การพระศาสนา
- Details
- Written by Super User
- Category: งานศาสนา
- Published: 03 August 2016
- Hits: 1901
Bodhi PathWay @ Borobudur
โพธิวิถีที่บรมพุทโธ
(bunchar.com การพระศาสนา 20160803_3)
การเข้าถึง “บรมพุทโธ” ของผมในระยะหลังที่มักไปไม่เป็นเมื่อครั้งแรก ๆ เนื่องจากทั้งใหญ่และซับซ้อน
แถมการแนะนำต่าง ๆ ก็ชวนสับสนจนควรที่ใคร ๆ ก็น่าจะ “ไปไม่เป็น” เช่นกัน
มิหนำซ้ำยังถูกกำชับด้วยเวลา และการนำที่แล้วแต่คนนำจะนำพา
มิหนำซ้ำหนังสือนานา ก็ยังว่ากันไปหลายแนว เนื่องจากไม่มีประจักษ์หลักฐานจารึกใด ๆ ทิ้งไว้
ทั้งหมดจึงมาจากตำนาน ความเชื่อ คำบอดเล่าและข้อสันนิษฐานต่าง ๆ แทบทั้งนั้น
ว่า “บุโร-บุโด” คือ “เขา-พระ” หรือ “เนิน-วัด” อย่างที่ที่ไหน ๆ ก็นิยมเรียกกันอย่างนั้น
ในขณะที่ผมเองนั้นนิยมเรียกตามท่านอังคาร กัลยาณพงศ์บอกว่า อย่าบ้า เพราะนี่มาจากคำว่า “บรม-พุทโธ” ชัด ๆ
อาศัยที่ผมนั้น “อ่านมาก” และมาหลายหน
เคยแม้มานอนคนเดียว ที่โรงแรมมโนราในเขตบรมพุทโธ
แล้วค่อย ๆ เดินดูบ้าง นั่งสมาธิบ้าง ตั้งแต่อาทิตย์ยังไม่ขึ้น จนอัสดงแล้วด้วย
ขอสรุปด้วยภาพและเรื่องราวจากหนังสือสารานุกรมอินโดนีเซียโบราณเล่มนี้
และเล่มอื่น ๆ อีกมากมายจำไม่ได้ ดังนี้
๑) ไม่มีจารึกหรือบันทึกใด ๆ ทิ้งไว้ ณ ขณะนี้ สรุปว่าเป็นสถูปในพระพุทธศาสนามหายาน-วัชรยาน-มนตรยาน
สร้างโดยกษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทร์ในชวาที่ต่อเนื่องจากศรีวิชัยที่สุมาตรา เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕
ไล่ ๆ และร่วมสมัยกับจามปาในเวียตนามใต้ ก่อนหน้าการรุ่งเรืองของพระนครในเขมรที่ตามต่อด้วยอยุธยาในไทย รวมทั้งก่อนหน้าการฟื้นตัวของอาณาจักรฮินดูในชวา-สุมาตราในอีกศตวรรษต่อมา ประกอบกับน่าจะเกิดแผ่นดินไหวใหญ่หรือภูเขาไฟระเบิดจนทั้งองค์สถูปล้มและล่มจมอยู่ในเถ้าและสิ่งทับถม เพิ่งจะพบและฟื้นคืนใหม่ในยุคอาณานิคมฮอลันดาที่บูรณะปฏิสังขรณ์จนเป็นมรดกโลกและพระพุทธศาสนาที่สำคัญที่สุดองค์หนึ่ง
