เพื่อแผ่นดินเกิด
- Details
- Written by Super User
- Category: เพื่อแผ่นดินเกิด
- Published: 08 June 2016
- Hits: 1767
Why We Call NST The Land of Merit
ทำไมจึงได้ชื่อว่า “นครเมืองพระ”
แล้วเราจะสืบสานให้สมชื่อนี้กันต่อไปอย่างไรได้ ?
(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด, โร่ม่าย ไซ๋ชื่อนี้ ? 20160606)
เมื่อบ่ายวันที่ ๕ มิถุนายน ผมได้จังหวะเข้าร่วมสนทนาที่พระธาตุ “โร่ม่าย ไซ๋ชื่อนี้” ครั้งที่ ๔ เนื่องจากพอดีมีกิจต้อนรับคณะนักโบราณคดีจากโครงการวิจัยไทย-ฝรั่งเศส ชาวฝรั่งเศส ๔ คน ไทย ๑ คน นำโดย ดร.เบเรนิซ เบลลิน่า เดินทางมาขอศึกษานานาภาชนะและเศษกระเบื้องที่พบในภาคใต้เท่าที่ผมพบเห็นและเก็บไว้ในคลัง โดยมี ๒ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเครื่องถ้วยจีนโบราณเมื่อสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์เป็นผู้ทำการศึกษาละเอียดต่ออีก ๕ วัน
เสวนาครั้งนี้ ชวนหาที่มาและความหมายของ “นครเมืองพระ” ซึ่งผมเองก็ไม่เคยคิดถามว่าทำไม ? มีความหมายอย่างไร ? พยายามนึกเท่าไหร่ ก็จำอะไรไม่ได้ว่าเคยอ่านพบการอธิบายไขปัญหานี้ที่ไหนหรืออย่างไรมาก่อน เข้าข่ายว่าใช้ต่อ ๆ กันมาก ในทำนองเดียวกับชาวเมืองกาลามะเมื่อสมัยพุทธกาลโน้น
ต่อไปนี้คือเท่าที่ผมพอมีสติปัญญา “นึกเอาเอง” เพื่อร่วมขบในเรื่องนี้ ด้วยเหตุผลแรกคือ อันที่จริงแล้ว คำว่า ‘พระ’ นั้นมาจาก ‘พร’ รวมทั้ง ‘วร’ แปลว่า ‘คนดี’ ‘คำดี’ และ (สิ่ง)’ดี’ เฉพาะ ‘พระ’ นั้น นิยมว่าหมายถึง ผู้ที่แสดงตนว่าประพฤติดีประพฤติชอบ เป็นที่เคารพนับถือและให้เกียรติ ในพุทธศาสนาหมายถึง “ภิกษุ” นอกนั้นมีใช้อีกหลายกรณี เช่น นำหน้าชื่อ ‘เทพ’ อาทิ พระอินทร์ พระพรหม รวมทั้งนำหน้าชื่อ พระจันทร์ พระอาทิตย์ พระคงคา ซึ่งถือว่ามีเทพสิงสถิตย์ กระทั่งบรรดาศักดิ์ของคนชั้น ‘พระ’ ‘พระยา’ และ ‘เจ้าพระยา’ และดูเหมือนว่าในสมัยโบราณรวมทั้งในชาติอื่นก็มิได้ใช้คำว่า ‘พระ’ อย่างที่ไทยทุกวันนี้ใช้ และแม้ในหมู่ชาวไทยด้วยกันก็ใช้เรียกแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค เช่น ปู่ครู (สุโขทัยโบราณ) ตุ๊เจ้า (เหนือ) ครูบา (อีสาน) หลวง (ใต้) ฯ
เฉพาะคำ ‘นครเมืองพระ’ ที่ใช้กันนั้น เข้าใจความหมายโดยทั่วไปว่าเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะ ‘พระภิกษุ’ แบบว่าเมืองนี้มี ‘พระมาก’ มี ‘พระดี’ ในที่นี้ผมขอไขความเป็นเบื้องต้น ด้วยการย้อนนึกถึงเมืองนครในหน้าประวัติศาสตร์ที่อาจจะเป็นที่มาและความหมายของ ‘นครเมืองพระ’ ว่า
