logo_new.jpg

พี่จะเที่ยวสวนโมกข์แบบไหน ?
How Would You Love to Visit SuanMokkh ?
(bunchar.com บัญชาชีวิต 20170717_2)

วานนี้นั้น ผมถามพี่ ๆ อย่างนี้
แบบที่ ๑ มาเยี่ยวแล้วหาซื้อไข่เค็มกลับบ้าน
แบบที่ ๒ เพิ่มด้วยการหาดูของแปลกให้ตื่นตาตื่นใจ
แบบที่ ๓ เรียนรู้รอยธรรมของท่านอาจารย์พุทธทาส
แบบที่ ๔ ศึกษาค้นคว้าปฏิบัติธรรมต่าง ๆ
โดยทั้ง ๔ แบบนี้ ต้องการเวลาตั้งแต่ ๑๕ นาที ครึ่งชั่วโมง หนึ่งชั่วโมงและมากกว่าตามที่จะกำหนด

พี่ ๆ บอกว่าขอแบบที่ ๓ ซึ่งพอดีมีเวลา ๑ ชั่วโมงพอดี
ผมจึงพาเดินจากประตูหน้า - กุฏิท่านอาจารย์ - กุฏิอาจาริยบูชา - พระโพธิสัตวอวโลกิเตศวร - พระอุโบสถเขาพุทธทอง - โรงมหรสพทางวิญญาณ - ลานหินโค้งที่เป็นเสมือนศาลาการเปรียญ แล้วจบที่ ศาลาธรรมโฆษณ์ ซึ่งเป็นผลงานตลอดทั้งอัฐิอังคารของท่านจำนวนหนึ่งในปล้องบ่อที่มีพระพุทธรูปวางไว้ด้านบน

จนกลับออกมาหาซื้อไข่เค็มกลับกรุงเทพ
๒ สาวถามว่า ๕ เสาบนซุ้มประตูนั้นอะไร ?

"ท่านอาจารย์พุทธทาสนำมาจากแบบอย่างทางอินเดียโบราณสมัยอมราวดี ที่นิยมสร้งทำเสาไอยกะ ๕ เสา รอบพระสถูป โดยท่านขอกว่าสำหรับท่านนั้น นิยมใช้เป็นเครื่องหมายระลึกถึงธรรมหมวด ๕ ที่ท่านอาจารย์บอกว่าชอบ "อินทรีย์ ๕ พละ ๕" อันหมายถึง ศรัทธา-วิริยะ-สติ-สมาธิ-ปัญญา พร้อมกับคำอธิบายให้เห็นถึงลำดับการจัดวางอย่าง ๕ นิ้วมือ คือ ศรัทธา-ปัญญา จะต้องช่วยกันทำงานให้สมดุลย์ ไม่ศรัทธาจนขาดปัญญาถึงขั้นงมงาย และไม่เจ้าปัญญาเกินจนไม่ศรัทธาเสียที ในขณะที่วิริยะ-สมาธิ จะต้องเสริมกันให้มาก โดยมี สติ เป็นตัวรู็และกำกับเฝ้าดูอยู่เสมอ ๆ

มีคนถามว่าพี่ ๆ ได้ธรรมะกลับมาหรือว่ากลมกันกลับบ้าน
ผมยืนยันว่า ได้ธรรมกลับบ้านกันคนละไม่น้อย
พี่คณะนี้เขาเที่ยวกันอย่างน่านิยมมากครับ
สนุกสนาน รื่นเริง และดูแลกันฉันท์เพื่อนจริง ๆ

๑๗ กค.๖๐

วันนี้ที่ไทยพีบีเอส
เริ่มงานการเตรียมส่งเสด็จฯ สู่สวรรค์
TPBS and the Father's Farewell 
(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด 20170713_2)

วันนี้ที่พวกเราหลายฝ่าย ได้ร่วมกับไทยพีบีเอส จัดงานนี้ขึ้น
โดยจะมีต่อเนื่องทุกวันพฤหัส กระทั่งการออกพระเมรุเดือนตุลา

บ่ายวันนี้เมื่อ ๙ เดือนก่อน คงจะจำกันได้นะครับ
ขอเชิญไปร่วมกันสานต่อ 
"แสงจากพ่อ...สู่ความยั่งยืนยาวนาน
แห่ง ธรรมราชา ที่พระองค์ทรงบำเพ็ญตลอดมา" 
กันนะครับ

