เพื่อแผ่นดินเกิด
- Details
- Written by Super User
- Category: เพื่อแผ่นดินเกิด
- Published: 15 September 2023
- Hits: 476
#ต่อจากปีที่_๑๐๐_ของงานเดือนสิบที่เมืองนคร
What's On DuearnsibMuangNakornCentennial
(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด 20230915_6)
นี้คือทัศนะเชิงข้อเสนอส่งท้ายสำหรับงานเดือนสิบในอนาคต
ที่ผมคิดว่าน่าไม่มีใครอ่านหรืออาจทำอะไรให้เกิดผลได้
เพราะผมเองนี้นั้นก็เสนอมามากและนานแล้ว แถมเคยลงไปคลุกมาไม่น้อย
เอาเป็นว่าสารนครฯ ก็ตีพิมพ์ออกมาแจกจ่ายแล้วตามนี้
แถมในนี้ เต็มไปด้วยเปรตเพ !!!
ใครสนใจไปขอรับได้ที่ อบจ.นศ. หรือขอที่พี่ เฉลิม จิตรามาศ ในพระธาตุได้ครับ
ส่วนในงานหรอยร้อยปีที่บวรนคร ก็อาจพอมีเหลือแจกบ้างครับ
ทาง อบจ.ได้มอบมาแจกจำนวนหนึ่งแล้วครับผม ...
ในทัศนะของผู้เขียนที่เคยคลุกคลีกับประเพณีและงานเทศกาลเดือนสิบในเมืองนครใน ๓ ลักษณะ คือในฐานะเด็กเล็กและมีคนพาเที่ยวและร่วมในร้านของที่บ้านในระยะช่วงอายุ ๑๐ ปีแรก (พ.ศ. ๒๕๐๐ - ๒๕๑๐) ในฐานะพยายามมีส่วนร่วมพัฒนาในหลายกิจกรรม อาทิ จัดศาลาของดีเมืองนครในปี พ.ศ.๒๕๓๐ จัดแสดงนิทรรศการของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในปี พ.ศ.๒๕๓๗ และในฐานะผู้สังเกตุการณ์ตลอดระยะหลัง (พ.ศ.๒๕๔๐ - ๒๕๖๕) ผู้เขียนเห็นว่าบริบทต่าง ๆ ตลอดจนเงื่อนไขข้อจำกัดอุปสรรคและโอกาสต่าง ๆ มีการเคลื่อนตัวมากจนยากที่จะคิดถึงการฟื้นฟูงานเทศกาลเดือนสิบที่ทุ่งท่าลาดได้อีกแล้ว ดังเช่นที่ได้หลายฝ่ายได้พยายามกันเสมอมา แม้ผู้เขียนเองก็ได้เสนอต่อทางผู้ว่าราชการจังหวัดและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยไว้ล่วงหน้านานแล้วถึงโอกาสสำคัญในปีนี้ที่ควรมีการคิดทำอะไรเป็นการสำคัญ ซึ่งออกมาเป็นว่าทางจังหวัดกำหนดให้ขยายการจัดงานเป็น ๒๐ วันโดยยังไม่รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดอื่นใด ขณะเดียวกันด้วยโอกาสใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น อาทิ มีผู้ริเริ่มจัดงานอื่นขึ้นมาทดแทนกันมากขึ้น และดูเหมือนว่าจะมุ่งเน้นนำเสนอรูปแบบลักษณะใหม่ ๆ ที่แตกต่างจากงานหลักและได้รับความสนใจจากผู้คนที่มองหาพัฒนาการกัน ประกอบกับตามระเบียบข้อกำหนดใหม่ ๆ ที่ให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถสร้างทำจัดงานประเพณีได้มากขึ้น พร้อมกับที่มีหน่วยธุรกิจเอกชนที่มีพื้นที่หรือศูนย์การค้าที่สามารถสร้างสรรค์และพัฒนางานขึ้นได้ ในขณะเดียวกันประเพณีแท้ ๆ ที่ทุกชุมชนละแวกบ้านและวัดแทบทุกวัดทั่วทั้งจังหวัด ๖๒๖ วัด มีการยกหฺมฺรับของจริงแท้ไปวัด รับและส่งตายาย ก็เป็นไปอย่างคึกคักและเต็มไปด้วยสีสันน่าสนใจมาก
