เพื่อแผ่นดินเกิด
- Details
- Written by Super User
- Category: เพื่อแผ่นดินเกิด
- Published: 30 March 2016
- Hits: 2495
ที่ลุ่มแม่น้ำกฤษณา-โคทาวารี ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาอินเดียสมัยอมราวดี และดินแดนทมิฬนาดู ที่ส่งราชนาวีมาถล่ม (ทวารวดี ? และ) ศรีวิชัยจนล่มสลาย ไปทำไม...ทำไมถึงได้ไป...ใครบ้าง พุทธศาสนามาจากอินเดียถึงประเทศไทยตั้งแต่เมื่อไหร่ จากที่ไหน มาถึงที่ไหนเป็นแห่งแรก ? เป็นประเด็นที่ยังไม่มีการศึกษาค้นคว้าและได้คำตอบที่ยืนยันกันอย่างชัดเจน โดยในวาระพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปีแห่งการตรัสรู้ เมื่อปี ๒๕๕๕ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญได้ริเริ่มตั้งคำถามพร้อมกับกิจกรรมการศึกษาค้นคว้า เสวนา อภิปราย นิทรรศการ และการประชุมสัมมนานานาชาติขึ้น กระทั่งในปี ๒๕๕๖ ที่ อพท.(องค์การบริหารพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน) ได้เชิญชวนทำการศึกษาเรื่องหลักฐานพระพุทธศาสนาสมัยแรกเริ่มและรอยลูกปัดที่อู่ทองขึ้น โดยมีหลักฐานและข้อสรุปเบื้องต้นว่าเมืองโบราณอู่ทอง เป็นเมืองโบราณสำคัญที่สุดเมืองหนึ่งเมื่อกว่า ๒,๐๐๐ ปีก่อน สามารถย้อนอดีตอันรุ่งเรืองได้ถึงสมัยพุทธกาล ผ่านสุวรรณภูมิ ฟูนัน ถึง ทวารวดี ฯ เป็นศูนย์กลางการเดินทางค้าขายสำคัญของโลกตะวันออกและตะวันตก จากหลักฐานรอยลูกปัดจำนวนมากและหลากหลายจากทั้งสองฟากฝั่งซีกโลก เป็น "ปุระ - เวียง - เชียง - มหานคร" ของผู้คนหลากหลายชาติ ศาสนา อารยและวัฒนธรรม เป็นต้นแบบการจัดการ "เมืองและเรื่องน้ำ" อย่างพิเศษ ด้วย พุ คู ห้วย ฝาย คอก สระ บาราย ทำนบ tank ท่าฯ มีรอยเริ่มแรกพระพุทธศาสนาที่สถาปนาตั้งมั่นพร้อมหลักฐานและหลักธรรมสำคัญหลากหลายนิกายกลุ่ม และ เป็นต้นทางแห่ง "สายธารอารยธรรมไทยพุทธ" ถึงทุกวันนี้ และสันนิษฐานว่าต้นทางสำคัญของพระพุทธศาสนาจากอินเดียที่มาถึงอู่ทอง ประเทศไทยตลอดจนดินแดนเอเซียอาคเนย์นั้นมาจากดินแดนตะวันออกเฉียงใต้แถบที่ราบลุ่มแม่น้ำกฤษณา-โคทาวารี เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๘ - ๑๐ อันเป็นศิลปะแบบอมราวดี ที่ก่อเป็นศิลปะแบบทวารวดีในพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทยซึ่งมีอู่ทองเป็นศูนย์สำคัญก่อนที่จะแพร่ขยายสู่ภูมิภาคอื่น ๆ เพื่อการค้นหาคำตอบของคำถามที่ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนพอ ทั้ง ๆ ที่เป็นคำตอบที่มีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศ ภูมิภาคและพระพุทธศาสนา ตลอดจนของการพัฒนาพื้นที่พิเศษอู่ทองในเชิงประวัติศาสตร์และพระพุทธศาสนา เมื่อ ดร.เอียน ซี โกลฟเวอร์ นักโบราณคดีอาวุโสระดับโลกแห่งมหาวิทยาลัยลอนดอนชี้ชวนจากอังกฤษว่าจะมีคณะนักโบราณคดีจากหลายประเทศเดินทางไปยัง "แดนอมราวดีที่อินเดีย" ในเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม นี้ หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ (หพท.) จึงประสานจนเกิดเป็น "คณะไทย" เข้าร่วม เพื่อการสำรวจ ศึกษาค้นคว้าต้นทางพระพุทธศาสนาจากอินเดียสู่อู่ทอง ที่ลุ่มแม่น้ำกฤษณา-โคทาวารี ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาอินเดียสมัยอมราวดี และ เพื่อประสานความร่วมมือกับนักวิชาการนานาชาติชั้นนำในความร่วมมือศึกษาค้นคว้าประมวลองค์ความรู้ว่าด้วยอู่ทองในระดับนานาชาติ ตลอดจนความเป็นไปได้ในการจัดประชุมวิชาการนานาชาติว่าด้วยอู่ทองในอนาคต โดยแบ่งเป็น ๒ คณะ เพื่อร่วมกับคณะนานาชาติในรัฐอานธระประเทศแล้วศึกษาแยกเดินทางต่อเนื่องลงไปในเขตรัฐทมิฬนาดู รวมระยะเวลา ๑๓ วัน ตั้งแต่วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ - ๕ มีนาคม ประกอบด้วย นักโบราณคดี ๓ คน จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ๒ (ผศ.