เพื่อแผ่นดินเกิด
- Details
- Written by Super User
- Category: เพื่อแผ่นดินเกิด
- Published: 01 June 2017
- Hits: 2177
จะเอาไงกับโลกนี้ที่...สุดผันผวน แสนไม่แน่นอน
ซ้ำสลับซับซ้อน สุดที่จะคาดเดาได้...ใบนี้ ?
How to Face this VUCA World ?
(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด 20170601_7)
นานมาก ๆ แล้ว พี่ชายผมคนนี้ บอกว่า
ดร.ก็ คนนี้สนใจงานพระพุทธศาสนาที่พวกเรากำลังทำไม่น้อย
จนได้พบกัน จึงชวนมาช่วยนี่นั่นโน่นนิด ๆ หน่อย ๆ
กระทั่งลาออกจากงานทั้งหลาย
ผมก็เลยหมายใจให้มาเป็นกำลังสำคัญในงานธรรม
โดย ดร.ก็ มาทุ่มเทและช่วยอยู่หลายงาน
กระทั่ง ถึงเวลากลับไปรับใช้ชาติ
แต่ก็ยังไม่ทิ้งงานธรรม
อันที่จริงงานสัมมนา "พุทธธรรมกับสังคม" ๑๑๑ ปีท่านอาจารย์พุทธทาส
ดร.ก็ ก็รับไว้ แต่ติดกิจอื่นเสียอีก
ผมได้โทรหาเป็นระยะ พร้อมกับเชียร์เรื่อย ๆ
อ่านบทสัมภาษณ์นี้ให้ได้นะครับ
"...โลกของเรามีลักษณะที่เรียกว่า “VUCA” มากขึ้น โดย V – Volatility คือความผันผวนสูง, U – Uncertainty คือความไม่แน่นอนสูง, C – Complexity คือความซับซ้อนที่มากขึ้นเรื่อยๆ และ A – Ambiguity คือความคลุมเครือ ไม่สามารถคาดเดาผลที่จะเกิดขึ้นได้ชัดเจน”
๑ มิย.๖๐
https://www.the101.world/thoughts/veerathai-santiprabhob/
วิรไท สันติประภพ รับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนที่ 23 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ขณะอายุย่างเข้าปีที่ 46 นับเป็นผู้ว่าการฯ ที่อายุน้อยที่สุดคนหนึ่ง รองจาก พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย (43 ปี) ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (43 ปี) และเสนาะ อูนากูล (44 ปี)
กว่าจะถึงวังบางขุนพรหม วิรไทผ่านประสบการณ์ทำงานมาหลากหลาย ตั้งแต่ นักเศรษฐศาสตร์ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) หลังจากสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในวัย 24 ปี, ผู้อำนวยการร่วม สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ 2540, ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และที่ปรึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
วิรไทก้าวขึ้นเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในยุคที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยเต็มไปด้วยความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซับซ้อน และความคลุมเครือ
อะไรคือความท้าทายในการบริหารเศรษฐกิจไทย
รัฐไทย ธุรกิจไทย และคนไทยต้องปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้อย่างไร
และบทบาทของ ธปท. อยู่ตรงไหน
วิรไท สันติประภพ ตอบคำถาม ปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการ The101.world เรื่องเศรษฐกิจไทยในโลก VUCA
หลายคนบอกว่าเรากำลังอยู่ในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เศรษฐกิจโลกกำลังเปลี่ยนแปลงใหญ่อย่างไร และจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยอย่างไร
เรามักจะยุ่งอยู่กับการใช้ชีวิตประจำวัน จนอาจมองไม่เห็นว่าใน “ภาพใหญ่” กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญอะไรบ้างในโลกใบนี้ สำหรับ ธปท. คิดว่าในช่วง 5 ปีข้างหน้า จะเห็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญ 2 – 3 เรื่องในระบบเศรษฐกิจโลก ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้