จากการศึกษาสรุปข้อสันนิษฐานว่า มีการสร้างใหญ่ ๔ ระยะ เริ่มจากการพูนเนินใหญ่และสร้างฐานสี่เหลี่ยมรอบไว้ ๓ ชั้น คล้าย ๆ ปิรามิด จากนั้นจึงมีการเสริมเติมฐานสี่เหลี่ยมอีก ๒ ชั้น พร้อมลานกลมชั้นหนึ่ง มีพระมหาสถูปอยู่ตรงกลาง โดยมีช่องทางเดินขึ้นทั้ง ๔ ด้าน ต่อมามีการเสริมฐานชั้นล่างสุด พร้อมกับปรับเพิ่มลานกลมเป็น ๓ ชั้น ลดขนาดสถูปกลางลงพร้อมกับเพิ่มสถูปบริวารอีกมากมาย สุดท้ายมีการเสริมเติมฐานล่างพร้อมกับประดับโคปุระและระเบียงรอบ ดังที่เห็นจากการบูรณะปฏิสังขรณ์และเขียนเป็นแผนภูมิไว้
๓) โดยทั่วไป สรุปสันนิษฐานว่า พระสถูปบรมพุทโธนี้ สะท้อนแนวคิดของพุทธศาสนาว่าด้วย “ภพ-ภูมิ” ที่มนุษย์พึงรู้และนำมาพัฒนาชีวิต เริ่มจากชั้นล่าง ประดับด้วยภาพแบบโลก ๆ หรือ “กามภูมิ” ที่พวกเราทั้งหลายยังว่ายเวียนวนกันอยู่
จากนั้น บนฐานเหลี่ยมทั้งหมดนั้น ท่านหมายให้เรียนรู้เรื่อง “รูปภพ” ประดับด้วยภาพพุทธประวัติ ชาดกและอวทานต่าง ๆ กว่า ๑๕๐๐ ภาพ จนถึงฐานกลม ๓ ชั้นพร้อมพระสถูปและพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ที่หมายถึง “อรูปภพ” จนสุดที่องค์สถูปประธานอันเป็น “อริยภูมิ” ล่าสุด มีข้อเสนอที่ผมชอบมากขึ้นว่า ที่ฐานทั้ง ๔ ด้านที่มีย่อมุมอย่าง “แมนดาลา” ของทิเบต หรือ “มณฑล” แบบไทย ๆ นั้น ท่านว่าหากได้ดูภาพที่ฐาน จะพบว่าสะท้อนถึง “ปฏิจจสมุปบาท” ทั้ง ๑๒ ห่วงโซ่ว่าทุกสิ่งอย่างล้วนเป็นไปตามกฏแห่ง “อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท” ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้และแสดงไว้อย่างวิเศษสุด ๆ
สำหรับผม การไปรอบนี้ กับกัลยาณมิตร คณะ SCG และ สื่อมวลชน จึงชวนไปชมภาพชุด “กามาวจรภูมิ” ด้วยคำถามเล่น ๆ ว่า “ใครจะว่ายวนอยู่ในกามกนก็เชิญหาความสำราญกันเท่านี้” จากนั้นจึงชวนขึ้นชั้นสองเวียนประทักษิณดูภาพพุทธประวัติที่ประดิษฐานอยู่ด้านขวาบนสลับกับภาพชาดกและพระสุธนมโนราที่เรียงขนานกันไปอีก ๓ ชุดจนครบรอบแล้วลัดขึ้นลานบนเพื่อประทักษิณท่ามกลางหมู่สถูปที่ชั้นกลาง จบที่รอบพระมหาสถูปชั้นในสุดแล้วกระทำเบญจางคประดิษฐ์ ณ พื้นที่ “ว่าง” ท่ามกลางฝูงชนที่ขวักไขว่
ใครจะสรุปสมมุติหมายอย่างไรได้ตามสะดวก
ส่วนผมนั้นขอหมายเป็น “โพธิ-วิถี” หรือ “Bodhi-PathWay” ตามข้อสรุปและเลือกที่จะเรียนรู้ส่วนตัวตามนี้
เท่านี้ก่อนนะครับ
แล้วจะทยอยไล่ภาพและเรื่องในแต่ละชั้นตามมานะครับ
๓ สค.๕๙