันไปในแต่ละปี บริษัทบวรก็ไปออกร้านอย่างต่อเนื่องอยู่หลายปี คุณสุธีและฉัน จะพาลูก ๆ ไปเล่นทุกปี มีม้าหมุน รถชนกัน ชิงช้าสวรรค์ มีอยู่ปีหนึ่งลูกขึ้นชิงช้านั่งเปนคู่ ๆ พ่อนั่งกับติ่ง ส่วนฉันรออยู่ข้างล่าง ไม่กล้าขึ้น หมุนไปได้ ๑-๒ รอบเกิดเครื่องเสีย เลยนั่งห้อยอยู่บนชิงช้า กว่าจะหมุนได้ รอบนี้พอถึงพื้นก็พากันลงหมด กลัวค้างเติ่งกันอยู่ข้างบน เสียดายที่ทุกวันนี้มีแต่งานออกร้านขายของ.....” 

ที่มา : #รัตนานุสรณ์ : เรื่องเล่าของแม่ ลูกสาวขุนบวรฯ ที่เมืองนคร (นางรัตนา พงษ์พานิช ๒๔๖๖ - ๒๕๕๙)

 ข้างต้นคือเรื่องเล่าของชาวนครศรีธรรมราชคนหนึ่งที่เกิดในปีแรกของการจัดงานสวนสนุกเดือนสิบเมื่อ ๑๐๐ ปีก่อน และยังมีส่วนร่วมกับงานตลอดมาทั้งในฐานะลูกสาวของหนึ่งในกรรมการจัดงาน คือ ขุนบวรรัตนารักษ์ โดยต่อมายังมีส่วนร่วมในการจัดร้านแสดงกิจการและสินค้าของบริษัท บวรพาณิชย์ จำกัด อย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะร่วมกับเหล่ากาชาดจังหวัดนครศรีธรรมราชในการจัดและดูแลร้านกาชาดในฐานะสมาชิกและผู้ร่วมดูแลรับผิดชอบการเงินในฐานะเหรัญญิกร่วมกับน้องสาวคือยุพา บวรรัตนารักษ์จนถึงประมาณปี พ.ศ.๒๕๔๐ หลังจากงานย้ายจากจัดที่บริเวณสนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราชไปจัดที่สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ หรือทุ่งท่าลาดเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕

#นี้คือหนึ่งในงานเทศกาลประจำปีประจำจังหวัดที่ยาวนานที่สุดและมีความเป็นที่สุดนานัปการ

 ขุนอาเทศคดี อัยการอาวุโสแห่งเมืองนครได้กล่าวถึงการริเริ่มจัดงานเมื่อปี ๒๔๖๖ ว่า “ ... เหตุที่ทางการบ้านเมืองจะรับเอางานทำบุญเดือนสิบมาจัดเป็นงานประจำปีขึ้นนั้น เนื่องด้วยพลโทสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์เมื่อยังดำรงพระยศเป็นกรมขุนอุปราชปักษ์ใต้ โปรดเกล้าฯ ให้พระยารัษฎานุประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชจัดการซ่อมพระวิหารในวัดพระบรมธาตุ เช่น ทำช่อฟ้าใบระกาเพดานที่พระวิหารหลวง และประดับประดาด้วยกนกลวดลายไทยมีดวงดาวแฉกเป็นรัศมีที่พระวิหารม้าและพระวิหารเขียนเป็นต้นจนหมดเงินในการก่อสร้าง ท่านจึงคิดหาเงินด้วยการออกร้านจำหน่ายสินค้าและเล่นการพนันประเภทสองขึ้นในวัดพระบรมธาตุทางทิศใต้พระวิหารหลวง เวลานั้นยังเป็นที่ว่างไม่มีแม่ชีหรือพระภิกษุเข้าอยู่อาศัย เรียกว่าสวนดอกไม้ มีต้นอโศก กระดังงา มะม่วง มะขาม เป็นรมณียสถานร่มรื่น ได้เริ่มจัดงานขึ้นในวันวิสาขะ พ.ศ.๒๕๖๕ จัดงานอยู่สามวันสามคืน ได้เงินค่าประมูลโรงร้านและการพนันเป็นจำนวนหมื่น พอเพียงกับการก่อสร้างในครั้งนั้น ... ครั้นต่อมา พ.ศ.๒๔๖๖ พระยาภัทรนาวิกธรรมจำรูญ (เอื้อน ภัทรนาวิก) เวลานั้นยังเป็นหลวงรามประชา ผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชและเป็นนายกศรีธรรมราชสโมสร ท่านเห็นว่าศรีธรรมราชสโมสร ชำรุดเพราะสร้างมาหลายปีแล้ว (สร้างมาแต่ พ.ศ.๒๔๕๑ ทุกวันนี้คืออาคารสโมสรข้าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ใช้เป็นสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย)  สมควรจะจัดทำขึ้นใหม่ให้เป็นตึกถาวรสง่างาม แต่ก็ขัดข้องด้วยไม่มีเงินจึงได้ปรึกษาหารือกับพระยารัษฎานุประดิษฐ์ ตกลงให้เอางานทำบุญเดือนสิบมาจัดเป็นประจำปีขึ้น ณ สนามหน้าเมือง ปีแรกใน พ.ศ.๒๔๖๖ นั้นเอง ... พระยาภัทรนาวิกจำรูญเป็นประธานกรรมการ พระยารัษฎานุประดิษฐ์เป็นที่ปรึกษา พระยานิติกฤตประพันธ์ หลวงอรรถกัลยาณสินิจ พร้อมด้วยข้าราชการทุกแผนก ทุกอำเภอ ตลอดถึงข้าราชการบำนาญ ตำรวจ พ่อค้า คหบดีและกรรมการพิเศษ เช่น ขุนวิโรจน์รัตนากร ขุนบวรรัตนารักษ์ ขุนประจักษ์รัตนกิจ และขุนสุมนสุขภาร เป็นต้น ... การจัดงานในปีนั้น ๓ วัน ๓ คืน เริ่มแต่วันแรม ๑๒ ค่ำ หน้าวันจ่ายวันหนึ่ง และสิ้นสุดวันแรม ๑๔ ค่ำ หลังวันจ่ายวันหนึ่ง เฉพาะค่าผ่านประตูเก็บผู้ใหญ่ ๑๐ สตางค์ เด็ก ๕ สตางค์ สมัยนั้นเงินมีค่าจึงรู้สึกแพงมาก เก็บเงินได้ในครั้งนั้นรวมค่าโรงร้านด้วยเกือบสามพันบาท ... “ 

