รอยลูกปัด
- Details
- Written by Super User
- Category: รอยลูกปัด
- Published: 07 January 2021
- Hits: 918
นี้ครับ ... งานไทยที่เจาะลูกปัดบ้านเชียงมาก
TheThaiWorksOnBanChiangBeads
(bunchar.com รอยลูกปัด 20210107_1)
ไหน ๆ ก็ไหน ๆ พี่
Sudara Suchaxaya
เมืองโบราณคงไม่ว่าถือเป็นการ ปชส.ให้คนตามอ่านฉบับจริงที่กำลังจะออกนะครับพี่
มีคนถามว่าไม่มีงานคนไทยวิจัยว่าด้วย #ลูกปัดบ้านเชียง เลยหรือ ...
ผมเจอนี้ครับ ...
ในงานว่าด้วย #เครื่องใช้และเครื่องประดับที่ทำด้วยแก้ว_ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๘ (๒๕๔๙ : สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร) ณัฏฐภัทร จันทวิช กล่าวถึงลูกปัดแก้วและลูกปัดที่พบมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในยุคโลหะ ที่บ้านเชียง อุดรธานี บ้านดอนตาเพชร กาญจนบุรี แล้วเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ตั้งแต่ฟูนัน ที่อู่ทอง จันเสน ศรีเทพ ก่อนเข้าสู่สมัยทวารวดี ศรีวิชัย ตามพรลิงค์ พร้อมกับการนำเสนอถึงลูกปัดในแหล่งต่าง ๆ ทั้งที่ทำจากเปลือกหอย หิน แก้ว จากทุกภาคทั่วทั้งประเทศ โดยก่อนหน้านั้น ในงานว่าด้วย #ถนิมพิมพาภรณ์ (๒๕๓๕ : กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร) ระบุว่า “ ... การศึกษาเครื่องประดับสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทยนั้น มักจะพบว่ามนุษย์เริ่มใช้เครื่องประดับกันตั้งแต่สมัยหินใหม่เป็นต้นมาจนเข้าสมัยโลหะ ... ซึ่งมีความเป็นอยู่เมื่อราว ๕,๐๐๐ ปี มาแล้ว ... ” พร้อมกับระบุถึงการพบลูกปัดทำจากกระดูกสัตว์ เปลือกหอยในหลายพื้นที่ จากกาญจนบุรี ราชบุรี ลพบุรี นครสวรรค์ จนถึงขอนแก่น จนเข้าสู่สมัยโลหะ ที่พบกลุ่มลูกปัดหินและลูกปัดแก้วหลายรูปแบบ “ ... ที่เชื่อได้ว่านำมาจากแถบอินเดียและทะเลเมดิเตอเรเนียนทางแถบเปอร์เชียและจากจักรวรรดิโรมัน ... ” โดยระบุแหล่งโบราณคดีสำคัญที่บ้านดอนตาเพชร กาญจนบุรี ศูนย์กลางทหารปืนใหญ่ที่เขาพระงาม ลพบุรี บ้านปราสาท นครราชสีมา บ้านนาดี ขอนแก่น และ บ้านเชียง อุดรธานี
เฉพาะที่บ้านเชียง ณัฏฐภัทร จันทวิช กล่าวถึงเครื่องประดับที่มีหลายประเภทและทำจากวัสดุหลายชนิด ในยุคแรก ๆ คือ กำไลดินเผา กำไลกระดูก กำไลหินและลูกปัดหิน ในสมัยต่อมาจึงมีเครื่องประดับทำด้วยสำริด โดยเฉพาะกำไลสำริดมีทั้งชนิดที่มีลวดลายและไม่มีลวดลาย ทั้งแบบมีกระพรวนและไม่มีกระพรวน ฯลฯ พร้อมกับกล่าวถึงลูกปัดแก้วที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีในระยะแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๐ – ๑๕ และปี ๒๕๑๗ – ๑๘ ว่าพบลูกปัดแก้วมีสีมากมายหลายสี ได้แก่ สีน้ำเงินแก่ สีเขียว สีน้ำเงิน สีดำ สีม่วง สีฟ้า สีน้ำตาล สีหมากสุก สีแดงอิฐ สีเหลือง ทั้งรูปทรงถังเบียร์ และทรงกระบอกกลมที่พบมากถึง ๒๐๐ เม็ด จัดอยู่ในสมัยปลายของบ้านเชียงเพราะพบร่วมกับโบราณวัตถุประเภทเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยเหล็ก ต่อมาในการขุดค้นครั้งหลัง พ.ศ.๒๕๔๖ พบลูกปัดแก้วอีก ๒๑๑ เม็ด เป็นรูปทรงกระบอกมากที่สุด ๒๐๑ เม็ด กับทรงกระบอกยาว ๒ เม็ด กลมคล้ายผลส้ม ๑ เม็ด ทรงถังเบียร์ ๒ เม็ด มีสีเขียวอ่อน สีเขียว สีฟ้า สีน้ำเงินอมเขียว สีน้ำเงินเข้ม โดยมีสีเหลืองอมส้มมากที่สุด ๑๙๙ เม็ด พร้อมกับระบุว่าวิธีการผลิตลูกปัดแก้วที่พบที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงนี้มี ๒ วิธี คือการยืดหรือดึงกลุ่มลูกปัดทรงกระบอกและกระบอกยาว และวิธีกดแม่พิมพ์สำหรับลูกปัดแก้วทรงกลม ทรงถังเบียร์ พร้อมกับยกข้อสันนิษฐานของพรชัย สุจิตต์ ที่ว่าลูกปัดแก้วสีน้ำเงินอมฟ้าและเขียวรูปทรงถังเบียร์ (Truncated Bicone) อาจเป็นลูกปัดแก้วที่ผลิตขึ้นในชุมชนเองเพราะไม่พบในที่อื่น ขณะที่บางรูปแบบแสดงถึงการติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนอื่น เช่นลูกปัดแก้วแท่งยาวมีลักษณะคล้ายกับลูกปัดหินที่พบในถ้ำที่เขาสามเหลี่ยมและแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า กาญจนบุรี และลูกปัดแก้วสีน้ำเงินและสีเขียว ที่มีลักษณะคล้ายที่พบในอินเดีย นอกจากนั้น ยังยกหลักฐานการพบลูกปัดแก้วจากการขุดค้นทางโบราณคดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกหลายแห่ง ในจังหวัดอุดรธานี สกลนคร ขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ อำนาจเจริญ จนถึงอุบลราชธานี สุรินทร์ บุรีรัมย์ ...
มากกว่านี้ รออ่านในวารสารแล้วกันนะครับ เดี๋ยวหมดเรื่อง
๗ มค.๖๓ ๐๖๑๖ น.
บ้านบวรรัตน์ ท่าวัง เมืองนคร