- Details
- Written by Super User
- Category: คุยกับหมอบัญชา
- Hits: 1544
เศษสังเคราะห์จากคลองหนูและอ่าวใหญ่
แสดงความสัมพันธ์จากทะเลจีนใต้ผ่านมหาสมุทรอินเดีย
ถึงชมพูทวีปและทะเลเมดิเตอเรเนียนเมื่อสองพันปีก่อนโน้น
จากรูปเมื่อวานที่รายงานการไปอ่าวใหญ่และคลองหนู
เท่าที่ได้ดูเศษ ๆ ที่หลงเหลืออยู่ในพื้นที่
ผมได้ข้อมูลความรู้ หลังดู วิเคราะห์ และ สังเคราะห์เอาเอง
อย่างนี้
รูปที่ ๑ และ ๗) เป็นเศษภาชนะดินเผาที่พบบนผิวดิน เนื้อละเอียดมาก อย่างที่เรียกว่า "Indian Pottery" แม้ไม่มีลายลูกกลิ้ง รูเล็ตต์ หรือ ดอกบัว อย่างที่พบมากที่ภูเขาทอง แต่ ดร.บริจิตต์ก็พบชิ้นหนึ่ง จึงเป็นหลักฐานความสัมพันธ์กับทางอินเดียที่น่าจะไม่น้อย เพราะพบพอสมควร ส่วนดินเผาสีอิฐนั้นน่าจะเป็นของทำในท้องถิ่น คล้าย ๆ กับที่พบที่บางกล้วยหลายชิ้น สำหรับลูกปัดจากที่ชายคนหนึ่งเก็บหาใส่ถุงไว้ ส่วนมากเป็น Indopacific สีน้ำเงินฟ้าและแดงอิฐ ส่วนเหลืองกับเขียวพบน้อย มีลูกทุ่นไม่กี่ลูก Gold Glass ติดกันมีอยู่คู่หนึ่ง Carnelian ทรง Biconal ขนาดปานกลางมีเม็ดหนึ่ง น้ำและเนื้อไม่งาม
รูปที่ ๒ และ ๘ - ๑๖) เป็นเศษที่มีผู้เก็บไว้ชุดที่ ๑ กลุ่มอินโดแปซิฟิคในรูปที่ ๘ และ ๙ คล้าย ๆ กับรูปที่ ๑ และ ๗ แต่มีเศษก้อนแก้วและลูกปัดที่เกาะติดกันอยู่บ้าง แสดงว่าอาจจะมีการผลิตลูกปัดแก้วกลุ่มนี้ที่นี่ รูปที่ ๑๐ มีแก้วแปลก ๆ ปนอยู่ด้วยหลายแบบ อำพันทองเนื้อและสีสวยมาก แท่งแก้วแบนสีฟ้าน้ำเงินก็คล้ายกับที่พบหลายแห่งในเมืองไทย หลอดด้ายแก้วสีน้ำเงินอันน้อยนั้นชวนสงสัย ส่วนแก้วลาย ๒ ชิ้นนั้น ชิ้นหนึ่งเป็นเศษภาชนะแก้วโมเสกอย่างที่พบแถบเมดิเตอเรเนียน อีกชิ้นเป็นลูกปัดแก้วสี่น้ำเงินลายฟ้า ขาว เหลือง เป็นริ้วแถบแปลก ผมยังไม่เึคยเห็นที่ไหนมาก่อน ที่ตื่นตามาก ๆ ก็คือเศษต่างหู Bicephalus สีน้ำเงินในรูปที่ ๑๑ ที่ถือเป็น Signature ของซาหวิ่นทางตอนกลาง-ใต้ของเวียตนามที่เป็นชาวน้ำชอบเดินทางค้าคายไปทั่วทะเลจีนใต้ในสมัยโบราณเมื่อ ๒,๐๐๐ ปีก่อน ก็มาพบเป็นเศษอยู่ที่นี่ ย่อมแสดงว่าที่นี่มีความสัมพันธ์ ๒ ฟากฝั่งทะเลแน่นอน ที่เขาสามแก้วก็เจอทั้งที่เป็นเศษและที่สมบูรณ์เต็มอัน