โดยตลอด ๑๐๐ ปีที่ผ่านมานอกจากจะนับเป็นหนึ่งในงานเทศกาลประจำปีในภาคใต้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เป็นเป้าหมายของการเดินทางมาร่วมการบุญและท่องเที่ยวอย่างกว้างขวางแล้ว ยังมีพัฒนาการอย่างหลากหลายและน่าทำความเข้าใจที่สุดด้วยงานหนึ่ง นอกจากนี้ยังเป็นงานที่มีการจัดพิมพ์หนังสือที่ระลึกประจำงานอย่างต่อเนื่องและยาวนานอาจจะมากที่สุดอีกงานหนึ่งด้วย กล่าวคือเท่าที่ค้นพบแล้วคือ หนังสือ “งานประจำปีนครศรีธรรมราช พ.ศ.๒๔๗๗” และยังมีการจัดพิมพ์อย่างต่อเนื่องถึงขณะนี้อันเป็นปีที่ ๑๐๐ คือฉบับในมือของท่านนี้ โดยในหนังสือปี ๒๔๗๗ ได้ระบุว่า “ ... งานประจำปีเมืองนครศรีธรรมราชที่ประชาชนราษฎรนิยมเป็นงานใหญ่และปฏิบัติเป็นประเพณีกันมาแต่บุพชนนับเป็นเวลาอันเนิ่นนาน ขั้นแรกมิได้เคยปรากฏมีหัวหน้าหรือผ็จัดการของงาน ราษฎรต่างนิยมกำหนดนับวันตามจันทรคติ คือต้องเป็นเดือน ๑๐ แรม ๑๓ และ ๑๔ ค่ำ รวม ๒ วัน แล้วก็มีประชุมสันนิบาตพร้อมกันในบริเวณตลาดท่าวังและตลาดในเมือง วันแรกเป็นวันจับจ่ายซื้อเครื่องอุปโภคบริโภค ทั้งของเล่น ซึ่งในวันนั้นพวกพ่อค้าแม่ค้าได้ออกร้านขายของต่าง ๆ ตลอดถึงขนมประจำปีชื่อขนมลาขนมพองซึ่งเป็นขนมประจำปีที่จะขาดเสียมิได้ รุ่งขึ้นวันแรม ๑๔ ค่ำ นับเป็นวันสำคัญและเป็นวันสุดท้ายของงาน ปวงพุทธศาสนิกชนทั้งหลายต่างจัดสรรพของที่จับจ่ายมาทั้งของดิบและของสุกรวมลงในภาชนะใหญ่ ๆ อันหนึ่ง มีกระบุง ตะกร้า ชามอ่าง เป็นต้น ตบแต่งด้วยดอกไม้ ธูปเทียนและภัณฑะอื่น ๆ อย่างสวยงามแล้วนำวัดถวายสงฆ์ การถวายทำพิธีเช่นเดียวกับการถวายสลากพัสดุ์เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ความสำคัญของงานประจำปีของเมืองนครฯ อยู่ที่การอุทิศส่วนกุศลเป็นปุพพเปตพลีนี้เอง ... “