เรื่องแรก คือ มีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยีใหม่เหล่านี้จะทำให้ประสิทธิภาพการผลิตในหลายภาคอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น 3D printing ขณะเดียวกันจะเกิดระบบเศรษฐกิจใหม่ เรียกว่า “ระบบเศรษฐกิจเชิงแบ่งปัน (Sharing Economy)” อย่างกรณีบริการรถโดยสาร UBER บริการสำรองห้องพัก Airbnb ที่เปลี่ยนห้องว่างที่บ้านเป็นโรงแรม หรือ Cloud Computing ที่คนสามารถใช้ทรัพยากรร่วมกันโดยไม่ต้องเป็นเจ้าของ สามารถเก็บข้อมูลบนระบบเก็บข้อมูลกลาง โดยไม่จำเป็นต้องเก็บไว้ใน Hard Disk ของตัวเอง และสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเหล่านี้ล้วนส่งผลให้บริบทในการดำเนินชีวิตและการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก
เรื่องที่สอง คือ เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์จะทำให้เกิด “รอยเท้าดิจิทัล” หรือ Digital Footprint ซึ่งเพิ่มจำนวนและความสำคัญมากขึ้น โดยเทคโนโลยียุคใหม่จะบันทึกข้อมูลพฤติกรรมทุกอย่างที่เกิดในโลกดิจิทัลของแต่ละบุคคล เป็นข้อมูลจำนวนมหาศาล อันนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “Big Data” ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ทั้งเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยง หรือวางแผนการตลาดเพื่อตอบโจทย์ของผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มหรือรายบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และที่สำคัญ คือ สามารถใช้ประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาประเทศได้อย่างตรงประเด็น หน่วยงานภาครัฐสามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด ตรงปัญหาของแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ต่างจากเดิมที่เราอาจจะมีเพียงข้อมูลสถิติ และต้องออกมาตรการแบบเหวี่ยงแห ถ้าเราไม่ลงทุนวางระบบการบริหารจัดการและการใช้ประโยชน์จาก Big Data แล้ว จะไม่สามารถใช้ประโยชน์จากโลกยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอาจจะเสียเปรียบคนอื่นที่พร้อมกว่าได้โดยง่าย
เรื่องที่สาม คือ อิทธิพลของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในอนาคตจะทำให้พรมแดนประเทศมีความสำคัญลดลง อาจเรียกได้ว่าแทบไม่มีพรมแดน เกิดความเชื่อมโยงของเศรษฐกิจและธุรกิจข้ามประเทศที่เข้มข้นมากขึ้น นำไปสู่บริการต่าง ๆ ที่มีแนวโน้มจะให้บริการข้ามพรมแดนได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่าง ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) ที่สามารถขายสินค้าและบริการไปได้ทั่วโลก ไม่ได้จำกัดแค่ตลาดรอบบ้านเราแบบเดิม หรือธุรกิจชำระเงิน ที่ผู้ให้บริการชำระเงินที่คนในประเทศใดประเทศหนึ่งนิยมใช้ อาจจะตั้งอยู่นอกประเทศ
นอกจากนี้ เทคโนโลยียุคใหม่ยังทำให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ มุมหนึ่งของโลก สามารถส่งผลกระทบไปสู่อีกมุมหนึ่งของโลกได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น เราเห็นได้ชัดจากตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก ที่ตอบสนองเหตุการณ์ใหญ่ๆ ในเสี้ยววินาที เทคโนโลยีที่จะทำให้วิถีชีวิตในโลกเคลื่อนที่ด้วยความเร็วมากขึ้นจะทำให้หลัก “Economy of Scale” หรือ การประหยัดต่อขนาด ลดความสำคัญลง และ “Economy of Speed” หรือ การชนะกันด้วยความรวดเร็ว จะมีความสำคัญมากขึ้น
ฟังดูก็เห็นโอกาสหลายอย่าง แต่สิ่งที่มาพร้อมกับโอกาส คือความผันผวนไม่แน่นอน เศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องปรับตัวในโลกแห่งความผันผวนไม่แน่นอนอย่างไร อะไรคือความท้าทายสำหรับประเทศไทย ธุรกิจไทย และคนไทย