๑) จากจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหงที่กลายเป็นมรดกความทรงจำโลกไปแล้วนั้น มีข้อความตอนหนึ่งว่า ‘ปู่ครู ... หลวกกว่าปู่ครูในเมืองนี้ ... ลุกแต่สรีธัมมราชมา’ .ในลักษณะยกย่องว่าพระภิกษุในกรุงสุโขทัยที่เรียนรู้และปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนั้น มาแต่เมืองนคร นี้น่าจะเป็นร่องรอยหลักฐานหนึ่งซึ่งขึ้นชื่อกันในกรุงสุโขทัยในสมัยสุโขทัยว่า ‘เมืองนครมีพระดี’
๒) ในตำนานประวัติพระพุทธสิหิงค์ หรือ สิหิงคนิทาน แต่งโดยพระโพธิรังสีเถระที่เมืองเชียงใหม่ สมัp ๒๐ พุทธศตวรรษ ราวพุทธศักราช ๑๙๘๕-๒๐๖๘ กล่าวว่า ‘พระร่วง ได้ข่าวว่าที่สิงหลมีพระดีและงดงาม ต้องการได้ไว้ประจำเมืองเพื่อเป็นสิริมงคล จึงขอให้พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชแห่งเมืองนครไปขอมา แล้วอัญเชิญไว้ประจำเมืองสืบต่อ ๆ กันมา ทั้งสุโขทัย เชียงใหม่ ศรีสัตนาคนหุต’ จนอัญเชิญกลับมาไทยเป็นหนึ่งในพระปฏิมาสำคัญของชาติในทุกวันนี้ นี่ก็ถือได้ว่าเป็นอีกหลักฐานหนึ่งซึ่งแสดงว่าในดินแดนและหมู่ชาวไทย ลาว ล้านนา ล้านช้าง ให้คุณค่าว่า ‘เมืองนครเป็นต้นทางของพระปฏิมาที่แทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเข้ารูปสำคัญที่แต่ละชาติหมายปองเป็นพระปฏิมาประจำชาติ’
๓) ครั้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตำนานหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ซึ่งเท่าที่มีผู้รวบรวมไว้และเป็นที่รับรู้ในทุกวันนี้ กล่าวว่าท่านเป็นชาวสงขลาที่สทิ้งพระ เดินทางมาบวชเรียนที่เมืองนคร ก่อนที่จะเดินทางเข้ากรุงศรีอยุธยาด้วยการอุปัฏฐากจากตาขุนลกแห่งเมืองนคร จนเป็นพระดีมีชื่อเสียงในกรุงก่อนที่จะเดินทางกลับสงขลา ได้รับพระราชทานกัลปนาจากกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาอย่างพิเศษ โดยในขณะนั้น นคร-สงขลา-สทิ้งพระ ล้วนนับเนื่องอยู่ใน ‘เมืองนคร’ ทั้งนั้น นี้ก็อาจเป็นอีกพยานที่แสดงว่าในสมัยหนึ่งของอยุธยานั้น ‘นครเป็นเมืองที่มีพระดี’ เป็นที่ประจักษ์
๔) เมื่อกำลังจะเสียกรุง พุทธศักราช ๒๓๑๐ มีพระภิกษุสงฆ์หมู่หนึ่ง นำโดย ‘ท่านสี’ที่กล่าวกันว่าเป็นชาวเมืองนคร หลีกหนีความอลหม่านวุ่นวายในอยุธยาออกมา ณ เมืองนคร มีผู้ค้นคว้าสรุปไว้ว่า ‘ท่านสี’ นี้มีชาติภูมิสถานอยู่ที่ ‘วัดป่า’ ต่อแดนเมืองนครและร่อนพิบูลย์ ที่ทุกวันนี้เรียกชื่อว่า ‘วัดป่าตอ’ ครั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินประกาศอิสรภาพจากพม่าและออกรวบรวมสร้างความเป็นปึกแผ่นของชาติไทยมาถึงเมืองนครด้วยการเอาชนะเจ้าพระยานครได้จากนั้นจึงต่อด้วยกุศโลบายวิเศษว่า การตั้งตัวเป็นใหญ่ก๊กเหล่าต่าง ๆ เมื่อบ้านเมืองตกเป็นประเทศราชนั้นคือวิถีของผู้รักชาติอันควรแก่การสรรเสริญ ครั้นเป็นที่รู้ว่าใครคือผู้สามารถสุดก็ให้กลับมาร่วมกันสร้างชาติ จนต่อมาเจ้าพระยานครตลอดจนญาติสกุลวงศ์ก็ได้เข้าร่วมกันพัฒนาชาติไทยสืบต่อมานั้น ในครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงทราบว่า ‘ท่านสี’ กับ ‘คณะพระดี’ กลุ่มหนึ่งซึ่งบางท่านกล่าวว่า น่าจะรวมถึง ‘ท่านสุก’ด้วย มาอยู่ที่เมืองนคร จึงได้อาราธนานิมนต์กลับไปฟื้นฟูการพระพุทธศาสนาของชาติ พร้อมกับอัญเชิญ ‘พระไตรปิฎก’ จาก (วัดหอไตร) เมืองนครที่ยังอยู่สมบูรณ์พร้อม กลับไปคัดลอกเป็นพระไตรปิฎกฉบับหลวงที่ใช้สืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้ นี่ย่อมเป็นประจักษ์พยานการเป็น ‘เมืองที่มีทั้งพระธรรมและพระสงฆ์สำคัญของชาติไทย’ โดย ‘ท่านสี’ กับ ‘ท่านสุก’ นั้นคือ ‘สมเด็จพระสังฆราช (สี)’ ปฐมสังฆราชแห่งกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ และ ‘สมเด็จพระสังฆราช (สุก ไก่เถื่อน)’ แห่งวัดบางหว้าใหญ่ หรือ วัดระฆังโฆสิตาราม ในขณะนี้นั่นเอง
๕) ครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนานานัปการ อาทิ การบูรณะสถาปนาองค์พระปฐมเจดีย์ที่จังหวัดนครปฐมที่เชื่อกันว่าเป็นหลักฐานสำคัญการสถาปนาพระพุทธศาสนาจนตั้งมั่นบนภาคพื้นแผ่นดินไทยมาแต่สมัยสุวรรณภูมิถึงทวารวดีนั้น ทรงตกลงพระทัยให้สร้างตามรูปแบบขององค์พระบรมธาตุเมืองนคร แต่ไม่สำเร็จ ขนาดทรงขอให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปวเวศวิริยาลงกรณ์ เสด็จลงมาสำรวจที่เมืองนครว่าเป็นอย่างไร แม้เมื่อทำให้เหมือนไม่ได้ ยังทรงให้สร้างองค์พระบรมธาตุนครจำลองไว้ที่ฐานองค์พระปฐมเจดีย์ เคียงข้างกับรูปแบบองค์พระปฐมเจดีย์เดิมอีกด้วย นี้ย่อมแสดงว่า ในสมัยเมื่อ ๑๐๐ กว่าปีที่แล้ว ก่อนที่จะมีองค์พระปฐมเจดีย์ที่ถือว่าเป็น ‘องค์ปฐม’ นั้น ‘พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช’ คือ ‘จอมเจดีย์’ ที่สำคัญที่สุดของชาติมาก่อน โดยมิต้องยกตำนานที่เก่าแก่สืบเนื่องมานาน รวมทั้งความสำคัญในแง่นัยยะต่าง ๆ อีกมากมาย นี้น่าจะเป็นอีกสิ่งรองรับสถานะแห่งความเป็น ‘เมืองพระ’ ของเมืองนครด้วย