#อะไรคือหัวใจของเดือนสิบ

 หากถามกันโดยทั่วไป งานที่ประกาศกันว่าคืองานเทศกาลประเพณีเดือนสิบตลอด ๑๐๐ ปีที่ผ่านมานั้นเกือบมิได้มีส่วนร่วมอะไรในหัวใจของประเพณีเลย ด้วยมีแต่งานการติดตลาดและสวนสนุกเป็นสำคัญ อาจเรียกได้ว่าเป็นเพียงการพลอยโอกาสอันเป็นประเพณีจัดงานเพื่อหาเงินของกลุ่มบุคคลหรือคณะ แม้ในระยะต่อมาจะมีการส่งเสริมประกวดการจัดหฺมฺรับตลอดถึงการแห่หฺมฺรับก็เป็นเพียงการจัดสาธิตแสดง มิได้เป็นหฺรฺรับที่สามารถนำถวายเป็นการกุศลเพื่อพระภิกษุและผู้คนจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้ ที่เลยไปกว่านั้นคือการกุศลเป็นปุพพเปตพลี ที่หมายถึงการทำบุญอุทิศกุศลแก่บรรพชนผู้ไปก่อนแล้วทั้งหลายนั้นไม่ว่าจะในสุคติหรือทุคติภูมิ เนื่องจากคำว่า เปต นี้ที่จริง ๆ แล้วหมายถึงผู้ไปก่อน แต่เมื่อกร่อนกลายเป็นหมายถึงเปรตผู้ตกทุกข์ได้ยากในสัมปรายภพ ภาพปรากฏของงานบุญเดือนสิบจึงเหมือนมีเปรตเป็นสัญญลักษณ์ไปแทบทั้งนั้น ต่างจากหัวใจที่แท้จริงของการบุญเดือนสิบ ที่สมมุติว่าบรรพชนทั้งหลายที่ไปก่อนแล้วไม่ว่าจะที่ไหน สุคติหรือทุคติ ท่านพากันกลับมาเยี่ยมลูกหลาน ประเพณีเดือนสิบจึงมีกระบวนการรับตายายในวันแรม ๑ ค่ำ ยกหฺมฺรับบำเพ็ญกุศลอุทิศในวันแรม ๑๔ ค่ำ แล้วบังสุกุลส่งตายายในวันแรม ๑๕ ค่ำ โดยมีการเผื่อแผ่แก่ผู้ไปก่อนที่ตกทุกข์ได้ยากและอาจไม่มีญาติมิตรมาทำบุญอุทิศให้ด้วยการทำบุญตั้งเปรตให้เป็นการเติมเต็ม แต่แล้วก็เกิดกลายเป็นว่าการรับรู้สู่สาธารณะวงกว้างเสมือนเป็นงานบุญให้แต่เปรตดังที่ปรากฏมากไม่ว่าจะในสื่อเพื่อการประชาสัมพันธ์ ตลอดจนในขบวนแห่และนิทรรศการแสดงและตามงานต่าง ๆ จนเกิดการรับรู้ในระยะหลังว่างานเดือนสิบนี้เสมือนเป็นงานที่ว่าด้วยเปรต ขณะที่ประเพณีการทำบุญอุทิศอันงดงามเต็มไปด้วยศรัทธาและสีสันที่ชาวนครแทบทุกครอบครัวต่างไปกระทำกันที่วัด เกิดเป็นมหกรรมงานบุญในทั่วทุกวัดทั้งแผ่นดินเมืองนครกลับถูกละเลยและไม่ส่งเสริมสนับสนุนจนแม้แต่การกล่าวถึงแต่อย่างใดเลย

#๑๐๐_ปีของงานประเพณีเทศกาลเดือนสิบเมืองนคร

 ตลอด ๑๐๐ ปีของการจัดงานประเพณีเทศกาลเดือนสิบตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๖๖ ที่จัด ๓ วัน โดยมีการงดจัดในระหว่างเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา - สงครามโลกครั้งที่ ๒ ระยะหนึ่ง (พ.ศ.๒๔๘๗ - ๘๘) จนกระทั่งปีนี้ซึ่งอาจนับเป็นปีที่ ๑๐๑ ซึ่งเกิดปฏิบัติการเหลือเชื่อจัดงานฉลองกัน ๒๐ วันนั้น พอที่จะฉายภาพให้เห็นบางพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงโดยสังเขปได้ดังนี้

 พ.ศ.๒๔๖๖ - ๒๔๗๖ 

จัดโดยศรีธรรมราชสโมสรที่บริเวณสนามหน้าเมืองเพื่อหารายได้สมทบทุนสร้างอาคารของสโมสรตามที่กล่าวถึงข้างต้น