๑๓ กค.๖๐

ถุงเถากะแป๊ดของมละบรี...ที่กำลังจะจดจีไอ
MlaBri GaPaed Vine GI Bag
(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด 20170610_1)

อีกของดีที่ได้เจอ ตอนไปบ้านมละบรีที่ห้วยหยวก
คือถุงย่ามที่ถักจาก "เถากะแป๊ด" ที่ขึ้นริมน้ำในหุบ

ถุงทำนองนี้ เคยพบและมีขายในตลาดมานานมาก
ในนามของ "ถุงข่า-ขมุ"

ผมขอสรุปเองว่าน่าจะเป็นถุงย่ามของชาติพันธุ์กลุ่มนี้ "ข่า-ขมุ-มละบรี ฯลฯ" 
ที่ถือว่าดึกดำบรรพ์สุด ด้วยการถักเส้นใย ก่อนที่จะรู้จักทอผ้า

ที่ภูฟ้า มีภาพแสดงให้เห็นขั้นตอนตั้งแต่ตัดเถามาเป็นท่อน ๆ แล้วแยกใยบนเปลือกมาผึ่งแห้งแล้วต้มย้อมกับนานาสิ่งให้สีจากธรรมชาติ
ก่อนที่จะควั่นเป็นเส้นเชือกด้วยการม้วนพันบนหน้าแข้ง แล้วจึงถักด้วยมือกับไม้ถักอันน้อย ที่ไม่ได้ถามว่าเรียกอะไร
รวมทั้งชื่อถุงนี้ที่เขามีชื่อเรียก แต่ลืมจดและจำมา

ติ๊กที่ภูฟ้าบอกว่า ยื่นจดทะเบียน GI เรียบร้อยแล้ว 
และกำลังจะส่งเสริมกันอย่างจริงจัง

ผมกับกระรอกและคุณสายจาก สนข.อิศรา 
ได้มาคนละใบจากห้วยหยวก
ทั้ง ๆ ที่ อุ๊ยปา บอกว่า ถุงกะแป๊ดนี้ของผู้หญิง
คนชายใช้ปุ้ม ก็ตามเถิด

หากมีใครเข้าไปช่วยปรับและปรุงแบบ
ก็น่าจะช่วยพี่น้องมละบรีได้ไม่น้อย
ใครอยากได้ ลองไปถามที่ร้านภูฟ้าในสมเด็จพระเทพฯ ดูก็น่าจะมีครับ.

๑๑ มิย.๖๐

ค่อยรอดูที่สื่อรายงานกันนะครับ
Follow the TV Report
(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด 20170611_2)

ก่อนออกจากห้วยหยวกเมื่อวันนั้น
ผมกลับมาที่ศูนย์เด็กเล็กอีกครั้ง
ทีวีที่ไปด้วยหลายรายการ 
กำลังทำสารคดีของหนู ๆ กับคุณครูที่น่านับถือ

ณ ขณะนี้ อาจจะประมาณว่ามีพี่น้องมละบรีอยู่ ๔ รุ่น
หนึ่ง อายุ ๔๐ ขึ้น ที่อยู่ป่ามานานเนิ่น เพิ่งต้องเข้ามาอยู่บ้าน
สอง อายุราว ๆ ๒-๓๐ ที่เกิดกันในป่า แล้วเข้ามาอยู่บ้านนานพอ ๆ กัน
สาม อายุราว ๑-๒๐ ที่เกิดบ้าน แต่ยังไม่ขาดป่า
สี่ ที่เกิดใหม่และน่าจะกลายเป็นชาวบ้านในที่สุด

ก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่ามีการประสานจัดการดูแลแก่ลูกหลานของพี่น้องมละบรีอย่างไรบ้าง

วันนี้ได้เรียนถามท่าน อ.หมอเกษม ว่าควรจะอย่างไร ? ได้ข้อคิดมาไม่น้อย แล้วจะค่อย ๆ ครับ

๑๑ มิย.๖๐

ปูชนียอภิวาท...รัตนธัชมุนี - ใครช่วยหาภาพแผ่นป้ายสัจจศาลาให้ด้วย
Highly Homage the RatanaThathMuni
(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด 20170531_8)

หลังประชุมเรื่องศาลาหน้าเมืองวันนี้
ผมเลือกไปกราบสักการะพระพุทธสิหิงค์ในหอพระ
แล้วหยิบหนังสือเล่มนี้ที่เพิ่งเจอเมื่อเช้ามาอ่านซ้ำ