๖) ในสมัยฟื้นฟูการพัฒนาชาติเป็นระบบเทศาภิบาลและเปลี่ยนแปลงการปกครองถึงทุกวันนี้ นับแต่รัชสมัยสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ปิยมหาราช พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อเนื่องถึงกึ่งพุทธกาลเมื่อไม่นานมานี้ อย่างน้อยที่สุดในเมืองนครนี้มีพระภิกษุ ๓ รูปที่ขึ้นชื่อลือเลี่อง คือ ท่านปาน-เจ้าคุณม่วง และ พ่อท่านคล้าย ในฐานะพระภิกษุผู้นำและสร้างคุณูปการแก่สังคม ชุมชน บ้านเมืองและประเทศชาติอย่างสูง กล่าวคือ เมื่อวัดพระบรมธาตุทรุดโทรมมาก ท่านปาน (พระภิกษุปาน) ได้เป็นผู้นำชักชวนชาวไทยทั่วทั้งคาบสมุทรมาร่วมกับบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่อย่างไม่เคยมีใครทำได้มาก่อนและกล่าวกันว่าถึงขนาดราชสำนักในสมัยนั้นหวั่นเกรงว่าจะเกิดเป็นขบวนการขบถแบ่งแยกดินแดนด้วยซ้ำ ครั้งปฏิรูประบบการปกครองประเทศพร้อมกับการจัดการศึกษาของชาติใหม่ มีท่านเจ้าคุณม่วง (พระรัตนธัชมุนี) แห่งวัดท่าโพธิ์ เป็นเสมือนผู้อำนวยการใหญ่ด้านการศึกษาแห่งภาคใต้ ริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ไว้มากมายทั่งทั้งภาคใต้ไม่เพียงในเมืองนคร ทั้งด้านการศึกษา ศิลปวัฒนธรรมประเพณี ส่วนที่ร่วมสมัยไม่นานมานี้ก็มี พ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์ แห่งวัดสวนขัน-วัดธาตุน้อย ที่ขึ้นชื่อในด้านเมตตาและวาจาสิทธิ์ ที่ทั้วทั้งภาคใต้นั้น นับเป็นรองจากหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืดก็อาจจะได้
๗) นอกนั้น ในแวดวงคนสนใจพระพิมพ์ นอกจากชุดเบญจภาคีในระดับชาติที่ลือเลื่องเป็นที่นิยมเสาะแสวงหาแล้ว ยังมีชุดไตรภาคีแห่งเมืองนคร ประกอบด้วย พระปรกโพธิ์ท่าเรือ พระนาคปรกนางตรา และ พระยอดขุนพลนาสน ที่ร่วมสมัยย้อนยุคอยุธยา ศรีวิชัย และ ทวารวดี เป็นที่ขึ้นชื่อในหลายนัยยะ ทั้งนี้อาจจะรวมถึงนานาโบราณสถานและวัดถุ ตลอดจนพระปฏิมาอีกมากมายที่พบได้โดยทั่วไปตั้งแต่สมัยทวารวดี ศรีวิชัย สืบมาถึงปัจจุบัน รวมทั้งการมีพระปฏิมาในศิลปะสกุลช่างนครศรีธรรมราชด้วย
อาจกล่าวโดยสรุปว่า นครศรีธรรมราช ได้ชื่อว่า ‘เมืองพระ’ น่าจะมาจากการสั่งสมนานาเหตุปัจจัยอันเกี่ยวเนื่องกับความดีงาม สิ่งดีงาม ในพระบวรพุทธศาสนา จนเป็นที่รับรู้และกล่าวขานกันอย่างต่อเนื่องและกว้างขวางในทุกแวดวงและจังหวะสืบมาตั้งแต่สมัยปรัมปรา กระทั่งเข้าสู่สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ ทวารวดี-ศรีวิชัย สุโขทัย อยุธยา ธนบุรี รัตนโกสินทร์ กระทั่งปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นศาสนสถาน