เพื่อแผ่นดินเกิด
- Details
- Written by Super User
- Category: เพื่อแผ่นดินเกิด
- Published: 30 March 2017
- Hits: 1687
ว่าด้วยที่ดินอันเป็นสถานที่ตั้งวลัยลักษณ์
Land for the Settlement of WU
(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด 20170330_2)
ตอนที่ทบวงและรัฐบาลได้รับแจ้งจาก จว.นศ.นั้น
บอกว่าที่ดินพร้อมพอพัฒนาเป็นเมืองมหาวิทยาลัยหมื่นกว่าไร่ ขอแต่ทางการจัดจ่ายค่าชดเชยให้อย่างเหมาะสม ตอนที่ผมรับเข้าไปร่วมนั้นก็กะว่าจะเน้นเดินหน้าเพื่อการออกแบบ ก่อสร้าง เตรียมความพร้อมเชิงระบบต่าง ๆ ดูเหมือนจะกะว่า ๒ - ๓ ปีก็เปิดได้
แต่พอเข้าไปเริ่มทำงานจริง ยุ่งยิ่งนุงนังไปเสียหมด
ที่ดินตรงไหนบ้าง ? ใช่ที่สาธารณประโยชน์ทั้งหมดไหม ? แล้วถึงตอนนั้นอย่างไรแล้ว ? แล้วใครที่เข้ามาอยู่อาศัยทำกินกันบ้าง ? อย่างไร ? เท่าไหร่ ? ชดเชยอย่างไร ? แล้วจะย้ายเขาไปไหน ?
ไอ้ผมนั้น ท่าน อ.วิจิตรตั้งให้เป็น ผช.อธิการบดีฝ่ายปฏิบัติการ เพื่อประสานการเตรียมการก่อสร้างและเปิดมหาวิทยาลัย นอกนั้นเรื่องที่ดินท่านให้นโยบายว่าควรให้เป็นเรื่องของทางจังหวัด-อำเภอ ซึ่งผมก็คิดว่าควรอย่างนั้น แต่พอได้คุยกับทุกฝ่าย ตามเรื่องทั้งหมดจนรู้เรื่องรายละเอียดลึก ๆ จึงสรุปได้เลยว่า "วลัยลักษณ์น่าจะไม่ได้เกิดที่นี้แน่นอน" ท่าน อ.วิจิตรว่าต้องให้ได้ ท่านนายอำเภอบุญชอบบอกว่า "หมอต้องเป็นหลัก ผมเอาด้วยเต็มกำลัง เท่าที่ทำกันอยู่ลำพังอำเภอนั้นไม่พอ" ในหนึ่งปีแรกจึงเกิดสิ่งเหล่านี้ที่ชัดขึ้ตามลำดับ
หนึ่ง การทำความชัดเจนเรื่องพื้นที่อันเป็นที่ตั้งว่าอยู่ตรงไหนและเป็นอย่างไรในแต่ละแปลงที่เอามาต่อกันจนเป็นพื้นที่ที่ชาวนคร อบต. อ.ท่าศาลาและจังหวัดเสนอให้เป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัย แผนที่รูปนี้ฝีมือคุณวิวรรธน์ นวลนก คนท่าแพและเมืองนคร ที่ลาออกจากงานก่อสร้างเอกชนรายได้สูง มาลุยอยู่กันพักใหญ่ ก่อนที่จะบอก ผมไม่ไหวแล้วครับคุณหมอ ขอไปแต่งงานสร้างครอบครัวและชีวิตก่อนครับ อ่านให้ละเอียด ๆ จะพบว่ายุ่งยิ่งยังกะอะไรดี ทั้งทุ่งบ้าไผ่ ทุ่งคลองปุด ทุ่งหาดทรายขาว ทุ่งบ่อนิง แถมที่สภาตำบลไทยบุรีมีมติออกมาอีกว่ามีอีกหย่อมให้เอาเป็นมหาวทิยาลัยเสียด้วย