 พ.ศ.๒๔๗๗ - ๒๕๐๔

คณะบุคคลนำโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช (นายมงคล รัตนวิจิตร) และ หลวงสรรพนิติพัทธ์ เสนอขอจัดเพื่อนำเงินมาใช้ในกิจการอันเป็นสาธารณประโยชน์ มีการขยายงานจาก ๓ วัน เป็น ๕ วัน ๗ วัน จนถึง ๑๐ วันในที่สุดโดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าขยายในปีไหนบ้าง พร้อมกับมีการสลับผลัดเปลี่ยนผู้จัดจนในปี พ.ศ.๒๔๘๒ คณะกรรมการจังหวัดมอบให้เทศบาลเมืองนครศรีธรรมราชเป็นผู้จัดต่อเนื่องอยู่หลายปีเพื่อนำรายได้บำรุงสาธารณสถานและโบราณสถานในเขตเทศบาลและจังหวัดนครศรีธรรมราช มีการประกวดนางสาวนครศรีธรรมราชสอดคล้องกับการประกวดนางสาวไทย 

 พ.ศ.๒๕๐๔ - ๒๕๑๑ 

คณะกรรมการจังหวัดนำโดยผู้ว่าราชการจังหวัด (นายสันต์ เอกมหาชัย) เริ่มเป็นผู้จัดงานเองโดยความร่วมมือของเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราชและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งราชการ อำเภอ สถานศึกษา และ ภาคเอกชนบริษัทร้านค้า มีกิจกรรมสำคัญนอกจากร้านค้าและการบันเทิงต่าง ๆ แล้ว ยังมีการแสดงและประกวดผลงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน นิทรรศการความก้าวหน้าต่าง ๆ ในการพัฒนา การแข่งขันกีฬาประจำปี การแสดงบนเวทีกลาง ดนตรี ฟ้อนรำ แข่งกลอน ตลอดจนร้านกาชาดและสมาคมสตรี ฯลฯ นำรายได้ใช้ในกิจการสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ อาทิ สร้างฌาปนสถานจังหวัดนครศรีธรรมราชที่วัดชะเมา สร้างรั้วกำแพงและซุ้มประตูวัด สร้างรั้วกำแพงสนามหน้าเมืองและศาลากลางจังหวัด ฯลฯ

 พ.ศ.๒๕๑๒ - ๒๕๑๙ 

มีการนำรายได้จากการจัดงานตั้งเป็นมูลนิธิงานเดือนสิบสงเคราะห์การศึกษาเพื่อส่งเสริมการศึกษาทุกระดับชั้นในจังหวัด ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยในปี พ.ศ.๒๕๑๖ มีการประกวดหฺมฺรับ ปี พ.ศ.๒๕๑๘ มีการจัดสรรรายได้ก่อสร้างโรงเรียนประชาบาลได้ ๕ โรง คือ โรงเรียนบ้านสวนอาย (ฉวาง) โรงเรียนบ้านสี่แยก (ทุ่งสง) โรงเรียนบ้านปากลง (ท่าศาลา) โรงเรียนบ้านทุ่งส้าน (เชียรใหญ่) และ โรงเรียนวัดคลองเมียด (พรหมคีรี)

 พ.ศ. ๒๕๒๐ - ๒๕๒๕ 

เริ่มมีการทำบุญตักบาตร พิธีการกุศลฟื้นฟูประเพณีวันสารทที่ศาลาประดู่หก รวมทั้งนิทรรศการและการประกวดผลผลิตทางการเกษตร โดยในปี พ.ศ.๒๕๒๒ มีการประกวดเครื่องใช้และหัตถกรรมพื้นบ้านและนิทรรศการเกี่ยวกับอาชีพ การแข่งขันกลองยาว เพลงบอก ขนมเดือนสิบ ที่สำคัญคือคณะกรรมการเห็นว่างานในระยะหลัง ๆ เน้นที่การออกร้านและมหรสพจนกลายเป็น “งานวัด” ได้วางแผนฟื้นฟูการประกวดหฺมฺรับและแห่หฺมฺรับที่เป็นหัวใจของงานเดือนสิบเพื่อการส่งเสริมให้ชาวเมืองใต้ยกหฺมฺรับทำบุญให้กว้างขวางหลังจากเคยมีการริเริ่มในปี พ.ศ.๒๔๗๖ แล้วบางปีก็จัดบางปีก็งด ต่อมาปี พ.ศ.๒๕๒๓ เมื่อรัฐบาลกำหนดให้เป็นปีท่องเที่ยวไทย ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราชร่วมจัดแสดงนิทรรศการพิเศษชีวิตไทยปักษ์ใต้ ครั้งที่ ๓ มีการศึกษาค้นคว้าพัฒนาการจัดหฺมฺรับออกเป็นกรอบขอบเขตเบื้องต้น ทั้งภาชนะสำหรับบรรจุ สิ่งของสำคัญที่ขาดไม่ได้และสิ่งของอื่น ๆ ที่ควรมี พร้อมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจัดการแสดงศิลปวัฒนธรรมระหว่างภาคบนเวทีกลาง 