โลกของเรามีลักษณะที่เรียกว่า “VUCA” มากขึ้น โดย V – Volatility คือความผันผวนสูง, U – Uncertainty คือความไม่แน่นอนสูง, C – Complexity คือความซับซ้อนที่มากขึ้นเรื่อยๆ และ A – Ambiguity คือความคลุมเครือ ไม่สามารถคาดเดาผลที่จะเกิดขึ้นได้ชัดเจน ซึ่งผลจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งจากสาเหตุทางด้านเทคโนโลยี การเมืองระหว่างประเทศ หรือแม้แต่ภาวะโลกร้อน จะทำให้โลก VUCA เป็นโลกที่ทุกคนต้องเผชิญอย่างเลี่ยงไม่ได้
สำหรับประเทศไทย นอกจากเราจะต้องเผชิญกับโลก VUCA แล้ว ผมคิดว่า ยังมีความท้าทายอีก 2 เรื่องสำคัญ เรื่องแรกเป็นปัญหาที่เห็นต่อเนื่องตลอด 10 ปีที่ผ่านมา คือ ความเหลื่อมล้ำที่ยังไม่มีแนวโน้มลดลง ส่วนเรื่องที่สองเป็นปัญหาที่ประเทศไทยจะเผชิญรุนแรงขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า คือ สังคมผู้สูงอายุ ในอนาคต ประเทศไทยจะมีแรงงานสูงอายุมากขึ้น นั่นแปลว่า ประสิทธิภาพและผลิตภาพของแรงงานไทยจะลดลง ดังนั้น โอกาสที่จะอาศัยแรงงานเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตก็ย่อมลดน้อยลง นอกเสียจากว่า เราจะต้องหันไปพึ่งแรงงานต่างชาติ
แล้วประเทศไทย ธุรกิจไทย และคนไทย ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องใด เพื่อจะตอบโจทย์ความท้าทายเหล่านี้
ผมคิดถึง 3 คำหลัก คำแรกคือ “ผลิตภาพ” (productivity) เป็นเรื่องที่จำเป็นมาก ทุกปัจจัยการผลิตและทุกแรงงานที่ใส่เข้าไป (input) ในอนาคต ต้องทำให้ได้ผลิตภาพ หรือได้ผลผลิต (output) ออกมามีมูลค่ามากขึ้นกว่าเดิม โดยใช้ปัจจัยการผลิตน้อยลง เมื่อต้นทุนการทำธุรกิจในประเทศไทยถูกลง คนไทยจึงจะสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
คำที่สอง “ภูมิคุ้มกัน” เราต้องให้ความสำคัญกับการสร้างภูมิคุ้มกัน เพราะในโลกจะผันผวนมากขึ้นและรุนแรงขึ้น เราจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นชิน และเป็นความเสี่ยงที่รุนแรงกว่าที่เคยคาดไว้ ฉะนั้น การสร้างภูมิคุ้มกันจึงเป็นเรื่องสำคัญทั้งระดับประเทศ ระดับธุรกิจ และระดับครัวเรือน
และคำที่สามคือ “ความเท่าเทียม” เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำ ถ้าเราไม่บริหารจัดการให้ดี จะกลายเป็นความเสี่ยงที่สำคัญ และเป็นจุดเปราะบางที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมไทย การที่เราจะแก้ปัญหานี้ได้ เราต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความเท่าเทียมในระดับต่างๆ ที่สำคัญที่สุด คือ ความเท่าเทียมในเรื่องของโอกาส
ดังนั้น ในภาพใหญ่ ผมคิดว่ามีทิศทางสำคัญอยู่ 3 เรื่อง ได้แก่ (1) การเพิ่มผลิตภาพ ซึ่งตรงนี้เกี่ยวข้องมากกับการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ ดังนั้น กฎเกณฑ์กติกาที่เป็นอุปสรรคของการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ต้องได้รับการแก้ไข (2) การสร้างภูมิคุ้มกันความเสี่ยงในรูปแบบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น และ (3) การให้ความสำคัญกับการสร้างความเท่าเทียมในสังคมไทย โดยเฉพาะความเท่าเทียมด้านโอกาส รวมถึงต้องช่วยกันระวังไม่ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำมีขนาดใหญ่มากขึ้นด้วย
ทั้ง 3 เรื่องถือเป็นโจทย์ใหญ่และยาก อะไรคือนโยบายสาธารณะที่เป็นรูปธรรมในการเพิ่มผลิตภาพ สร้างภูมิคุ้มกัน และสร้างความเท่าเทียมให้แก่สังคมเศรษฐกิจไทย
ต้องเริ่มต้นจากการตระหนักร่วมกันถึงปัญหาที่เราต้องเผชิญ และเห็นร่วมกันว่า 3 เรื่องนี้เป็นทิศทางสำคัญ จากนั้นทุกองค์กรต้องดำเนินการตามพันธกิจและความรับผิดชอบของแต่ละองค์กร มุ่งไปในทิศทางเดียวกัน