จากนั้นรูปที่ ๑๒ ก็เป็นจำพวกแก้วหลอดต่าง ๆ ทั้งที่ตรง แตก และขดงอ รูปที่ ๑๓ เป็นต้นไปเป็นกลุ่มเศษลูกปัดหิน ในกลุ่มหินผลึกแก้วน้ำค้าง น้ำใสมาก ๆ เศษชิ้นหนึ่งเป็น "ไพร" ออกฟ้าสวยมาก อาจารย์ฝรั่งทั้ง ๓ ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีอย่างนี้และไม่เชื่อผมว่าเป็นสีใหม่ที่มาเกาะบนหิน ต้องให้ส่องดูเองจนเชื่อ บอกว่าจะกลับไปค้นคว้าต่อว่าเกิดขึ้นได้อย่างไรกัน มีเศษอมิทิสต์ชิ้นหนึ่งด้วย ส่วนโกเมนนั้นมีเศษมากอย่างเป็นที่สังเกต ทั้งนี้ ดร.บริจิตต์เพิ่งรายงานผลการวิเคราะห์โกเมนชิ้นหนึ่งจากเขาสามแก้วที่เธอนำไปวิเคราะห์ที่ห้องแล็ปสำคัญในเยอรมัน ผลระบุว่าเป็นโกเมนจากอินเดียตะวันตกเฉียงเหนือแถบราชาสถาน อ.เอียนบอกว่าชื่อแหล่งคือ เทือกเขาชื่อว่าอมราวดี
สองภาพสุดท้ายถือว่าเป็นอีกรอยพิเศษของคลองหนู เพราะมีเศษ Etched ทั้งอะเกต ฟอสซิล และ คาร์เนเลียน ลวดลายต่าง ๆ หลายชิ้น รวมถึง ฟืม แต่ที่น่าสนใจอีกชิ้นคืออีแปะดินเผา ทำเป็นรูปดอกอะไรไม่รู้ สุดท้ายเป็นแหวนแตก ๆ วงหินเขียวนั้นเขาบอกว่าเพิ่งหัก บนหัวมีตัวอักขระพราหมีด้วยครับ
เท่านี้ก่อนนะครับ ส่วนภาพที่ ๓ - ๖ ขอเชิญดูกันเอาเองก็แล้วกัน ทั้งนั้นเป็นเศษที่ชาวบ้านเก็บไว้และเอาออกมาให้ได้ทันดูนะครับ
- Details
- Written by Super User
- Category: คุยกับหมอบัญชา
- Hits: 2169
อ่าวใหญ่และคลองหนูเท่าที่ได้เห็น
น่าจะเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญมากอีกแห่งหนึ่ง
ร่วมสมัยตั้งแต่สุวรรณภูมิกับเขาสามแก้วแล้ว
ผมขออนุญาตลัดตัดกลับไปที่พม่าแต่ไม่ถึงทวายที่ขึ้นเครื่องมาลงเกาะสอง แล้วพอดีเจอคนที่ย่างกุ้งอาสาให้ญาติพี่น้องที่อ่าวใหญ่มารับจากสนามบินนั่งรถไปคลองหนู ซึ่งเครื่องเสียเวลากว่าชั่วโมง เราก็เหลือเวลาน้อย ลงเครื่องจึงบึ่งเข้าอ่าวใหญ่ทันที ทั้งรถที่เขามารับและรถที่เราเช่าไว้ นั่งรถไปไกลเกินชั่วโมง บังเอิญว่าหลายคนบอกว่ารู้จักผมและพูดไทยกันทั้งนั้น ผมจึงขอให้หุงข้าวไว้รอท่า พอไปถึงก็รีบกินข้าวแล้วลงเรือต่อไปคลองหนูโดย ๓ อาจารย์ฝรั่งได้รับการดูแลกางร่มให้เป็นพิเศษ ทั้งนี้เรือไม่ได้ออกนอกทะเล เพียงพุ่งออกปากคลองที่อ่าวใหญ่แล้วเลี้ยวเข้าคลองหนูประเดี๋ยวเดียวก็เจอถนนดินที่ทำค้างอยู่ บอกว่าเดินบกทางนี้ไปไม่นานก็ถึงที่ผมระบุในแผนที่ "รอยลูกปัด" ว่าชื่อ "ดึ๋งดึ๋ง" เราก็เลยเรียก "ดึ๋งดึ๋ง" กันตามที่หมอเขียนในแผนที่ เป็นอย่างนั้นไป
ก่อนถึงจุดที่เจอลูกปัด มีเรือของเจ้าของที่สวนออกมา เขาเก็บมะม่วงหิมพานต์ไปทำต่อที่บ้าน ในขณะที่เราก็พุ่งเข้าฝั่งแล้วลงไปเดินดูบริเวณซึ่งเต็มไปด้วยหลุม มีรางล้างอย่างกะเหมืองแร่น้อย ๆ ส่วนเศษกระเบื้องมีไม่มากนัก ทั้งหมดเป็นสวน "ยาร่วง" หลายเจ้าของ ที่ยอมให้เข้ามาขุดหา ชายเจ้าของเรือรีบพาไปดูจุดที่พบแหวนทองคำที่หัวเป็นรูปคนสองคนยืนคู่กัน ดร.บริจิตต์เจอเศษภาชนะรูเล็ตต์แวร์จากอินเดียชิ้นหนึ่ง ในขณะที่ผมดันไปสนใจกอกล้วยไม้ในดง ได้รูปและต้นมาด้วยดอกสวยดีแม้จะเล็กนิดเดียวก็ตาม
จากนั้นก็ต้องรีบกลับ เดี๋ยวไม่ทันข้ามแดนที่เกาะสอง-ระนอง ถึงหมู่บ้านที่ริมน้ำ อ.เอียนให้ถ่ายรูปริมน้ำที่มีข้าวของเกลื่อนกลาด บอกว่านี้จะเป็นหลักฐานโบราณคดีในอนาคตของคนข้างหน้า
จากนั้นก็รีบออกเดินทางต่อ โดยได้ดูสร้อยลูกปัดกับเศษต่าง ๆ แบบผ่าน ๆ เพราะเวลาไม่มีและไม่ได้ตั้งใจจะไปซื้อหา ขอแต่เพียงได้เห็นสถานที่เป็นพอ
จากนั้นเราก็ต้องรีบออกเดินทางวกกลับออกไปที่ถนนใหญ่ แล้วแวะแหล่งเขมายี้ประเดี๋ยวเดียวเท่านั้นก็ออกเดินทางกลับเกาะสองครับ พรุ่งนี้ค่อยเล่าเรื่องเขมายี้นะครับ
หากดูแผนที่ ก็จะพบว่าอ่าวใหญ่-คลองหนูนั้นอยู่ในระดับเส้นแวงต่ำจากเขาสามแก้ว-ชุมพรนิดเดียว จากแผนที่ ตรง Su ngai I Nu นั้นแหละคือคลองหนู มีอ่าวใหญ่อยู่เหนือขึ้นไป ใต้จาก Su ngai Batu ถนนที่เราไปไม่ใช่เส้นเลียบทะเล แต่เป็นเส้นใน ผ่านหมู่บ้านมะลิวันที่มีคลองไหลไปลงแม่น้ำปากจั่น-กระบุรี แม่น้ำอีกสายที่ไหลลงปากจั่นเหมือนกัน แต่เหนือขึ้นมานั่นแหละคือคลองเขมายี้ ตอนนี้ผมก็รู้พิกัดตำแหน่งแห่งหนของทั้งคลองหนูและเขมายี้เป็นที่ชัดเจน การตั้งอยู่ตรงข้ามกับเขาสามแก้ว และมีเส้นทางน้ำต่อเนื่องกันจนเกือบข้ามคาบสมุทรอย่างนี้นี่เอง จึงกลายเป็นสถานที่ค้าและผลิตลูกปัดสำคัญมาแต่เดิม ซึ่งยิ่งสนับสนุนข้อสันนิษฐาน "สุวรรณภูมิ" ของผมยิ่งขึ้น ในขณะที่อาจารย์ฝรั่งทั้ง ๓ ก็ตื่นตาและพากันเห็นด้วยว่าตรงนี้น่าจะสำคัญมาก ๆ ไม่แพ้เขาสามแก้ว
แต่น่าจะสายและอยู่ไกลจากศูนย์กลางเกินไปจนเป็นอย่างที่เห็นไปหมด แม้เขาจะบอกว่าบนไหล่เชิงเขาและในหลายพื้นที่ยังไม่มีการบุกรุกและขุดหา
- Details
- Written by Super User
- Category: คุยกับหมอบัญชา
- Hits: 1442
ส่งแอนนากลับเบลเยี่ยมและอังกฤษเมื่อคืนวานนี้