 พ.ศ. ๒๕๒๖ – ๒๕๓๐ 

สมัยของผู้ว่าราชการจังหวัดนายเอนก สิทธิประศาสน์ (๒๕๒๖ - ๒๙) มีการปรับปรุงพัฒนางานในเชิงพื้นที่ด้วยการแบ่งเป็น ๓ บริเวณ คือ (๑) ส่วนที่เป็นงานประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นประกอบด้วยเวทีกลาง มหรสพท้องถิ่น และเวทีกลอน (๒) ส่วนจัดแสดงนิทรรศการและความรู้ของส่วนราชการทั้งในจังหวัดและส่วนกลาง โดยเฉพาะด้านการเกษตร ด้านการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ด้านอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม การศึกษา สาธารณสุข  การท่องเที่ยว ฯลฯ และ (๓) ส่วนจำหน่ายสินค้า อาหารและการสนุกรื่นเริง โดยในปี พ.ศ.๒๕๒๗ และ ๒๕๒๘ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้จัดการแสดงแสงและเสียงขึ้นในบริเวณวัดพระหมาธาตุวรมหาวิหารร่วมด้วย พร้อมกับที่ในปี พ.ศ.๒๕๒๘ ทางจังหวัดได้นำงบประมาณพัฒนาจังหวัดเข้าสมทบเพื่อเร่งเร้าให้แต่ละอำเภอขัดขบวนแห่หฺมฺรับเข้าร่วมด้วยเป็นการใหญ่

        พ.ศ.๒๕๓๑ - ๒๕๓๕ 

สมัยนายนิพนธ์ บุญญภัทโรเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ในปี พ.ศ.๒๕๓๑ จังหวัดตัดสินใจเปลี่ยนแปลงการจัดงานเดือนสิบใหม่จากการร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่ายของจังหวัดร่วมจัดงานภายใต้งบประมาณค่าใช้จ่ายจากรายได้ค่าผ่านประตูและสถานที่ออกร้านที่ได้จากงานเดือนสิบในแต่ละปีมาเป็นให้มีผู้รับเหมาประมูลงานแล้วจัดสรรงบประมาณสำหรับจังหวัดและหน่วยงานจัดกิจกรรมต่าง ๆ โดยมีการฟื้นฟูการประกวดนางสาวนครศรีธรรมราช การแสดงเวทีกลาง การแสดงผลผลิต นิทรรศการวิชาการ และผลงานของหน่วยงานตลอดจนห้างร้านภาคเอกชนลดน้อยลง ยกเลิกการแสดงผลงานศิลปหัตถรรมนักเรียน แล้วเพิ่มร้านค้าสารพัดต่าง ๆ ขึ้นมาแทน จุดเด่นของงานเดือนสิบที่เป็นงานของพื้นที่เหลือแต่เพียงศาลาแสดงและแข่งขันผลงานหัตถกรรมชาวบ้านและศาลาการเกษตร โดยในปี พ.ศ.๒๕๓๕ เมื่อทางราชการทำการปรับปรุงสนามหน้าเมืองเป็นสวนเฉลิมพระเกียรติในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถมีพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา เพื่อเป็นการรักษาประวัติศาสตร์ของพื้นที่และจัดงานรัฐพิธี การชุมนุมทางการเมืองและสถานที่ออกกำลังกายผักผ่อนของพลเมือง โดยให้หาพื้นที่จัดตลาดนัดและงานสวนสนุกเดือนสิบใหม่ ประกอบกับขนาดของงานเดือนสิบขยายใหญ่ล้นออกมาจากพื้นที่ ๑๔ ไร่ รอบทิศทางตามผิวจราจรก่อปัญหาการจราจรที่มีความคับคั่งมากขึ้น จึงให้ย้ายพื้นที่จัดงานออกไปที่บริเวณสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ๘๔ (ทุ่งท่าลาด)  

 สมนึก เกตุชาติ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราชในขณะนั้น เขียนในบทความ “งานเดือนสิบปีนี้ที่ทุ่งท่าลาด” ในหนังสือ เดือนสิบ ’๓๕ ว่า “ ... คิดหาสถานที่อื่นก็หาไม่ได้ ที่ประชุมจึงตกลงใจใช้พื้นที่สวนสมเด็จฯ เป็นที่จัดงานเดือนสิบ ก็มีรายละเอียดต่องพูดจากันต่อ เทศบาลจะยินยอมให้ใช้พื้นที่สวนสมเด็จฯ หรือไม่ เทศบาลไม่ขัดข้องและจะปรับปรุงพื้นที่ให้เหมาะสมกับการจัดงานไว้ให้ด้วย รายได้จากการจัดงานเดือนสิบที่จังหวัดเคยได้อยู่ล่ะ มาจัดในที่ของเทศบาลจะว่าอย่างไร เทศบาลก็บอกให้จังหวัดไปเลย รายได้ของงานเดือนสิบเอาไปทั้งหมดตลอดไป อย่างนี้ก็พอพูดกันต่อไปได้ คือจะแบ่งงานกันทำอย่างไร ... ใครรับผิดชอบอะไรก็แยกย้ายกันไปทำ ... จะเอาอย่างไรก็เอากันให้สนุกกันไปเลย ... “ 