สำหรับ ธปท. ด้านการเพิ่มผลิตภาพ มีหลายเรื่องที่ต้องทำ โดยเฉพาะการลดอุปสรรคต่างๆ และการเปิดรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะมาช่วยยกระดับผลิตภาพของระบบการเงินไทย ซึ่งอยู่ภายใต้พันธกิจสำคัญของ ธปท. เรื่องหนึ่งที่เรามักได้ยินบ่อยๆ ในช่วงนี้ คือการใช้ “ฟินเทค” (FinTech) หรือเทคโนโลยีทางการเงินสมัยใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะวันนี้ ต้นทุนบริการทางการเงินของไทยค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ เรายังใช้เงินสดและธุรกรรมการเงินที่อิงกับกระดาษค่อนข้างมาก ถ้าเราสามารถลดต้นทุนการใช้กระดาษ เปลี่ยนมาใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีใหม่ๆ มากขึ้น จะช่วยลดต้นทุนของทุกคน ไม่ใช่เพียงแค่ต้นทุนของสถาบันการเงิน หรือต้นทุนของภาคธุรกิจ แต่รวมถึงต้นทุนของประชาชนด้วย
ตัวอย่างที่เรากำลังผลักดันอยู่ เช่น การส่งเสริมการใช้ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (National e-Payment) “พร้อมเพย์” (Prompt Pay) การส่งเสริมการใช้บัตรเดบิต หรือการส่งเสริม Digital Banking เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนบริการทางการเงินถูกลง และจะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ด้วย อันนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของการเพิ่มผลิตภาพ
บทบาทของ ธปท. ในฐานะผู้กำกับดูแล ต้องมาทบทวนกฎเกณฑ์กติกาของเราว่า สอดคล้องกับบริบทปัจจุบันและอนาคตหรือไม่ ดังนั้น งานสำคัญอีกด้านของ ธปท. ก็คือ การปรับกฎเกณฑ์ให้สอดคล้องกับบริบทของอนาคต ทั้งรูปแบบการทำธุรกิจใหม่ๆ การส่งเสริมนวัตกรรม และการป้องกันความเสี่ยง
ด้านการสร้างภูมิคุ้มกัน เป็นหัวใจสำคัญของการทำหน้าที่ธนาคารกลาง เพราะหน้าที่หลักของเราคือการรักษาเสถียรภาพ ช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถรับแรงปะทะใหม่ๆ ที่จะเข้ามากระทบเราได้ในโลก VUCA เราจึงต้องดูเรื่องโครงสร้างเงินทุนและการบริหารจัดการเงินของประเทศให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิด “ความไม่สมดุล” (Mismatch) ซึ่งเคยเป็นต้นตอของปัญหาวิกฤตการเงินหลายครั้งที่ผ่านมา เช่น การพึ่งพิงเงินตราต่างประเทศมากเกินไป
ในวันนี้ จะเห็นว่าระบบเศรษฐกิจไทยมี “กันชน” หลายอย่างที่เราได้พยายามทำมาโดยต่อเนื่อง เช่น เรามีทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับที่ดีเมื่อเทียบกับปริมาณหนี้ต่างประเทศ หรือการกำกับให้สถาบันการเงินมีระดับเงินกองทุนที่เหมาะสมและมีระบบบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี เพื่อที่จะรองรับความเสี่ยงประเภทใหม่ๆ ที่เพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่ความเสี่ยงด้านเครดิต ด้านตลาด จนถึงความเสี่ยงด้านไซเบอร์ (Cyber Security) เรื่องเหล่านี้เป็นตัวอย่างในด้านการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประเทศ
สุดท้ายคือ ด้านความเหลื่อมล้ำ ซึ่งถือเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ เราจะทำอย่างไรให้คนไทยเข้าถึงและได้ประโยชน์จากบริการทางการเงินด้วยต้นทุนที่ถูก เป็นธรรม และตรงกับความต้องการ ตัวอย่างเช่น บริการพร้อมเพย์ ที่ประชาชนสามารถโอนเงินระหว่างกันได้โดยไม่มีค่าธรรมเนียม ถ้าการโอนไม่ถึง 5,000 บาท บริการชำระเงินที่มีต้นทุนถูกและมีประสิทธิภาพสูง ถ้าสามารถไปต่อยอดกับธุรกรรมอีคอมเมิร์ซใหม่ๆ ได้ จะช่วยให้วิสาหกิจชุมชน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนของประเทศ ก็สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่ถูกลงได้
นอกจากนี้ ธปท. เห็นว่า อีกภารกิจสำคัญ คือการส่งเสริมให้คนไทยมีทักษะในการวางแผนจัดการทางการเงิน หรือเรียกว่า “Financial Literacy” อย่างปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง เชื่อว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนไทย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ไม่เข้าใจเรื่องการบริหารจัดการทางการเงิน การส่งเสริม Financial Literacy จะช่วยให้เขาสามารถใช้ประโยชน์จากบริการทางการเงินประเภทต่างๆ ได้ ไม่เป็นโทษกับตัวเอง และขณะเดียวกันก็จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประเทศได้ด้วย เพราะถ้าคนไทยยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนในระดับสูง เวลาเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดมากระทบ จะทำให้ภูมิคุ้มกันของเขาลดลง นำไปสู่ความเปราะบางทางเศรษฐกิจทั้งในระดับเศรษฐกิจครัวเรือนและระดับประเทศ
เท่าที่มองทิศทางการทำงานของฝ่ายต่างๆ ในเศรษฐกิจไทย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล หรือ ธปท. เองก็ตาม ในการจัดการปัญหาและรับมือความท้าทายทั้งหมดที่เราคุยกัน ที่ผ่านมา เราเดินมาถูกทางหรือไม่
ผมมองว่า กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ที่สำคัญคือ เกิดการตระหนักร่วมกันว่าเศรษฐกิจไทยจะอยู่แบบเดิมไม่ได้ ต้องปรับโครงสร้างการผลิตและโครงสร้างเศรษฐกิจ และต้องเป็นการ “ปรับใหญ่”
แต่ก็มีอีกโจทย์ที่ยาก และไม่ใช่แค่โจทย์ของประเทศไทย แต่เป็นโจทย์สำหรับทุกประเทศ คือการหาจุดสมดุลระหว่างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะสั้น เพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้ต่อเนื่อง กับการปรับโครงสร้างและปฏิรูปเศรษฐกิจที่หวังผลในระยะยาว ซึ่งผมคิดว่า สองเรื่องนี้ไม่ได้ขัดแย้งกัน เพียงแต่บางเรื่องต้องให้น้ำหนักต่างกันในบางช่วงเวลา และถ้าเราตั้งโจทย์ให้ถูก ก็จะสามารถทำสองอย่างคู่ขนานกันไปได้
อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญกับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว แต่ไม่ค่อยมีคนนึกถึง คือการแก้ไขกฎหมายหลายๆ เรื่อง เพื่อเป็นกรอบกฎเกณฑ์และกติกาสำหรับเศรษฐกิจและธุรกิจไทยในระยะยาว ทุกวันนี้ มีกฎหมายหลายฉบับที่แก้ไขไปแล้ว หรืออยู่ในระหว่างการแก้ไข เช่น กฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงิน โดยเฉพาะระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะเป็นกฎหมายใหม่ที่เข้ามาทดแทนกฎกติกาที่เป็นเบี้ยหัวแตกกระจายอยู่ในหลายๆ หน่วยงานในเวลานี้ ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมระบบการชำระเงินรูปแบบใหม่ ไปพร้อมกับดูแลผู้ใช้บริการทางการเงินให้ได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม รวมถึงกฎหมายที่ทำให้ตลาดทุนมีธรรมาภิบาลดีขึ้น กฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิตที่อยู่ในระหว่างการแก้ไข
สำหรับการบริหารเศรษฐกิจมหภาค จะมีกฎหมายเกี่ยวกับวินัยทางการเงินและการคลัง เพื่อปิดช่องโหว่ในการใช้จ่ายและการทำนโยบายการคลังที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะนโยบายที่เรียกว่าเป็น “นโยบายปลายเปิด” คือไม่รู้ว่าต้นทุนของการดำเนินนโยบายจะเป็นเท่าไร และไม่มีแหล่งที่มาของเงินงบประมาณชัดเจน ซึ่งกฎหมายเหล่านี้จะอยู่กับเราไปอีกนาน โดยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ผมคิดว่ามีกฎหมายลักษณะนี้ออกมาอีกหลายเรื่อง และกำลังจะออกมาอีก นี่ก็คือตัวอย่างของการดูแลเศรษฐกิจในระยะสั้นควบคู่ไปกับการปฏิรูปเศรษฐกิจในระยะยาว