ผู้เขียนมีข้อใคร่ครวญพิจารณาเป็นการส่วนตัวต่ออนาคตของประเพณีและงานเทศกาลเดือนสิบในเมืองนคร ดังนี้
๑. #งานประเพณีเดือนสิบของเมืองนครควรส่งเสริมสนับสนุนการประเพณีที่แท้จริง ในชุมชนและวัดต่าง ๆ อย่างจริงจัง และหากเป็นไปได้อาจพิจารณาสนับสนุนส่งเสริมการจัดกิจกรรมเชิงสาธิตขึ้นในบางวัดสำหรับผู้คนจากต่างถิ่นได้สัมผัสเรียนรู้และร่วมการบุญเดือนสิบได้ด้วย โดยเมื่อปี พ.ศ.๒๕๖๓ ผู้เขียนได้เคยเชิญศาสตราจารย์พิเศษศรีศักร วัลลิโภดม หนึ่งในนักมานุษยวิทยาคนสำคัญของประเทศเข้าร่วมงานที่วัดศรีทวีในตัวเมือง ท่านบอกว่าเป็นงานที่มีเสน่ห์ทรงคุณค่าและเต็มไปด้วยพลังวิถีวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นที่ท่านไม่คิดว่าจะยังมีเหลืออยู่ เชื่อว่าจะเป็นการเข้าถึงแง่มุมที่แท้จริงของบุญประเพณีเดือนสิบแบบสามารถมีส่วนร่วมได้ โดยเฉพาะในวันบุญยกหฺมฺรับที่วัดในวันแรม ๑๔ ค่ำ ส่วนวันรับตายาย (แรม ๑ ค่ำ) และส่งตายาย (แรม ๑๕ ค่ำ) นั้นอาจเป็นส่วนเพิ่มเติมได้
๒. ด้วยเหตุที่ตลอดระยะ ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา มีการยกคติว่าการบุญประเพณีเดือนสิบนี้มุ่งกระทำเป็น #เปตพลี คือการอุทิศให้แก่บรรพชนผู้ไปก่อนที่จะกลับมาเยี่ยมลูกหลานญาติมิตร ซึ่งย่อมมีทั้งที่ไปสู่สุคติและทุคติ มิได้หมายเฉพาะที่ตกทุกข์ได้ยากเป็นเปรตเท่านั้น ส่วนการตั้งเปรตและชิงเปรตนั้น เป็นการแบ่งบุญอุทิศให้แก่ดวงวิญญาณที่ตกทุกข์ได้ยากและลูกหลานญาติมิตรอาจติดกิจมิได้มาทำบุญให้ ที่ต่อมามีการยกมาเป็นประเด็นเล่นสนุกสนานจนเกิดกลายเป็นเสมือนภาพลักษณ์ของงานซึ่งอาจเลยเถิดเป็นภาพลักษณ์ของเมืองก็เป็นได้ ผู้เขียนเห็นว่าควรปรับทัศนะนี้ใหม่หมด และอาจสร้างทำเรื่องราวพร้อมสัญญลักษณ์หรือประเด็นที่เป็นการเสริมสมดุลเชิงคุณค่าขึ้นมาเพิ่ม เช่นนอกจากฝ่ายที่ตกทุกข์ได้ยากในทุคติภูมิ ก็อาจมีฝ่ายสุคติภูมิเช่นเทวีและเทวดาในงานเทศกาลประเพณีเดือนสิบด้วย
๓. #งานเทศกาลเดือนสิบที่เป็นการออกร้านสวนสนุกหรือรื่นเริง ต่าง ๆ นั้น นอกจากงานหลักของทางจังหวัดที่สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ๘๔ (ทุ่งท่าลาด) นั้น ผู้เขียนเห็นว่ายากมากแล้วที่จะคิดปรับปรุงอะไรได้ เว้นแต่เจ้าการจริง ๆ จะคิดปรับปรุงแก้ไขเองดังที่บางผู้ว่าราชการจังหวัดและเทศบาลเคยพยายามแล้ว ผู้เขียนเห็นว่าผู้ที่มีความคิดและกำลังความสามารถ โดยเฉพาะองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ตลอดจนศูนย์การค้าขนาดใหญ่ หรือแม้ร้านค้าต่าง ๆ ควรชวนกันคิดทำขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ ให้หลากหลายและมาก ๆ ขึ้น ดังที่มีการทำอย่างต่อเนื่องมาแล้วในหลายพื้นที่ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น โดยแต่ละแห่งที่ก็สามารถคิดค้นแสวงหาสิ่งนำเสนอที่แตกต่างและเป็นที่สนใจของผู้คนได้ ไม่จำเป็นต้องไปรวมกันไว้ในพื้นที่เดียว หรือแต่ในพื้นที่อื่น ๆ เท่านั้น
๔. เพื่อร่วมทดลองข้อคิดของผู้เขียน ในปี พ.ศ.๒๕๖๖ นี้ จึงได้ปรึกษาหารือกับหลากหลายฝ่ายที่เป็นกัลยาณมิตรในเมืองนคร กำลังเตรียมการ งาน #หรอย_๑๐๐_ปี_เดือนสิบเมืองนคร ขึ้นที่บริเวณบวรนคร ซึ่งกำลังปรับปรุงตึกยาวบวรนคร หนึ่งในอาคารตึกรุ่นแรกของเมืองนครในวาระมีอายุ ๑๒๕ ปี โดยจะประกอบด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ประกอบด้วย
๔.๑ สาธิตประเพณีเดือนสิบเมืองนคร ประกอบด้วย บุญรับตายาย (วันที่ ๓๐ กันยายน) สาธิตการทำหฺมฺรับเดือนสิบ (๑๓ ตุลาคม) ยกหฺมฺรับ (๑๔ ตุลาคม) และ บังสุกุลส่งตายาย (๑๕ ตุลาคม) ที่หาดทรายแก้วบวรนคร และ วัดในเขตท่าวังเมืองนคร ประกอบด้วย วัดวังตะวันตก วัดบูรณาราม วัดจันทาราม และ วัดศรีทวี
๔.๒ โนราโรงครูสาธิตบนหาดทรายแก้วบวรนคร ระหว่างวันที่ ๒๗ - ๓๐ กันยายน ๒๕๖๖ ของ สหพันธ์สมาคมโนราแห่งประเทศไทย ด้วยการสนับสนุนของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
๔.๓ นิทรรศการ ๑๐๐ ปีงานเดือนสิบเมืองนคร : Timeline ๑๐๐ ปีงานเดือนสิบ, ๑๐๐ สิ่งพิมพ์อนุสรณ์ผู้ไปก่อนแล้ว, ๑๐๐ ของหรอยบอกเรื่องราวคนแต่ก่อน, ๑๐๐ รูปภาพเมืองนครของคนที่ไปแล้ว, ๑๒๕ ปี ตึกยาวบวรนคร ซ่อมรักษาอดีต สร้างอนาคต และ เมืองนครในมุมมองใหม่ (โดยชมรมถ่ายภาพจังหวัดนครศรีธรรมราช)
๔.๔ เสวนา ๑๐๐ ปี งานเดือนสิบว่าไง ? (๑๓ ตุลา), ภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองนครกับมุมมองใหม่ (๑๔ ตุลา), ตึกยาวบวรนครกับอนาคตท่าวังเมืองนคร (๑๕ ตุลา)
๔.๕ แวะสวรรค์บนดินที่หาดทรายแก้วกลางเมืองนคร และ Bovorn Market กิจกรรมสวนสนุกร้านค้าท้องถิ่นทั้งอาหาร เครื่องดื่ม ของกินเล่น หัตถกรรม ของที่ระลึกกว่า ๓๐ ร้าน พร้อมบันเทิง ดนตรี หนังกลางแปลงคัดสรร คืนวันที่ ๓๐ กันยายน และ ๑๓ - ๑๕ ตุลาคม
๕. จึงขอเชิญชวนมาร่วมด้วยช่วยกันทำกันเท่าที่จะทำกันได้ครับ ใครก็ได้ ที่ไหนก็ได้ครับ
๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๖
๑๕ กันยา ๖๖ ๑๗๔๗ น.
บ้านท่าวังสะพานควายกทม.