  พ.ศ.๒๕๓๖ - ๒๕๖๕

เป็นช่วงของความพยายามฟื้นฟูงานเดือนสิบที่ทุ่งท่าลาดระลอกสุดท้าย ที่ทำการปกครองจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นหน่วยประสานหลักการจัดงานเดือนสิบได้มีบทความในหนังสือเดือนสิบ’๓๗ ชื่อ “งานเดือนสิบ’๓๗ บนหลักการที่ถูกต้องและยั่งยืน” ว่า “ ... เมื่อนับเวลาตั้งแต่มีการจัดงานที่สนามหน้าเมืองตั้งแต่ปี ๒๔๖๖ จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา ๗๐ ปีมาแล้ว เป็นธรรมดาอย่างยิ่งที่บางสิ่งบางอย่างเกิดความไม่เหมาะสมเนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป จากการสรุปประเมินผลการจัดงานปี ๒๕๓๖ พบว่าการจัดงานมีความบกพร่องหลายประการที่จำเป็นต้องมีการแก้ไข คือ ๑.ผู้รับเหมาจัดงาน ไม่ปฏิบัติตามสัญญาโดยเคร่งครัด ... ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ขาดความเชื่อมั่นศรัทธา ๒.การจัดงานซ้ำซ้อน ... เมื่อจังหวัดสั่งห้ามจึงเกิดภาพพจน์ไม่ดีต่อสายตาประชาชนว่าจังหวัดปกป้องผู้รับเหมา ๓.กิจกรรมในงานมีลักษณะเป็นธุรกิจมากขึ้น ประชาชนทั่วไปไม่มีส่วนร่วม กิจกรรมเด่น ๆ ในอดีตถูกตัดทอนลงไป ๔.ค่าใช้จ่ายในการจัดงานขาดความประหยัดและสิ้นเปลืองสูง ๕.ผังการจัดงานไม่เหมาะสม กิจกรรมดี ๆ ที่น่าสนใจหรือควรได้รับการส่งเสริมไปอยู่ในมุมอับไม่มีคนเข้าไปชม ... “ พร้อมกับสรุปผลการหารือออกมาว่า “ ... ที่ประชุมได้มีมติที่สำคัญ ๕ ประการ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการกำหนดรูปแบบของการจัดงานปีนี้ คือ  ๑.จังหวัดจะจัดงานเองโดยให้เทศบาลนครนครศรีธรรมราชเป็นแม่งาน จะไม่ให้ผู้รับเหมาเข้ามารับเหมาจัดงานทั้งหมด  ๒.จัดงานให้ยิ่งใหญ่ขึ้น สมกับที่เป็นงานสำคัญของจังหวัดและจะเน้นศิลปวัฒนธรรม  ๓.ยึดหลักประหยัดค่าใช้จ่ายและให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดงาน  ๔.จัดเป็นงานเปิด ไม่มีการเก็บค่าผ่านประตูและจะไม่ผูกขาด ใครจะจัดที่ไหนก็ได้แต่ให้อยู่ในกรอบของความเหมาะสม  ๕.แบ่งส่วนพื้นที่จัดงานเป็นเขตให้ชัดเจน ... “   