เป็นหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพท่านเจ้าคุณม่วง เมื่อวันที่ ๒๐ มิย.๒๔๗๘ ณ เมรุสนามหน้าเมือง ว่าด้วยรายงานการจัดการศึกษา การพระศาสนา และกวีนิพนธ์ ซึ่งมีบทเพลงบอก เรื่องศาลาโกหก หรือ สัจจศาลา สำนวนพระวิเศษอักษรสารท่องจำไว้ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก จากต้นฉบับที่เจ้าคุณแต่งมอบให้ลูกเสือนำโดยขุนชำนาญคดี
เอาไปร้องในคราวชุมนุมลูกเสือแห่งชาติที่กรุงเทพเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๐ เพื่อเป็นการคัดค้านฯ

ผมได้ยกตอนต้น ๆ มาเล่าแล้ว ๒ ช่วง นี้คือตอนสุดท้ายที่อยากให้อ่านมาก ๆ ครับ

"ชนต่างด้าวชาวต่างเมือง ไม่รู้เรื่องประถมถิ่น
พูดเล่นลิ้นปลายฝีปาก จึงถลากถลำ
เรียกว่าศาลาโกหก ซึ่งแกล้งยกเอาความระยำ
ตัดถ้อยคำที่เป็นจริง เปลี่ยนออกทิ้งไป
หามีศาลาโกหกไม่ เป็นคำใกล้ โด กับ โก
เมื่อใครโผล่ขึ้นสักคำ ชวนกันซ้ำใหญ่
ถ้า โดหก คือ โกหก อย่างที่นึก จะจารึกไว้ทำไม
เพราะผู้ใหญ่ปกครองถิ่น ใช่ว่ากินทราย
ไม่อาจสร้างซึ่งหลักฐาน ตั้งสำนักงานที่พูดปด
ย่อมเสียยศผู้ครองถิ่น ไม่รู้สิ้นหาย
บุคคลที่ไม่รู้อะไร พูดได้พูดไปตามสบาย
เหมือนแกล้งขยายกองกิเลส ให้ต่างประเทศฟัง
ในสมัยแห่งพระองค์ กรมดำรงสถิตย์ที่
เสนาบดีทราบกิจจะ ตามกิระดัง
ท่านไม่ชอบพระหฤทัย ตามวิสัยที่ด่วนฟัง
เพราะทรงหวังบำรุงประเทศ ไปทุกเขตรคาม
โดยคำ โกหก ลามกมาก แบ่งเป็นภาคของความชั่ว
ไม่ให้กลั้วติดถิ่น ในแผ่นดินสยาม
จึงทรงโปรดเกล้ากรุณา ให้เรียกศาลา สัจจนาม
สมกับความศรีวิไล มีอยู่ในแดน
ทำใหม่หลังคาจารึกหมาย เป็นแผ่นป้ายขึ้นมั่นคง
เพื่อดำรงอยู่ยืนนาน ด้วยกระดานแผ่น
ให้เรียกสัจจศาสา ต่างภาราไม่ดูแคลน
ตรึงป้ายแผ่นถาวรา ติดหลังคาอยู่
ชาวนครศรีธรรมราช เคารพบาทเชื้อพระวงศ์
เพื่อดำรงชนหมู่มาก ทนกระดากหู
หวังเย็นเกล้าทั้งหญิงชาย เหมือนต้องสายสินธู
เป็นเครื่องชูชีพให้ชื่น อยู่ทุกคืนวัน ฯ

ถึงตอนนี้ รบกวนใครช่วยหาภาพที่มีแผ่นป้าย
"สัจจศาลา" ให้ด้วยได้ไหมครับ ?

อีกประการ ท่านเจ้าคุณรูปนี้
คือพระศิริธรรมมุนีที่ ร.๕ ทรงเลื่อมใส นับเป็นสหชาติ ตั้งเป็นผู้อำนวยการศึกษา เจ้าคณะมณฑลนครศรีธรรมราชและปัตตานี
ต่อมาเป็นพระเทพกวี, พระธรรมโกศาจารย์ 
และ พระรัตนธัชมุนี ในที่สุด
นามของท่านเป็นที่มาของสีประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช คือ "ม่วง" ที่พ่วงไปอยู่คู่กับ "แสด" ในสีแห่งวลัยลักษณ์ด้วยครับผม.

๓๑ พค.๖๐

Joomla templates by a4joomla
rtp slot https://www.sidiap.org/rtp-live-slot//