ดร.จิรัสสา คชาชีวะ และ ผศ.ดร.สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง) และสำนักศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี (คุณศุภมาศ ดวงสกุล) คณะของ อพท. ๒ คน (ผอ.ศิริกุล กสิวิวัฒน์ และ คุณประครอง สายจันทร์) กับคณะศึกษาของ หพท. ๓ คน (ผม. ผู้จัดการฯ กิตตศักดิ์ รุ่งเรืองวัฒนชัย และ บรรณาธิการไพโรจน์ สิงบัน) ในขณะที่คณะต่างประเทศ ๘ คน แบ่งเป็น ๓ พวก คือชุดแรกจากลอนดอน อังกฤษ มี Dr.Ian C.Glover จากมหาวิทยาลัยลอนดอน, Dr.Anna Bonnet ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโลหะโดยเฉพาะทองโบราณ และ Pia Conti ผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสนาวัชรยานในเขมรและไทย เฉพาะคุณเปียเธอเป็นชาวสวิสเซอร์แลนด์ ชุดที่สอง ๒ คน มีคุณ Anna Slaczka ภัณฑารักษ์ของ Ritz Museum ที่อัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ กับคุณ Lidia Sudyka จากมหาวิทยาลัยในโปแลนด์ ส่วนชุดที่ ๓ อีก ๓ คน มี คุณ Robert Schick ชาวอเมริกันที่น่าจะผูกพันกับแดนตะวันออกกลาง Isabella Ruber นักโบราณคดีอิสระจากจอร์แดน และ Ivana Kvetanova ชาวสโลเวเกียที่กำลังทำงานอยู่ในกรุงโรม อิตาลี ไปไหน และ อย่างไรบ้าง ? เนื่องจากเป็นการเดินทางที่เริ่มต้นมาจากลอนดอน ต้องการไปตามรอยพุทธสถานสมัยอมราวดีในลุ่มแม่น้ำกฤษณา-โคทาวารี ซึ่งอยู่ใต้โอริสสาเหนือทมิฬนาดู โดยมีคุณ Robert ที่ไปทำการศึกษามาระยะหนึ่งกับคณะชาวอินเดียที่นั่นเป็นผู้แนะนำ มีคุณอทิตยา นัก IT ที่สนใจค้นคว้าเรื่องนี้อาสานำคณะ ระบุว่าให้ไปพบพร้อมกันที่เมืองวิสาขะปัฏนัมเพื่อร่วมกันเดินทาง ๖ วัน ในวันที่ ๒๓ - ๒๘ กพ. ซึ่งครอบคลุมพื้นที่สองลุ่มแม่น้ำ ยกเว้นอมราวดีและนาคารชุนโกณฑะที่บางคนเคยไปแล้ว ให้แยกย้ายไปกันเองตามแต่จะกำหนด โดยมีแผนคร่าว ๆ ว่าวันหนึ่งจะเดินทางประมาณ ๕ - ๖ ชั่วโมง แวะประมาณ ๓ - ๔ ที่ หากินเอากลางทาง แต่กำหนดที่นอนด้วยการต่างคนต่างจองล่วงหน้าไว้พร้อมในโรงแรมเดียวกัน คณะไทยทั้ง ๓ จึงไปร่วมตั้งแต่วันแรกแล้วอีก ๕ คนจึงตามไปสมทบในวันก่อนสุดท้าย (วันที่ ๒๗ กพ.ซึ่งต้องออกจากกรุงเทพในวันที่ ๒๕ กพ.แล้วไปต่อรถอีก ๑ วันให้ได้พบกันในคืนวันที่ ๒๖ กพ.) เพื่อได้พบปะกันครบ แล้วคณะไทยทั้ง ๘ จึงขอแยกก่อนวันหนึ่ง (๒๘ กพ.) เพื่อไปอมราวดีและนาคารชุณโกนฑะ ในเขตรัฐอานธระประเทศ จากนั้นจึงลงไปรัฐทมิฬนาดูในเย็นวันที่ ๑ เพื่อล่องใต้ต่อในแดนทมิฬจนถึงวันที่ ๕ โดยท่านรองศิริกุลขอแยกตัวกลับก่อนในคืนวันที่ ๒ เนื่องจากมีกิจในเมืองไทย โดยรวม การเดินทางครั้งนี้นอกจากเป็นการตามรอยต้นทางพระพุทธศาสนาในแดนอินเดียที่เชื่อว่าถูกนำมาสู่ประเทศไทยในรัฐอานธระประเทศที่เรียกว่าสมัยศิลปะอมราวดีแล้ว ยังได้ตามรอยต่อในรัฐทมิฬนาดูซึ่งถึงแม้จะมีแต่รอยฮินดู เหลือรอยพระพุทธศาสนาไม่มากแล้ว แต่หลายหลักฐานที่ได้พบ มีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนผ่านของประวัติศาสตร์สมัยแรกเริ่มคือทวารวดีและศรีวิชัยในดินแดนประเทศไทยรวมถึงทั้งเอเซียอาคเนย์อย่างยิ่ง บัญชา พงษ์พานิช ๗ มีนาคม ๒๕๕๘ นครศรีธรรมราช รูปที่ ๑ คณะนานาชาติกับสื่อมวลชนท้องถิ่น ที่โบราณสถานวัด Kodavalli-บนยอดเนิน นักข่าวอินเดีย / อ.ดร.สฤษดิ์พงษ์ / Dr.Ian / Lidia & Anna / Ivana & Isabella / Robert / อินเดีย / บัญชา / อ.ดร.จิรัสสา / อทิตยา / Anna Bonnet (ไม่มี Pia Conti) รูปที่ ๒ คณะไทยที่มหาสถูปอมราวดี - อ.ดร.สฤษดิ์พงษ์ / อ.ดร.จิรัสสา / ไพโรจน์ / ผอ.ศิริกุล / ประครอง / บัญชา / กิตติศักดิ์ / ศุภมาศ