โดยสมนึก เกตุชาติ นายกเทศมนตรีฯ ในขณะนั้น เขียนบทความ “กว่าจะมาเป็นงานเดือนสิบ’๓๗”  ในหนังสือเดือนสิบ ’๓๗ ว่า “ ... ผู้ว่าราชการจังหวัด สุชาญ พงษ์เหนือ ได้นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการจัดงานเดือนสิบว่าถ้าไม่เก็บค้าผ่านประตู คือให้เที่ยวฟรีจะมีทางทำได้หรือไม่ ท่านบอกว่าเดี๋ยวนี้จังหวัดถูกชาวบ้านตำหนิว่าขายงานเดือนสิบให้เอกชนไปทำ กลายเป็นงานวัด ความสนุกสนานและยิ่งใหญ่สูญหายไปไม่เหมือนในอดีต ทั้งเงินที่ได้มาจากการขายงานก็ใช้จ่ายกันไปแบบไม่เป็นระเบียบ ท่านบอกว่าเวลานี้เข้าใจกันว่าเงินงานเดือนสิบนั้นมีอยู่ในบัญชีไม่ต่ำกว่า ๑๐ ล้าน แต่ความจริงมีเพียง ๓ แสนกว่า เฉพาะยอดที่ผู้รับเหมาค้างชำระเท่านั้น เรียกว่าไม่มีเงินสดเลยแถมยังถูกนินทาอีกต่างหากว่าทุกปีมีการรับเงินใต้โต๊ะ ท่านบอกในที่ประชุมว่าทุกปีผู้รับเหมางานจ่ายให้จังหวัดมา ๒ ล้านบาท แล้วคณะกรรมการจัดงานเดือนสิบก็บริหารเงิน แจกจ่ายไปให้หน่วยราชการที่เข้ามามีกิจกรรมในงาน เช่น จ่ายช่วยอำเภอเป็นค่าจัดหฺมฺรับและขบวนแห่ ให้วิทยาลัยนาฏศิลป์จัดแสดง สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดจัดพิธีเปิด ให้เทศบาลจัดกีฬาเปิดงาน สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดจัดการแสดงของนักเรียน อย่างนี้เป็นต้น อย่างปีกลายนี้ท่านมาดูอยู่เองก็ใช้เงินไปเพื่อการอย่างนี้แล้ว ๑ ล้าน ๖ แสนกว่าบาท แล้วท่านก็ถามผมในที่ประชุมจังหวัดว่าจะจัดงานเดือนสิบให้เที่ยวฟรีแบบงาน ๑๒ นักษัตรที่เทศบาลจัดเมื่อเดือนเมษาที่ผ่านมานี้ จะเป็นไปได้หรือไม่ ... ต่อมาได้มีการประชุมคิดโครงสร้างงานเดือนสิบขึ้นมาใหม่โดยตั้งเป้าหมายว่าจะจัดเพื่อชื่อเสียงของบ้านเมืองไม่คิดแสวงหากำไร คนเที่ยวไม่ต้องตีตั๋วเข้าเที่ยวดูได้ทุกอย่างฟรีหมดตามแนวคิดของผู้ว่าราชการจังหวัด สุชาญ พงษ์เหนือ ... “ โดยมีการระบุเป้าหมายว่า “ ... สร้างชื่อเสียงเกียรติคุณให้จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้ประชาชนเที่ยวงานฟรี หาเงินไว้หนุนกิจการบริหารของผู้ว่าราชการจังหวัด (หากมีเงินเหลือ) ... “ พร้อมกับหลักในการดำเนินงานว่า “ ... ให้องค์กรเอกชนและหน่วยราชการร่วมกันจัดงานเดือนสิบโดยร่วมปรึกษาหารือกันตั้งแต่เริ่มดำเนินงานแล้วแบ่งงานกันทำตามความถนัดของแต่ละหน่วยงานโดยยึดหลักร่วมกันเสียสละ ทำงานเพื่อเกียรติและชื่อเสียงของบ้านเมือง ... ”  โดยในปี ๒๕๓๗ นั้น นอกจากการจัดหารายได้ ควบคุมระบบบัญชี รักษาเงิน ผังและสถานที่ มหรสพ รักษาความสงบและจราจร ไฟฟ้า กับพิธีเปิดแล้ว มีการประกวดหฺมฺรับ (จังหวัด วิทยาลัยครู เทศบาล) ประเพณีวันสารท (วัดพระธาตุ) ประกวดเพลงบอก มโนราห์ กลอนสด (ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครู) หัตถกรรมพื้นบ้าน (พัฒนาชุมชน) กิจกรรมของเด็ก (สำนักงานประถมศึกษา) การแสดงภาคเกษตร (เกษตรจังหวัด) วัฒนธรรมและประเพณี (ศึกษาธิการ วิทยาลัยครู) ประชาสัมพันธ์ (ททท. จังหวัด เทศบาล เอกชน) งานออกร้านและโชว์ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (เทศบาล องค์กรเอกชน) วิพิธทัศนา (วิทยาลัยนาฎศิลป์) งานแสดงทางประวัติศาสตร์ (ศิลปากร) ซึ่งสมนึก เกตุชาติระบุในบวทความว่า “ ... จุดที่เป็นกังวลของผู้จัดการอยู่ที่ว่าเมื่อไม่มีผู้รับเหมางานที่ให้รายได้เป็นก้อนใหญ่ ทุกปีที่ได้มาก็ ๒ ล้านบาท แล้วนี้จะเอาเงินที่ไหนมาจัดงาน ซึ่งตามประวัติของตัวเลขต้องใช้เงินในกองกิจกรรมต่าง ๆ ๑ ล้าน ๕ แสนบาท จึงมีการตั้งกรรมการบริหารเงินขึ้นมาเป็นกลุ่มพ่อค้าเกือบทั้งหมดเพื่อแสวงหาแนวทางจัดหารายได้มาเป็นค่าใช้จ่ายจัดงานเดือนสิบโดยอยู่ในหลักการเดิม คือเที่ยวฟรีไม่มีค่าผ่านประตู ผู้ว่าราชการจังหวัดนัดประชุมคณะกรรมการบริหารเงินชุดนี้ด้วยตัวเอง เล่าความตั้งใจของท่านที่จะจัดงานเดือนสิบในภาพใหม่ไม่หวังเงินทอง แต่ต้องการให้ดังให้เป็นศักดิ์ศรีของบ้านเมืองอย่างที่เคยทำกันมาแต่ครั้งก่อน ๆ เมื่อหัวไม่ส่าย หางก็ไม่กระดิก ผู้ว่าราชการจังหวัดแสดงเจตนาเปิดเผยอย่างนั้น กลุ่มพ่อค้าที่เป็นกรรมการก็สบายใจ เมื่อหมดข้อสงสัยว่าไม่มีใครเอารายได้งานเดือนสิบไปใช้ส่วนตัว ไม่มีเงินใต้โต๊ะ ทุกคนก็เต็มใจช่วย ... กรรมการจึงแบ่งพื้นที่งานออกเป็น ๓ ส่วน คือพื้นที่สำหรับการแสดงมหรสพเรียกคน เช่น เวทีกลาง พื้นที่ส่วนราชการจัดแสดงกิจกรรมพร้อมกับบริษัทห้างร้านใหญ่ ๆ มาแสดงสินค้า และส่วนที่ ๓ คือย่านขายของกินของใช้ ชิงช้า ม้าหมุน ปาเป้า ทำนองงานวัด ส่วนที่ ๓ นี้ จะแบ่งให้เช่าทำเงินมาเลี้ยงงานได้ ปัญหาที่ตั้งมาแต่ต้นก็คือว่าจะหาเงินเป็นค่าใช้จ่ายของหน่วยจัดกิจกรรมภาคราชการที่ต้องใช้ ๑ ล้าน ๕ แสนบาท ดังนั้นพื้นที่ให้คนค้าแบ่งเช่านี้ต้องทำเงินอย่างน้อยก็ต้อง ๑ ล้าน ๕ แสนบาท และเพื่อละลายปัญหาที่จังหวัดเคยทำสัญญาผู้พักไว้กับคู่สัญญาเดิม กรรมการบริหารเงินจึงเรียกมาถามว่าจะเช่าที่ส่วนนี้ไปจัดคาราวานสินค้าไหม จะให้เงินช่วยจัดงานเท่าไหร่ ซึ่งก็ตกลงกันได้ในราคา ๒ ล้านบาท ... นี่คือความเป็นมาเป็นไปก่อนจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงรูปโฉมงานเดือนสิบ’๓๗ ให้เป็นงานที่สร้างชื่อเสียงเกียรติคุณในจังหวัดนครศรีธรรมราชตามเป้าหมายสำคัญที่มีมาแต่อดีต ... ” 

