เพื่อแผ่นดินเกิด
- Details
- Written by Super User
- Category: เพื่อแผ่นดินเกิด
- Published: 30 March 2017
- Hits: 1318
รักวลัยลักษณ์...รักประชาชาชนและผู้คนเมืองนคร (๑)
Beloved WU & NST Citizen (1)
(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด 20170330_1)
ในวาระครบ ๒๕ ปี ที่พระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๙
ทรงลงพระปรมาภิไธยใน พรบ.มวล.และถือเป็นการก่อเกิดมหาวิทยาลัยอันเป็นที่รักนี้ทางนิตินัย
ผมพลิกพบเอกสารที่ทำกันออกมาเมื่อวาระครบ ๑ ปี เมื่อ ๒๔ ปีที่แล้วเพื่อรายงานสาธารณะ ณ ขณะนั้น
โปรดทราบไว้ด้วยว่า ณ ขณะนั้นเป็นภาวะพิเศษหลังเหตุการณ์ รสช.แล้วพระเจ้าอยู่หัวขอให้พลเอกสุจินดากับพลตรีจำลองเลิกรากันเสีย แล้วทรงตั้งนายกอานันท์ ปันยารชุนมาขัดตาทัพ มี ศ.ดร.เกษม สุวรรณกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย และ ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เป็นปลัดทบวงฯ พร้อมกับเป็นหลักในการขับเคลื่อนโครงการจัดตั้ง ม.ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ก่อตัวมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๐ จนชัดขึ้น ๆ ในปี ๒๕๓๓ จากความเอาจริงของชาวนครที่มีฐานทางวิชาการและการขับเคลื่อนสำคัญอยู่ที่วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช ร่วมกับหอการค้าฯ และ ทั้งจังหวัดฯ ในนามของ "ชาวนครต้องการมหาวิทยาลัย"
แล้วจึงลงตัวในปี ๓๔ - ๓๕ กระทั่งได้รับพระราชทานชื่อว่า "วลัยลักษณ์" ผ่าน พรบ. ลงพระปรมาภิไธย ประกาศในราชกิจจานุเบกษา แล้วมีผลบังคับใช้ในวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๓๕
จำไม่ได้ว่าผมเริ่มมาช่วยงานวลัยลักษณ์เดือนไหน แต่มาก่อนที่วลัยลักษณ์จะรับอย่างเป็นทางการ เพราะมีการเร่งรัดหลายอย่าง รวมทั้งการเปิดศูนย์ประสานงานขึ้นในจังหวัดนครฯ โดยได้รับอนุเคราะห์จากทางจังหวัดกับกรมศิลปากร รวมทั้งท่านอดีตรัฐมนตรีฯ สัมพันธ์ ทองสมัคร ให้ใช้หอจดหมายเหตุนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ตัณสูลานนท์ ที่สนามหน้าเมือง ซึ่งถือเป็นชัมภูมิพิเศษแห่งเมือง เป็นศูนย์ฯ ของมาหวิทยาลัยแห่งเมืองนครนี้ โดยจะมีการจัดประชุมกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่ศาลากลางฯ แล้วเปิดศูนย์เพื่อปักหมุดหมายในทันที
๒ ภาพประกอบนี้ คือครั้งเปิดศูนย์ฯ ที่ว่า ในภาพจะเห็นในชุดกากีคือท่านศึกษาธิการจังหวัด มนูญ หนูแก้วแล้วก็ผมอยู่ด้านหลัง ถัดมาคือคุณวัชรา หงส์ประภัสร ในฐานะประธานคณะกรรมการรณรงค์ให้มีมหาวิทยาลัยฯ ใกล้กับท่านรองนายกและรัฐมนตรีทบวงฯ ศ.ดร.เกษม สุวรรณกุล ด้านหลังไกล ๆ น่าจะคือคุณวิวรรธ์ นวลนก วิศวกรชาวท่าศาลาที่อาสามาช่วยงานด้านอาการสถานที่ในระยะแรกเริ่ม จากนั้นจำไม่ได้ว่าคือใคร อาจจะคือ ดร.กำแหง สถิรกุล กก.สภามหาวิทยาลัยที่เป็นชาวนคร กับอดีตรัฐมนตรีศึกษาฯ นายสัมพันธ์ ทองสมัคร แล้วก็ ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ปลัดทบวงผู้รักษาการแทนอธิการบดี ส่วนภาพที่ยืนหันหลัง ดูไม่ออกเสียแล้วครับ ส่วนท่านผู้ว่าฯ กิตติ ประทุมแก้ว ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมไม่ปรากฏในภาพด้วย ที่จำได้คืองานนี้ตอนขากลับ รถขบวนส่งถูกรถตำรวจชนพลิกคว่ำที่ท่าขึ้น คุณนายผู้ว่ามาลินีกับคณะฯ บาดเจ็บกับถ้วนหน้า แต่คนละเล็กละน้อย ผมจำได้ว่าในขณะที่ใคร ๆ พากันงง ๆ นั้น ผมคนหนึ่งที่สั่งจอนรถที่ขับตามแล้วพุ่งตรงไปถึงรถตู้กาชาดที่พลิก แล้วอุ้มคุณนายผู้ว่าออกมา พร้อมกับตรวจตราจนรู้แน่ว่า "ไม่อันตราย" แล้วรีบส่งต่อให้นำไป รพ.ท่าศาลาโดยด่วน ในขณะที่ตนเองต้องรีบตามไปส่งคณะรองนายกฯ พร้อมตามรายงานจากทาง รพ.จนได้ผลจึงรายงานผ่าน ว.ถึงทุกฝ่ายว่า "ไม่ต้องห่วงครับ คณะปลอดภัยทุกคนครับ"
มีรายละเอียดอื่น ๆ ที่ทำออกมารายงานสาธารณะและประชาชนส่วนแรกตามเอกสาร ท่านที่สนใจละเอียดก็อ่านกันเอาเองนะครับ
สำหรับพานวางปุ่มกดเปิดแพรมหาวิทยาลัยแรกนี้ ขอยืมพานถมทองของแม่กับน้าพามาใช้เป็นธรรมดาครับ.
๓๐ มีค.๖๐