โปรดรอพบหนังสือเล่มพิเศษสุด "ทองที่อู่ทอง"
ที่น่าจะพลิกหลายมิติทั้งเรื่อง "ทองโบราณ" และ "สุวรรณภูมิ"
งานนี้ผมมีหน้าที่น้อยกว่าเธอและโรจน์กะโต
ที่ต้องวิเคราะห์และเรียบเรียง แล้วโรจน์ก็จัดรูปเล่ม
มีโตช่วยถ่ายภาพซ่อมให้ ดังเช่น ๓ ภาพนี้ เป็นเหรียญทองน้อย ๆ จากคลองท่อม ที่แอนนาบอกว่าเหลือเชื่อ เพราะทำด้วยวิธี "หลอม" มิใช่ตอกตีตรา ส่วนเบ้าหินรูปนกฮูกละเอียดมากอันนี้ เล่าฮูแห่งสุราษฎร์ปันให้ผมมาเมื่อครั้งไปหาหนแรก น่าจะถูกบรรจุลงในหนังสือเล่มใหม่ที่วางแผนว่า ต้นฉบับจะให้เสร็จทันสิ้นเดือนมีนาคม แล้วหากเป็นไปตามแผน ก็จะเข้าโรงพิมพ์เพื่อเผยแพร่ทันวันวิสาขบูชา และ อาจารยบูชาท่านอาจารย์พุทธทาส ในเดือน พค.นี้ ผมได้อ่านผ่านตาทั้งเนื้อหาและรูปเล่มแล้ว ประมาณนี้นะครับ
๑) ว่าด้วยอู่ทอง
๒) ว่าด้วยวิวัฒนาการ เทคโนโลยี และทองโบราณในเอเซียอาคเนย์ โดยเฉพาะที่อู่ทองและประเทศไทย
๓) ไล่รายละเอียด "ทองอู่ทอง" ทั้งหลาย ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง, พระนคร และ ในความครอบครองของเอกชน โดยเน้นการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ ทั้ง "เนื้อทอง" และ "เทคนิควิธีการการประดิษฐ์" ตลอดจน "คุณค่าและความหมาย" ก่อนที่จะมีบทสรุป ซึ่งอาจจะให้ร่องรอยเรื่อง "สุวรรณภูมิ" ที่ว่ากันว่าพระพุทธศาสนามาเริ่มปักหลักตั้งมั่นสถาปนาไว้
สำหรับผมเท่าที่ติดตาม หนังสือเล่มนี้จะมีความน่าสนใจมาก ๆ ในหลายประเด็น
๑) เป็นงานวิเคราะห์ "ทองคำโบราณ" ในเชิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชิ้นแรก ๆ ไม่เฉพาะของเมืองไทยและเอเซียอาคเนย์เท่านั้น
๒) จะมีคุณค่าไม่น้อยแก่หลายวงการ ทั้งประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปะ ประดิษฐกรรม ทองคำ เครื่องประดับถนิมพิมพาภรณ์ ฯลฯ
๓) พิมพ์จำนวนจำกัดมีแต่ภาษาอังกฤษ ด้วยงบประมาณสนับสนุนของ อพท.แต่จะกลายเป็นหนังสืออ้างอิงกว้างไกลของหลายวงการในโลก กำลังเชิญนักวิชาการชั้นนำของโลกช่วยอ่านและเขียนบทนำ ทั้งจาก ACM ที่สิงคโปร์ และ The MET ที่นิวยอร์ค ตั้งเป้าจะส่งไปยังทุกสถาบันชั้นนำของโลกโดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์และสถาบันศึกษาในด้านนี้ เพื่อให้ชื่อ "อู่ทอง" ได้รับการยกระดับชั้น "World Class" ในขณะที่ในพื้นที่ก็ต้องปรับปรุงไปด้วยกัน ทราบว่าทุกฝ่ายกำลังเร่งรัดพัฒนากันอยู่