 โดยหลังจากนั้นดูเหมือนว่างานเดือนสิบจะกลับสู่การดำเนินอย่างเดิม คืออยู่ในความดูแลของทางจังหวัดโดยมีผู้รับเหมาดำเนินการเป็นหลักที่ทุกฝ่ายเหมือนหมดความพยายามในการฟื้นฟู แทบทั้งบริเวณงานมีแต่สวนสนุกและร้านค้าต่าง ๆ ขณะที่กิจกรรมเชิงศิลปวัฒนธรรมประเพณีตลอดจนนิทรรศการแสดงต่าง ๆ ทยอยลดน้อยลงตามลำดับ พร้อมกับการเกิดการจัดกิจกรรมงานเดือนสิบขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ เฉพาะในเขตเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช มีการติดตลาดงานเดือนสิบในหลายพื้นที่ เริ่มจากมีความพยายามสร้างงานตลาดย้อนยุคขึ้นในบริเวณวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนที่จะเคลื่อนย้ายออกไปจัดที่บริเวณวัดหน้าพระบรมธาตุ พร้อมกับมีความพยายามจัดที่บริเวณสวนศรีธรรมาโศกราชอยู่ระยะหนึ่งแล้วต่อมาย้ายมาจัดที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดอยู่ระยะใหญ่ เพิ่งย้ายออกจากบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดมาจัดที่บริเวณสองฝั่งคูเมืองนครข้างกำแพงเมือง และล่าสุดในปี พ.ศ.๒๕๖๕ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้จัดกิจกรรมนำร่องแนวใหม่ขึ้นที่บริเวณหน้าสำนักงานในบริเวณสนามหน้าเมือง ซึ่งนับกันว่าเป็นอีกมิติใหม่ของความพยายามฟื้นฟูงานเดือนสิบเมืองนครก่อนที่จะครบ ๑๐๐ ปี โดยในหลายพื้นที่เชิงธุรกิจเช่นที่เซ็นทรัลพลาซ่าก็ได้จัดกิจกรรมพิเศษขึ้นด้วย

#ต่อจากปีที่_๑๐๐_ของงานเดือนสิบที่เมืองนคร

 ในทัศนะของผู้เขียนที่เคยคลุกคลีกับประเพณีและงานเทศกาลเดือนสิบในเมืองนครใน ๓ ลักษณะ  ... มีต่อ ...

๑๕ กันยา ๖๖ ๑๗๒๕ น.

บ้านท่าวังสะพานควายกทม.

 

Joomla templates by a4joomla
rtp slot https://www.sidiap.org/rtp-live-slot//