ในขณะที่มีไม่น้อยที่อยู่กันมานานรายละหลายสิบปีบอกว่าที่เรา ๆ ไม่ใช่ ๆ ในขณะที่ทางตอนล่างก็เกิดข้อแย้งว่าตำบลหัวตะพานมีเขตอยู่ที่คลองตูลไม่ใช่คลองเกียบ ที่จะสร้างมหาวิทยาลัยต่อเพียงคลองตูลไม่ถึงคลองเกียบ ในขณะที่มหาดไทยบอกว่าหมื่นกว่าไร่มากไป ให้ใช่ได้แค่ ๙๐๐๐ ซึ่งก็จะยุ่งอีกว่า ๙๐๐๐ ไหน ได้รบกันจนไม่ต้องได้สร้าง จังหวัดกับมหาวิทยาลัยยืนยันกลับไปว่าต้องทั้งหมด แล้วค่อยปัน ๒,๕๐๐ ไร่ให้ตั้งชุมชนแก่คนที่มีบ้านอยู่ในมาก่อนเท่านั้น สุดท้ายผมต้องประสานทางมหาดไทย เชิญรองอธิบดีกรมที่ดินบินลงมานั่ง ฮ.เข้าไปจนถึงที่เพื่อพิสูจน์เขต แล้วรายงานกับท่าผู้ว่า วิสุทธิ์ สิงข์ขจรวรพันธุ์ ว่าอย่างนี้ ๆ แน่นอน
สอง พร้อมกันนั้นก็เพิ่มเสียด้วยว่านอกจากจ่ายเงินชดเชยต่าง ๆ ให้ดีที่สุดแล้ว จะกันที่ ๓,๖๐๐ ไร่ มากกว่าที่แตกแรกราษฎรบอกกันว่า รายละไร่ก็พอ เป็นให้รายละ ๕ ไร่ พร้อมการตีผังพัฒนาต่าง ๆ ด้วยวิธีปฏิรูปที่ดินซึ่งราษฎรจะได้สิทธิอยู่อาศัยทำกินสืบทอดกันต่อไปได้ อันนี้ผมและพวกต้องวิ่งประสานทั้ง สำนักนายก มหาดไทย กรมที่ดิน สปก. ที่ส่วนกลาง กับทุกฝ่ายในพื้นที่ ทั้งจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ยันชาวบ้านในพื้นที่ทั้งผืน
สาม การจ่ายค่าชดเชย เรื่องนี้ซับซ้อนมาก ทางจังหวัดตั้งคณะกรรมการสำรวจประเมินไว้สามสี่คณะ มีส่วนราชการหลายส่วนรับผิดชอบกันเป็นคณะ ๆ ในแต่ละพื้นที่ โดยมีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ช่วยชี้ ซึ่งก็ดูว่าดี ตอนที่ผมเข้ามานั้นทำไปได้ ๒ รอบและกำลังจะจ่ายเงินชดเชย ถึงขั้นการจ่ายเงินเกิดเสียงเข้ามามากในหลายเรื่องและทิศทางว่าอย่างนั้นอย่างนี้ จนผมนำเรื่อหารือกับท่าน อ.วิจิตร แล้วนำเข้าสภามหาวิทยาลัย ตอนนั้นเป็นรัฐบาลเลือกตั้ง รัฐมนตรีทบวงมาจากพรรคพลังธรรมแล้ว มีมติว่าหากจะไม่ให้เกิดปัญหาตามมาจนอาจยุ่งเข้าไปใหญ่ ให้มหาวิทยาลัยจัดกำลังเข้าไปทำการแทนร่วมกับคณะกรรมการที่จังหวัดตั้งไว้ ให้แม่นยำถูกถ้วน อย่าให้มีข้อครหาใด ๆ ทั้งสิ้น แล้วนำส่งให้โยธาธิการจังหวัดเป็นฝ่ายประเมินค่าตามผลการสำรวจของทีมสนามซึ่งประสานกันสามฝ่าย คือ ปกครอง พื้นที่ และ มหาวิทยาลัย