รัฐไทยมักมีวิธีคิดแบบเก่า ไม่ทันโลก ยิ่งทุกวันนี้อำนาจในการออกกฎหมายก็ยิ่งจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่ม ประชาชนมีส่วนร่วมน้อย การปฏิรูปกฎหมายหรือการปฏิรูปในเชิงสถาบันต่างๆ จะนำพาเศรษฐกิจไทยไปข้างหน้าได้จริงหรือ ภายใต้สภาพการเมืองดังที่เป็นอยู่
สำหรับ ธปท. เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเราไม่ใช่ผู้รู้ในทุกเรื่อง หลายเรื่องภาคเอกชนและภาควิชาการรู้ดีกว่าเรามาก ดังนั้นเราจึงให้ความสำคัญมากในเรื่องการเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่เราแก้ไขกฎเกณฑ์เกี่ยวกับระบบการแลกเปลี่ยนเงิน มีคนจากอุตสาหกรรมต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องเยอะมาก ไม่ใช่เฉพาะแค่ภาคการเงินเท่านั้น
แต่ละหน่วยงานคงจำเป็นต้องปรับตัวให้เหมาะสมกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป
ในการปฏิรูปเศรษฐกิจ “governance” หรือระบบบริหารจัดการและการกำกับดูแลเป็นเรื่องสำคัญ อะไรเป็นหัวใจสำคัญในการออกแบบ governance ที่เหมาะสมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
governance หรือธรรมาภิบาลเป็นเรื่องที่สำคัญมาก สิ่งสำคัญคือ stakeholder engagement กล่าวคือ ผู้มีส่วนได้เสียต้องมีส่วนร่วมหรือแสดงข้อคิดเห็นได้ ในโลกที่ซับซ้อนมากขึ้น มุมมองที่ผู้กำกับดูแลคุ้นชินหรือเห็นว่าถูกต้องอาจจะเป็นมุมมองที่ไม่ทันสมัยหรือไม่ถูกต้องตามบริบทที่เป็นอยู่ เพราะฉะนั้น การมีส่วนรวมจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เรื่องสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การตั้งเป้าให้ถูก อะไรคือเป้าหมายที่เราต้องการให้เกิดขึ้น (intended outcomes) หลายครั้งเราใช้เวลาและพลังค่อนข้างมากในการแก้ปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอาจจะช่วยบรรเทาปัญหาลงได้ แต่บางทีกรอบใหญ่ต่างหากที่เป็นตัวปัญหา การแก้แค่ในรายละเอียดไม่สามารถทำให้เราไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้
เราต้องใช้เวลาในการถกเถียงกันอย่างตรงไปตรงมา เปิดกว้างรับฟังความเห็นอย่างทั่วถึงว่า เป้าหมายสุดท้ายที่อยากเห็นคืออะไร ไม่ด่วนสรุปข้ามไปแก้ไขรายละเอียด เพราะอาจสร้างปัญหาขึ้นมาใหม่ได้
นอกจากการมีส่วนร่วมแล้ว ความโปร่งใสและการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะก็เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้าง governance ที่ดีใช่ไหม
ใช่ การมีส่วนร่วมไม่ใช่การรับฟังข้างเดียว ต้องรับฟังทั้งสองข้าง เราต้องเปิดเผยข้อมูล ทำให้โปร่งใส นี่คือหัวใจของนโยบายสาธารณะ เพราะความโปร่งใสจะนำไปสู่ความน่าเชื่อถือ และความมั่นใจของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง
จากวันแรกที่รับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย จนถึงตอนนี้ก็ประมาณหนึ่งปีครึ่งกว่าๆ ประเมินการทำงานที่ผ่านมาอย่างไร และถ้ามองต่อไปข้างหน้า ภารกิจอะไรคือวาระที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ
วาระของผู้ว่าการ ธปท. คือ 5 ปี ฉะนั้น ผมยังมีเวลาอีกเกือบ 3 ปีครึ่งที่จะทำหลายๆ เรื่องให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ในช่วงที่ผ่านมา มีหลายเรื่องที่เราสามารถทำได้ตามแผนที่ตั้งใจ เช่น ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ก็มีความคืบหน้าไปมาก บางเรื่องเราใช้เวลาค่อนข้างน้อยในการผลักดันให้เกิดขึ้น เมื่อเทียบกับประเทศอื่น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย มีหลายเรื่องที่เราคิดว่าจำเป็นสำหรับการดูแลเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งเรื่องเหล่านี้คืบหน้าไปมากพอสมควร
