logo_new.jpg

นี้...พินัยกรรมต้นเค้าของจีนท่าวังคณะหนึ่งในเมืองนคร ที่รอดพ้นมา ๑๐๔ ปี และอาจเป็นหนึ่งในพินัยกรรมที่เก่าที่สุดในเมืองนคร
This the Saved Heritage
(bunchar.com บัญชาชีวิต 20170125_2)

ที่ผมลงไปเมืองนครรอบนี้หลังน้ำท่วมนอกจากการเก็บกู้เอกสารต่าง ๆ ที่บ้าน และการได้ขอชมหนังสือสมุดไทยภาพพระมาลัยเล่มใหญ่ในวัดศรีทวี ที่พบแช่น้ำอยู่ในตู้พระธรรมลายรดน้ำที่เต็มไปด้วยอึ่งอ่าง และได้รับการเก็บกู้อนุรักษ์ไว้อย่างดียิ่งแล้วนั้น

น้าพาบอกว่า พบพินัยกรรมของก๋ง “ลิ้มเฮียนปู” เขียนไว้เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๔๕๖ ที่แม่เก็บรักษาใส่ซองบริษัทอยู่ในหีบเหล็กที่เห็น ๆ อยู่เสมอ แต่ใครไม่เคยดู และรอดพ้นน้ำท่วมรอบนี้อีกครั้ง

แม่เขียนหน้าซองไว้ว่า “สัญญา ซื้อขาย ตึก ของ ขุนบวรรัตนารักษ์” ข้างในนอกจากพินัยกรรมนี้ ก็เป็นสัญญาซื้อขายตึกต่าง ๆ ตามที่ระบุในพินัยกรรม เฉพาะส่วนที่เป็นที่ตั้งบริษัท บวรพาณิชย์ จำกัด ซึ่งคุณตาขุนบวรฯ ได้ขอซื้อต่อจากญาติ ๆ ทั้งหลาย

ความน่าสนใจของเอกสารฉบับนี้คือ

๑) เป็นพินัยกรรม เขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖ เมื่อ ๑๐๔ ปีก่อน ที่น่าจะหลงเหลืออยู่น้อยมาก อาจจะเป็นหนึ่งในพินัยกรรมเก่าแก่ของเมืองนครก็เป็นได้
๒) เจ้าพินัยกรรมที่เราเรียกกันว่า “ลิมเฮียนปู่” กลับระบุชื่อตนว่า “จีนลิ้มเฮียนปู” พร้อมชื่อภริยาว่า “อำแดงปูเนียว” ในขณะที่ทายาทเรียกว่า “แม่ลิ่มปู่เหนี่ยว”
๓) บุตรชายหญิงทั้ง ๘ คือ อิ่ม ตั้งกวย เกียมช้าย ซุ่นหงวน ซุ่นเห้ง กิ้มจับ ซุ่นฮวด กิ้มแจ้ง นั้น คือต้นสายของตระกูลจีนที่ทำการค้าในตลาดท่าวังหลายตระกูล ได้แก่ บวรรัตนารักษ์-อิ่ม, ลิ่มจุฬารัตน์-ตั้งกวย, ?-เกี่ยมช้าย, ลิมปิชาติ-ซุ่นหงวน ซุ่นเห้งและซุ่นฮวด, สาสนานนท์-กิ้มจับ, อนันตเสรี-กิ้มแจ้ง
๔) พินัยกรรมกำหนดให้ยกตัวเงินสำหรับนำศพไปยังเมืองจีน ๕๐๐๐ บาท 
๕) มีการมอบหมายให้บุตรชายหัวปี คือ ซุ่นหงวน เป็นผู้จัดการทรัพย์สมบัติ และบุตรหญิงหัวปี คือ อิ่ม เป็นผู้รักษาพินัยกรรม
๖) มีคำสั่งสำคัญกำกับไว้ว่า “จงให้บุตรหลาย(น?)จงรักซึ่งกันและกัน ช่วยกันประพฤติการดีเพื่อบำรุงชื่อเสียง และตระกูลวงศ์ให้เจริญทวียิ่ง ๆ ขึ้นไป”
๗) ไม่ปรากฏลายมือของเจ้าพินัยกรรม มีลงลายมือชื่อพยาน ตามลำดับ ๗ ชื่อ คือ ลิ้มซุ่นฮวด, ลิ้มซุ่นหงวน, อิม, ช้าย, กิมแจง, กิ้มช้อย, มุยลี๊ เข้าใจว่าพินัยกรรมนี้น่าจะเขียนโดยลิ้มซุ่นฮวด ซึ่งคือขุนสุมนสุขภาร ต้นตระกูลลิมปิชาติ นั่นเอง
๘) เหตุที่แม่ผม(รัตนา พงษ์พานิช) เก็บรักษาพินัยกรรมนี้ไว้ ด้วยเป็นผู้ทำหน้าที่รักษาหลักฐานต่าง ๆ สืบต่อจากนางกิ้มช้อย ภริยาของขุนบวรรัตนารักษ์ ซึ่งเป็นต้นตระกูลบวรรัตนารักษ์ และเป็นบุตรของ “อิ่ม” ผู้ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รักษา
๙) ที่แม่เขียนหน้าซองไว้ว่า “สัญญา ซื้อขาย ตึก ของ ขุนบวรรัตนารักษ์” เนื่องจากพินัยกรรมนี้รวมอยู่กับสัญญาซื้อขายอาคารและที่ดินต่าง ๆ จากญาติ ๆ ของขุนบวรรัตนารักษ์ อันเป็นที่ตั้งของ บริษัท บวรพาณิชย์ จำกัด ในทุกวันนี้

๒๕ มค.๖๐

Joomla templates by a4joomla
rtp slot https://www.sidiap.org/rtp-live-slot//