ซึ่งมีองค์พระบรมธาตุเจดีย์เป็นประธานร่วมกับวัดวาอารามและวิหารต่าง ๆ มากมาย ศาสนวัตถุตั้งแต่พระพุทธสิหิงค์ ตลอดจนพระปฏิมาและพระพิมพ์ทั้งหลายที่มีพระไตรภาคีนครศรีธรรมราชเป็นประจักษ์พยาน โดยที่ศาสนธรรมนั้น จำเพาะพระไตรปิฎกต้นเค้าของการฟื้นฟูพระไตรปิฎกสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ก็ถือว่าไม่ธรรมดา ทั้งยังเป็นแหล่งศึกษาศาสนธรรมของพระสงฆ์องค์เจ้าดังที่มีศาสนบุคคลเฉพาะพระภิกษุสงฆ์ที่ได้รับการกล่าวขานมาแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา สืบต่อตลอดมา
ประเด็นสำคัญที่ขอยกมาช่วยกันขบคิดต่อ นอกจากการปลื้มดื่มด่ำกับการ ‘การเป็นเมืองพระ’ อย่างแน่แท้นี้แล้ว คือ แล้วเราจะสืบสานให้สมชื่อนี้กันต่อไปอย่างไรได้ ? ขอเชิญชวนร่วมด้วยช่วยกันนะครับ พระพุทธองค์ทรงฝากไว้กับพวกเราทุกคนในฐานะหุ้นส่วนแห่งบริษัทพุทธ ที่เรียกว่า พุทธบริษัท นี้.
๖ มิถุนายน ๒๕๕๙
เป็นบทความที่จะส่งลง นสพ.รักบ้านเกิด เดือนหน้า ในคอลัมน์นครดอนพระ แต่เห็นว่าน่าจะเผยแพร่เสียเลยในวันนี้
ส่วนภาพประกอบ ถ่ายที่พระธาตุเมื่อไปร่วมเวทีสนทนา โร่ม่าย ไซ๋ชื่อนี้ เมื่อวานนี้ ที่ดอกแซะกำลังชูช่อ บานและร่วง สวยมาก ไม้นี้กรมป่าไม้ทูลเสนอพระเจ้าอยู่หัวให้กำหนดเป็นไม้ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราชแบบที่เราไม่รู้ที่มาที่ไปและความหมายใด ๆ
สำหรับองค์พระบรมธาตุ มีป้ายประกาศการบูรณะปฏิสังขรณ์ของบริษัทชื่อคุ้น ๆ ว่า บูรณาไท ข่าวว่าอยู่ในแวดวงคนศิลปากรกันเอง แต่ว่าในป้าย ไม่มีเรื่องปลียอดและสนิมแต่อย่างใด ???
แต่ที่สุดสังเวชคือ "แก้วเก่า" รอบพระวิหารคดที่เมื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ ได้แกะชาลารอบวิหารออกแล้วก่อกั้นเป็นต้น ๆ แต่รากลอยและทยอยตายลงเรื่อย ๆ โดยไม่มีใครเหลียวแล ทั้ง ๆ ที่นี้คือ "แก้วเก่าประจำองค์พระบรมธาตุมานานเนิ่น"
ได้เสนอพี่เหลิมว่า หากทางราชการไม่ทำอะไรแน่แล้ว และแก้วนี้ก็น่าจะทยอยตายลงเรื่อย ๆ น่าจะขออนุญาตท่านเจ้าคุณแล้วชวนพวกเรามาร่วมกันเป็นเจ้าภาพดูแลบำรุงกันคนละต้นสองต้นสักยกกันดีไหม ?
ขอให้พี่เหลิมช่วยนับว่ามีทั้งหมดกี่ต้น ตายไปแล้วกี่ต้น กำลังทำท่าจะตายกี่ต้น จะได้รีบลงมือกันก่อนที่จะตายหมด ไม้แก้วนี้เนื้อสวยมาก คุณตาขุนพันธุ์เคยเล่าไว้ แล้ววันหลังจะนำมาขยายต่อ มีแม้กระทั่ง "ไม้แก้วนิพพาน" ด้วยนะครับ
สำหรับภาพองค์พระบรมธาตุวันนี้ ใบโพธิ์กำลังทิ้งใบและเริ่มแตกใบ ดูสวยอีกแบบครับ