จำได้ว่าผมกำชับให้ตรวจวัดขนาดบ้านเรือนสิ่งปลูกสร้างตลอดจนผลหมากรากไม้อย่างถี่ถ้วนแม่นยำห้าม "ประเมิน ๆ เอา" โดยผมจะสุ่งลงไปตรวจเองเป็นระยะว่าถูกไหม เพราะเรื่องนี้สำคัญมาก หากมีการ "ฉ้อ" เกิดขึ้นสักหนึ่งเดียว โครงการก่อสร้างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จะชะงักหรือไม่ก็หมดโอกาสปักหมุดที่ท่าศาลาและเมืองนครทันที
งานนี้ นอกจากที่ทุกฝ่ายทั้งจังหวัดหนุนด้วย รวมทั้งภาคการเมืองทั้งหมด ในพื้นที่ทั้งท่าศาลาเอาด้วย บอกให้คุณหมอทำอย่างนั้นเลย โดยมีทีมสนามสำคัญ นอกจาก ๓ สิงห์ สมบุญ-ชูชาติ-จรัญ แล้ว แล้วเสริมด้วยอีกจรัญ ชูละเอียด แล้วก็ ไพรวัลย์ รูปโออีกคน มีช่างเทคนิคเข้ามาช่วยอีก ๔ แรง คือ วิชัย รอดทุกข์-ยุสิทธิ์ มีบุญมาก-สิริ บุญเนือง-ณรงค์ มุขวัฒน์ เป็นกำลังสำคัญ ร่วมกับแกนนำชาวบ้านที่ร่วมด้วยช่วยกันชี้แนะและบอกเบาะแส โดยมี ๔ กำนันท้องที่ คือ ผีน ใบเต้แห่งโพธิ์ทอง สวาท รัชนีแห่งหัวตะพาน มนูญ สั่งสอนแห่งไทยบุรี แล้วก็โกเฉี้ยว-พรเลิศ ริมดุสิตแห่งท่าศาลาเป็นพี่ใหญ่ มีท่านนายอำเภอบุญชอบ พัฒนสงค์เป็นพี่ใหญ่อีกชั้น ร่วมกับท่านที่ดินแนบ แล้วก็ท่านผู้กำกับ (จำชื่อไม่ได้เสียแล้ว) เป็นกองกำลังหนุน ทางจังหวัดก็ท่านปลัดจังหวัดและปัด อบจ.ขณะนั้น ชื่อ วิชม ทองสงค์ เป็นอีกกองกำลังหนุน ในขณะที่ท่านผู้ว่าก็ขอให้ประธานสภาจังหวัด นิเวศน์ เกตุชาติ กับ ๒ สจ.ท่าศาลา โสภณ สุทิน กับ สายัณห์ ยุติธรรม เป็นหน่วยการเมืองร่วมด้วยกันอย่างใกล้ชิด โดยทุกคนบอกว่าหมอจะให้ทำอะไร อย่างไรบอกได้เลย ขอแต่ให้ถูกต้องและดูแลชุมชนชาวบ้านให้เต็มที่เท่าที่ตัวบทกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ และมหาวิทยาลัยจะทำได้
นี้ที่ได้ทำเมื่อถึง ๑ ปีแรก เมื่อ ๒๙ มีนาคม ๒๕๓๖ และรายงานสาธารณะไว้ครับ
๒ รูปที่ลง
รูปหนึ่งเมื่อรองอธิบดีกรมที่ดินขณะนั้นลงไปสำรวจเขตที่ดินแล้วสรุปยืนยันว่าที่ทำกันอยู่นั้นถูกต้องแน่ แล้วรายงานแก่ผู้ว่าฯ วิสุทธิ์ มีผมกับ สจ.สายัณห์ ยุติธรรมอยู่ด้วย
อีกรูป เป็นรูปขณะที่ท่านประธานสภาจังหวัดฯ นิเวศน์ เกตุชาติ ในนามของประธานคณะกรรมการแก้ปัญหาที่ดินฯ ที่จังหวัดแต่งตั้ง ลงพื้นที่เพื่อประชุมช้แจงประชาชนในท่าศาลา ใครเป็นใครในรูปบ้าง ผมจำได้ไม่หมดครับ
๓๐ มีค.๖๐