ในช่วงปีครึ่งที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเผชิญกับความผันผวนสูงมาก ทั้งจากเหตุการณ์ภายในและนอกประเทศ แต่เพราะระบบการเงินไทยสามารถรับแรงปะทะต่างๆ ได้ค่อนข้างดี เป็นเพราะอานิสงส์จากการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีมาตั้งแต่อดีต ในแต่ละช่วงเวลา ธปท. จะต้องปรับลำดับความสำคัญและมุมมองในการบริหารจัดการ ทั้งเรื่องนโยบายการเงิน นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน และการกำกับดูแลสถาบันการเงิน เพื่อให้เท่าทันกับความผันผวนที่เกิดขึ้น
ส่วนเรื่องที่เรากำลังทำภายใน ธปท. ก็มีหลายเรื่องที่ผมคิดว่าสำคัญมาก คือ การปรับวัฒนธรรมองค์กรให้ ธปท. เป็นองค์กรที่วิ่งได้เร็วขึ้น และเป็นองค์กรที่เปิดใจ เปิดกว้าง รับฟังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการทำหน้าที่ธนาคารกลางที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก เพราะนอกจากโลกจะเปลี่ยนแปลงเร็วแล้ว ความสัมพันธ์ต่างๆ ยังซับซ้อนมากขึ้น
นอกจากนี้ เราต้องพัฒนาเทคนิคหรือทักษะใหม่ๆ ที่ธนาคารกลางต้องมี เพื่อทำหน้าที่ธนาคารกลางในโลกยุคใหม่ เช่น การจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) หรือเทคนิคในการดูความเชื่อมโยงของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินที่ซับซ้อนมากขึ้น ข้ามประเทศมากขึ้น เป็นต้น การจะทำสิ่งเหล่านี้ได้ ต้องเริ่มต้นที่การปรับมุมมอง ปรับทัศนคติ และปรับวัฒนธรรมองค์กร เพื่อให้คน ธปท. สามารถทำหน้าที่ตอบโจทย์ใหญ่ขององค์กรได้ นั่นคือ การสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับสังคมไทย
อะไรเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงที่สุดของเศรษฐกิจไทยใต้เศรษฐกิจโลก
คงไม่มีเรื่องอะไรที่น่าเป็นห่วงที่สุด อย่างที่เรียนว่าเราเป็นโลก VUCA เราต้องพร้อมตั้งรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เรามักวางแผนเตรียมไว้สำหรับจัดการเรื่องที่เป็นห่วง แต่ในโลก VUCA อาจจะเกิดเหตุการณ์ที่เราไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า เราจึงต้องมีความคล่องตัวเพียงพอ มีกันชนเพียงพอที่จะรับมือกับสถานการณ์เช่นนั้นได้
เราจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยที่เปรียบเหมือนคนวัยกลางคน เข้มแข็ง พร้อมวิ่งไปข้างหน้า ทันกับเศรษฐกิจโลกที่วิ่งเร็วมาก
ก็ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตของเรา ทำเหมือนกับการดูแลสุขภาพ นั่นคือ ต้องออกกำลังกายมากขึ้น ต้องให้แน่ใจว่ากล้ามเนื้อของเราดี กระดูกของเราแข็งแรง ไม่มีปัญหาโรคเรื้อรังภายใน ถ้าจำเป็นก็ต้องได้รับอาหารเสริมเพื่อให้สุขภาพแข็งแรง
เราจำเป็นต้องปรับวิถีชีวิต วิถีแบบเดิมที่คิดว่าสบายๆ ก็อาจจะไม่เท่าทันโลกใหม่ที่หมุนเร็วขึ้น
เมื่อสายพานหมุนเร็วขึ้น ประสิทธิภาพของเราก็ต้องสูงขึ้น วิ่งได้เร็วขึ้น ภูมิคุ้มกันของเราก็ต้องดี ไม่ใช่วิ่งไม่เท่าไรก็เหนื่อยหอบ และต้องไม่เกิดความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่ว่าขาข้างหนึ่งดี แต่อีกข้างไม่มีแรง หรือวิ่งๆ ไปอวัยวะส่วนอื่นอาจจะเจ็บปวดขึ้นมา เราต้องเข้มแข็งทั่วทั้งร่างกาย
สัมภาษณ์: วันที่ 23 มีนาคม 2560 เพื่อเผยแพร่ในคอลัมน์ Conversation with the Governor ของ BOT พระสยาม Magazine ฉบับที่ 2 เดือนมีนาคม-เมษายน 2560