ใครสนใจเป็นพิเศษ กรุณาติดตามนะครับ








- Details
- Written by Super User
- Category: คุยกับหมอบัญชา
- Hits: 1399
ท่านใดต้องการหนังสือเล่มนี้บ้าง
สามารถสมทบได้ที่สวนโมกข์กรุงเทพนะครับ
ภาพไม่มาก แต่อ้างลูกปัดภาคตะวันนตกและใต้
บางส่วนที่สำคัญและเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา
รวมทั้งเมืองโบราณทั่วประเทศที่มีคูน้ำคันดิน
และร่องรอยพระพุทธศาสนาสมัยทวารวดี
ซึ่งถือเป็นร่องรอยสำคัญที่ประมวลมาสังเคราะห์เป็นรอยทางพระพุทธศาสนาแรก ๆ ที่มาสู่ไทยและเอเซียอาคเนย์ ซึ่งน่าจะชี้ถึงเรื่องสุวรรณภูมิด้วยครับ
ไม่ได้เป็นหนังสือขาย มีแต่ที่ มจร.และ จีสด้า
สวนโมกข์พิมพ์ออกมาด้วย ไม่ได้ขาย แต่หากท่านสนใจเอาไปศึกษาช่วยสมทบ เล่มละ ๒๕๐ บาท เพื่อนทุนำกลับไปสร้างทำสื่อธรรมอื่น ๆ ต่อไปอีกนะครับ
- Details
- Written by Super User
- Category: คุยกับหมอบัญชา
- Hits: 1445
ขอเชิญชวนน้อมรำลึกถึงพระพุทธองค์
ในพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ
ผ่านภาพและช่วยกันทำคำอธิบาย
ใต้ภาพพุทธประวัติที่สวยสมบูรณ์ที่สุดชุดหนึ่งนี้
ผมเพิ่งได้เห็นเมื่อเช้านี้ มีผู้เข้าชมมาก
หลายท่านได้ทำคำบรรยายใต้ภาพไว้บ้างแล้ว
แต่หลายภาพยังว่างอยู่ และมีผู้ร้องขอให้ช่วยทำคำอธิบายใต้ภาพมามาก
สำหรับผมเองนั้น เห็นแล้ว นึกนิยมใน ๓ ประการ
๑) ภาพสวยมาก
๒) ลงรายละเอียดถึงหลายเหตุการณ์สำคัญในพุทธประวัติที่น่าสนใจและบางชุดภาพที่เคยเห็นไม่ค่อยแสดง
๓) ให้รายละเอียดสอดคล้องคล้ายจริง เช่นหมู่แมกไม้ ต้นสาละที่ทรงประสูติและปรินิพพานก็เป็นพุ่มต้นมหาสาละอินเดีย มิใช่ที่ทุกวันนี้ชอบวาดเป็นต้นสาละลังกากันไปหมด โดยเฉพาะในเมืองไทยเราที่เข้าใจผิดพลาดกันไปหมดแล้ว รวมทั้งอาคารบ้านเรือนซุ้มประตูต่าง ๆ ก็เอาตามที่นิยมทำกันในอินเดียโบราณเท่าที่มีหลักฐานหลงเหลือ รวมทั้งหน้าตาผู้คนเครื่องแต่งตัวก็ตรงตามท้องเรื่องคือคนอินเดีย ลังกา แล้วก็พม่า
๔) ขอสันนิษฐานว่าเป็นภาพที่น่าจะวาดและสร้างทำในพม่า เนื่องจากมีร่องรอยพม่ามากเป็นที่สังเกต
ใครชอบก็เชิญช่วยนะครับ ภาพเริ่มตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าทีปังกร จนจบที่การสังคายนาพระไตรปิฎกและสลักลงศิลาที่พม่า มัณฑะเลย์ ?
..